เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : บทสนทนาเพื่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องอยู่ให้รอด : วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563

บทสนทนาเพื่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องอยู่ให้รอด

เมื่อผู้เขียนได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่งที่อนุญาต​ให้ผู้ฟังต่อสายเข้ามาในรายการสนทนาปราศรัย​กับผู้ดำเนินรายการ​ ซึ่งแน่นอน​ว่า​ จะมีประเด็นเรื่องความทุกข์​ของคนที่เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาเนื่องจากสาเหตุหลักคือ​ ได้รับผลกระทบจากการหารายได้​ มีผลกระทบจากการไม่สามารถมีธุรกรรม​ทางเศรษฐกิจได้เพราะลูกค้าเดิมที่เคยใช้บริการต่างประสบกับปัญหาเงื่อนไขทางสาธารณสุขและการเดินทาง​ แน่นอนว่าเมื่อไม่มีรายได้​ หรือรายได้​มีน้อยลงอย่างน่าใจหาย​

อีกทั้งวันเวลาของมาตรการช่วยเหลือโดยชะลอการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปหมดกำลังจะหมดลง​ การต้องกลับมาชำระหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมก่อนมีมาตรการหรือเงื่อนไขใหม่ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เจรจาก็ตาม​ ในน้ำเสียงที่ผู้ฟังรายการบอกเล่าเก้าสิบ​กับผู้ดำเนินรายการมันจะเป็นลักษณะนี้
ผู้ฟังรายการ​ : ทำไมธนาคารไม่เห็นใจลูกหนี้​ ก็รู้อยู่​ว่าเวลานี้มันเป็นอะไรอย่างไร​ ไอ้ที่เคยผ่อนหนี้เดิม​ 18,000 ​บาทต่อเดือนมันพอไหวถ้าไม่มี​ COVID-19 น่าจะพักการชำระหนี้คือทั้งต้นทั้งดอกออกไปก่อนสัก​ 2 ปี​ หลัง​ 2 ปี แล้วค่อยมาว่ากันใหม่สิครับ​ ท่านวิทยากรเห็นด้วยไหม

ผู้ดำเนินรายการ​ : ผมยังตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วย​ / ไม่เห็นด้วย พอจะบอกได้ไหม ว่าสุดๆ ตอนนี้คุณพี่พอจะผ่อนไหวที่เท่าไหร่​

ผู้ฟังรายการ​ : ถ้าต้องจ่ายจริงๆ​ ผมก็พอจะสู้ได้ไม่เกิน​ 8,000 บาทต่อเดือน​ แต่ถ้าเจอไวรัสตัวนี้อีกแบบต้องปิด​เมือง​ คงจะผ่อนต่อได้อีกสักไม่เกิน​ 6 เดือนครับ

ผู้ดำเนินรายการ​ : แสดงว่าตอนนี้ยังพอไปไหวที่​ 8,000 บาท​ จากเดิม​ 18,000 บาท​ ผมแนะนำให้ไปคุยกับเขาเลย​ ว่าฉันไหวที่ตรงนี้​ มากกว่านี้คงไม่ไหว​ มันไม่มีจริงๆ ถ้ามีคงไม่ต้องมาต่อรองกันให้เสียเวลา

ผู้ฟังรายการ​ : แต่ผมอยากให้รัฐบาลกำหนดให้พักการชำระหนี้ต่อไปเลยอีก​ 2 ปี​ มันจะไม่ดีกว่าหรือ​ เงิน​ 8,000 บาทต่อเดือน​ ผมจะได้ตุนไว้เป็นกระสุนก่อนครับ

