มาลองคิดกลับหัวในการแก้หนี้ปี 64-65 กันดีไหม
เมื่อบทความนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวันจันทร์ตามกำหนดเวลา ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ได้ติดตามอ่านจะได้ลองคิดว่าในปีหน้าและปีต่อไปคือปี พ.ศ. 2564 – 2565 อันเป็นปีที่โลกและประเทศของเราได้อยู่ร่วมกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มาร่วมเป็นเวลาปีเศษๆ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจคงไม่ต้องพูดถึง ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กถึงระดับย่อยได้แผ่กระจายไปทั่ว ผลกระทบต่อกล่องดวงใจระบบเศรษฐกิจไทยในด้านการท่องเที่ยว การส่งออก หากเทียบเป็นนักมวยก็คือโดนนับแปดสองหนติดกัน ตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะยืนขึ้นแต่ขายังไม่นิ่ง ตายังลอยๆ ที่สำคัญคือหมัดชุดต่อไปของไวรัสที่มาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านในชุดที่เรียกว่า การแพร่ระบาดรอบสอง ยังเป็นลูกผีลูกคนหรือไม่ ถ้าดูจากที่รายงานก็ถือว่ามีการติดเชื้อภายในประเทศแต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดจนระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือบรรยากาศที่เราๆ ท่านๆ เจอมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนจะผ่านปี 2563 ไปสู่ 2564 ในอีกไม่ช้าไม่นาน คำถามที่รอกันอยู่เวลานี้คือ เราๆ ท่านๆ ที่ยังมีภาระหนี้ที่ก่อกันมาในอดีตทั้งหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์นั้น จะไปกันอย่างไรในปี 2564-2565
ผู้เขียนอยากลองกลับหัวคิดกันใหม่ในการวางแผนแก้ไขหนี้ที่ต่างจากแนวคิดเดิมๆ ที่เรามักจะเริ่มจากฝั่งหนี้เสียก่อน เรามักจะคิดแก้ที่ตัวลูกหนี้ก่อน เราติดกระดุมเม็ดแรกของการใส่เสื้อเพื่อแก้หนี้ตามแบบแผนนี้มาโดยตลอด มันอาจไม่ได้ผลในเวลานี้หรือไม่ครับ เพราะตอนนี้ถ้าตั้งต้นด้วยสมมติฐานด้านรายได้ของลูกหนี้ต้องมาก่อน มันไปไม่ได้ในบางกลุ่มลูกหนี้ชั้นดี ดีมากในอดีต แต่มาเจ็บแบบยังไม่จบเมื่อเจอ COVID-19
ผู้เขียนขอเริ่มอย่างนี้ครับ
1. เริ่มคิดแก้หนี้สิน ไม่ใช่แก้หนี้เสีย หลายครั้งฝั่งเจ้าหนี้จะเอาลูกหนี้วิกฤติ กำลังจะเป็นหนี้เสียมาแก้ไขก่อน ลูกหนี้ที่จ่ายชำระดีได้แต่ยืนมองตาปริบๆ ว่าทำไมเราจ่ายดี ทำไมไม่มีการลดดอกเบี้ยลงมา ทำไมเงื่อนไขผ่อนปรนมากๆ ถึงให้กับคนที่ค้างชำระ วันนี้เวลานี้อยากให้เจ้าหนี้ลงมาช่วยลูกหนี้ที่ชำระดี ชำระครบ ชำระตรงก่อนดีไหมเริ่มจากลดดอกเบี้ย ให้ cash back คืนให้โบนัสเป็นการลดต้นบ้างดีไหม อย่าไปนึกว่ายังจ่ายได้จะไม่เป็นไร หากเหตุการณ์พลิกผันไป ลูกหนี้ที่จ่ายดีอาจจะจ่ายไม่ได้ ควรเข้าไปดู Residual Income เข้าไปดู Debt Service Income ว่ายังไปรอดหรือไม่
2. พวกสินเชื่อที่ได้สิทธิ์หักเงินเดือนจากการจ่ายของนายจ้างตั้งแต่ต้นทางที่เรียกว่า หักหน้าซอง ความเสี่ยงการไม่ชำระนั้นต่ำมาก ควรจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้แล้ว เมื่อดูยอดที่หักกับรายได้ที่ลดลงมาก็ควรมีการปรับให้สอดคล้องกันเป็นสัดส่วน เจ้าหนี้เงินหักหน้าซองเหล่านี้ ทางการผู้กำกับดูแลต้องรีบเข้าไปส่องพอร์ตลูกหนี้ของคนให้กู้ได้แล้ว การหักหน้าซองแล้วเงินเข้าซองเหลือไม่พอยังชีพ ไม่พอรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องบากหน้าไปกู้นอกระบบมากินมาใช้ในเวลานี้มันก็แย่ ที่สุดคนมันจะลุกฮือเอานะครับ
3. จัดการกับเจ้าหนี้ จัดการกับเงื่อนไขของสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบก่อนที่จะจัดการกับลูกหนี้ โดยตั้งคำถามให้ชัดเจนว่า ถ้าลูกหนี้ผิดพลาดเกิดค้างชำระ กา
3.1 เบี้ยปรับผิดนัดชำระมันแฟร์ไหม อัตราเท่าใด คิดจากยอดไหน คิดแล้วเป็นเท่าไหร่ มันต้องไม่เป็นภาระมากจนคนค้างชำระถอดใจยอมเป็นหนี้เสียดีกว่า
3.2 เงื่อนเวลาของการกลับสู่สถานะเป็นลูกหนี้ปกติหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องส่งเสริมให้คนพลาดหลงไปได้กลับตัวได้เร็ว ไม่ใช่ไปประทับเป็นตราบาปเขาว่า ไม่มีวินัย ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายไม่สมดุล
3.3 คนค้ำประกันหรือการค้ำประกันต้องกำหนดตัวเลขตั้งแต่ต้นว่าคนค้ำจะค้ำในมูลหนี้วงเงินไม่เกินเท่าใด ถ้ามีมากกว่าหนึ่งคนต้องให้ชัดว่าแต่ละคนค้ำประกันเท่าใด ไม่ใช่เจ้าหนี้เลือกเอาคนค้ำคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดมารับผิดในหนี้นั้นได้
บทสรุปของผู้เขียนคือ ต้องแก้หนี้สินไม่ใช่หนี้เสีย ต้องจัดการเจ้าหนี้ก่อนลูกหนี้ สินเชื่อหักหน้าซองเงินเดือนต้องให้สอดคล้องกับความเสี่ยง สุดท้ายคือเงื่อนไขเอาเปรียบลูกหนี้จนทำให้การกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติมีต้นทุนที่สูงเกินไป..