เราควรแยกคนที่ผิดนัดชำระหนี้จากผลของ COVID-19 ออกมาให้ชัดดีไหม
มีข้อถกเถียงมาโดยตลอดระหว่างลูกหนี้ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลว่า
1.ควรจะมีการระบุให้ชัดเจนหรือไม่ว่าบัญชีสินเชื่อที่เขาคนนั้นมีอยู่นั้นได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัส ในทางเทคนิคคือควรจะมีการระบุเป็น code ชัดเจนหรือไม่ว่าบัญชีสินเชื่อใดเข้าโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการชะลอการชำระหนี้ เพื่อให้คนปล่อยกู้รายใหม่เห็นชัดๆ
2.ในระหว่างที่คนซึ่งเป็นลูกหนี้ยังอ่อนแอจะยอมให้สถาบันการเงินที่ใจถึงเชื่อในข้อมูลว่าลูกหนี้รายนี้ดีพอที่จะอนุมัติสินเชื่อให้ได้ จะยอมได้กี่มากน้อย จะลด ละวาง เกณฑ์ที่นำเข้ามาจากตะวันตกและเชื่อกันมาตั้งแต่หลังปี 2540 ในลักษณะ Risk based ได้ขนาดไหน
3.เราควรจะเปิดใจดูข้อมูลในเครดิตบูโรก่อนหรือไม่ ที่จะยอมให้คนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมาก ไม่ผิดนัดเลยก่อนเดือนมีนาคม 2563 นี้ย้อนหลังลงไป 24 เดือนจนถึงเดือนมีนาคม 2561 แต่ต่อมาหลังเดือนเมษายน 2563 หลังเดือนตุลาคม 2563 เริ่มมีการค้างชำระเพราะสถานการณ์และมาตรการป้องกันเชื้อโรคไวรัสนี้ เราจะมองคนกลุ่มนี้อย่างไร มองว่าเป็นหนี้เสียเลย หรือจะให้โอกาสคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้อีกครั้ง
เวลานี้ผู้เขียนมองว่า จะมีคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกหนี้คืน เพราะการชำระหนี้อ่อนแอลงมามาก เวลาถูกฟ้องศาลท่านจะมีการดำเนินการไกล่เกลี่ยครับ ว่าลูกหนี้เจ้าหนี้พอจะผ่อนกันลงมาแค่ไหน จะเอาแบบเต็มยอดเลย คงจะไม่ไหว ทีนี้ถ้าตกลงกันได้ ศาลท่านอาจกรุณาพิพากษาตามยอม ยอมอะไร ยอมตามสิ่งที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ได้คุยกันต่อหน้าศาล ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการต่อสู้ ค้าความกันไปสิ้นเปลืองเวลาและเงินทอง แต่หากว่าทั้งสองฝ่ายไม่เอาทางไกล่เกลี่ยแล้วเรื่องก็จะไปศาลและทั้งสองฝ่ายก็นัดสืบพยานจนคดีมีการตัดสิน
ในแง่ของการรายงานข้อมูลไปสู่เครดิตบูโรนะครับ เพื่อเป็นแนวทางนะครับ
1. เมื่อผ่อนหนี้ได้ตามปกติ ข้อมูลจะถูกส่งมาจากเจ้าหนี้มอบให้กับเครดิตบูโรว่า 10 : ปกติ ไม่มีการส่งวันผิดนัดชำระหนี้
2. ต่อมามีการค้างชำระหนี้เนื่องจากประสบผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ก็จะปรากฏข้อมูลการค้างชำระ จนเมื่อการค้างชำระต่อเนื่องกันเกิน 90 วันหรือสามรอบการชำระ รหัสสถานะบัญชีจะเปลี่ยนเป็น 20 : ค้างชำระเกิน 90 วัน
3. เวลาผ่านไป เจ้าหนี้ได้ดำเนินการยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีต่อศาล และศาลมีการประทับรับฟ้อง รหัสสถานะบัญชีจะเปลี่ยนไปเป็น 30 : อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งจะมีผลร้ายแรงต่อตัวลูกหนี้ คนที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ก็จะยากถึงยากมากๆ เพราะเห็นกันอยู่ว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระจนถูกฟ้อง แต่จุดสำคัญคือไม่รู้สาเหตุว่าที่ค้างชำระจนถูกฟ้องเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19
4. หากเจ้าหนี้กับลูกหนี้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่ศาลจัดให้ และตกลงกันได้จริง ทั้งสองฝ่ายก็จะยอมให้ศาลออกคำพิพากษาตามยอม ยอมตามที่ทั้งคู่ตกลงกัน รหัสสถานะบัญชีก็จะเปลี่ยนเป็น 31 : อยู่ระหว่างการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จนเมื่อมีการชำระหนี้จนหมดแล้ว รหัสสถานะบัญชีจะเปลี่ยนเ��
ผู้เขียนได้พูดคุย พบปะกันใครต่อใคร บางท่านมีข้อเสนอว่า หากเราดูแล้วว่าก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาด COVID-19 ลูกหนี้รายนี้เขาชำระหนี้ได้ดียาวนานเกิน 24 เดือน แล้วเวลานี้เขาประสบเคราะห์กรรมจากการแพร่ระบาดของไวรัส จนเกิดเป็นหนี้เสียบางบัญชีแล้ว เราควรช่วยเขาหรือไม่ ทำไมเรามีการช่วยพวกที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ นโยบายพักหนี้บนนโยบายของเจ้าหนี้เอง หรือการพักหนี้เกษตรกร โรคระบาดก็คือภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ถ้าลูกหนี้เป็นแบบนี้แล้วไปไกล่เกลี่ยที่ศาลตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เราควรมีรหัสสถานะบัญชีใหม่เป็น 50 : ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 แยกออกมาจากการเป็นหนี้เสียแบบปกติดีไหมครับ
สถาบันการเงินไหนคิดจะปล่อยกลุ่มนี้เมื่อมองจากศักยภาพ การค้ำประกัน และประวัติชำระดีที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจน ผู้เขียนคิดว่ามันน่าสนใจ สามารถทำได้ และน่าจะช่วยลูกค้าได้ในที่สุด
กฎกติกาเมื่อผ่านวันเวลา ผ่านเงื่อนไขเหตุการณ์ ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือสำหรับระบบสถาบันการเงินในการให้ความช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากเวลานี้ครับ
ขอบคุณมากครับ