ผู้ดำเนินรายการ​ : รัฐบาลเขาคงจะไม่ค่อยเกี่ยวแล้วมังครับ​ เวลานี้​ ต้องเข้าใจแบบนี้ก่อนนะครับ
1.การก่อหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว​ จะอย่างไรก็ตามเป็นหนี้ต้องใช้หนี้​ เวลานี้พอไหวเท่าไหร่ก็เท่านั้น​ มันเป็นเรื่องของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ที่ต้องคุยกัน​ อยู่​ๆ จะให้หลวงท่านไปสั่งคงจะไม่ได้นะครับ
2.ถ้าพอจ่ายได้ก็รีบไปคุยไปปรับโครงสร้างหนี้​ จ่ายได้ตรงไหนก็ตรงนั้น​ อย่ากั๊กกัน​ ถ้ายังพอจ่ายได้ก็ต้องว่ากันไป
3.ถ้าเจ้าหนี้เขาไม่ตกลงจะดำเนินการทางกฎหมาย​ เราก็ต้องไปสู้กันในทางกฎหมายว่าเราจ่ายได้แค่ไหนเพียงใด​ ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องไปที่​ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.1213 แต่ต้องพูดความจริง​ อย่าหลอกว่าจ่ายไม่ได้จะเอาแต่พักการชำระหนี้อย่างเดียว​
4.ลองคิดภาพตามนะครับ
4.1​ หลวงท่านเป็นคนกลาง​ ไม่ได้รู้ความจริงในเรื่องหนี้ที่เกิดระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เลย
4.2 คนเป็นเจ้าหนี้เขาก็มีคนคุมกติกา​ มีการออกวิธีการ​ กฎกติกามรรยาท​ชัดเจนเรื่องปรับโครงสร้างหนี้​
4.3 คนปล่อยกู้​ เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก​นะครับ​ เขาต้องหมุนเงินโดยรับเอาเงินต้นที่จ่ายคืนมา​ เอาไปหมุนให้กู้ใหม่กับคนที่ต้องการเงินทุน​ ถ้ามันสะดุด​ ติดขัดเพราะฝ่ายคืนไม่คืนตามเวลา​ แต่ต้องจ่ายทางฝั่งคนฝากทุกครั้งตามเวลาและจำนวนที่กำหนด​ แล้วเจ้าหนี้จะไปต่อได้อย่างไร​
4.4 เวลานี้ทุกคนล้วนสาหัสสากรรจ์​กันทั้งนั้น​ ถ้ามีคนหนึ่งได้หมดอีกคนเสียหมดมันก็ไปต่อไม่ได้​ ถ้าเสียสละกันบ้าง​ กำไรน้อยลงบ้าง​ ลูกหนี้อย่าเล่นกลบ้าง​ มันถึงจะพอไปกันได้​ แบ่งๆ กันไป​ เฉลี่ยทุกข์​เฉลี่ยสุขกันไป​ ไม่งั้นมันก็ไม่มีใครรอด​ ประเทศเราสอบผ่านวิชาสุขศึกษา​แล้ว​ ได้คะแนนดีเยี่ยม​ แต่เราจะสอบตกวิชาเศรษฐกิจ​ก็เพราะเรามองแต่กระจกบานเดียวคือบานที่เราต้องการ​ เราทุกคนไม่ว่าใครต้องมองกระจกหกด้านสิ​ ดังคำพระท่านสอน​ เอาใจเขามาใส่ใจเรา​

… ปัญหาของทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่เพียงแค่การดำรงชีวิต ซึ่งเคยแนะนำไปแล้วว่าให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น แต่วันนี้ปัญหาของประชาชนที่มีมากที่สุด คือปัญหาหนี้สินของพวกเขา ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งสิ้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากพวกท่าน เพราะไปก้าวล่วงกับทางธนาคารไม่ได้ แต่หากเราไม่ช่วยกันวันนี้ประเทศชาติก็คงต้องไปกันทั้งหมด จึงขอฝากไว้ด้วยเพราะทุกคนต่างคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐบาล วันนี้จึงขอให้ท่านเริ่มจากการช่วยตัวเองเสียสละกันบ้าง และรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลพวกท่านอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นอยากจะให้เข้าใจวิธีการหลักคิดของรัฐบาลด้วย… พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

ขอขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามนะครับ