คนที่ขาด ถูกกระทำ เมื่อได้รับ รู้จักพอ อยากเห็นแบบนี้บ้างกับเงินให้กู้ SME
บทความวันนี้ขอท่านผู้อ่านอย่าคิดเป็นเรื่องดราม่าของผู้เขียนเลยนะครับ เพียงต้องการถอดบทเรียนเล็กๆน้อยๆในยามที่ทุกคนมีความลำบากในการดำเนินชีวิต ในการประกอบสัมมาอาชีพอันสุจริต เราทุกคนที่ติดตามข่าวโดยเฉพาะ SME ต่างก็กำลังรอคอยการประกาศบังคับใช้ พรก. เงินกู้ Soft loan 500,000 ล้านบาทที่ธนาคารชาติจะส่งผ่านเงินนั้นไปยังธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเสริมสภาพคล่องหรือภาษาชาวบ้านคือให้เงินกู้ ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2ปี หกเดือนแรกหลวงจ่ายดอกเบี้ยให้แทน เอาไปใช้หมุนเวียนในกิจการ และกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดคงค้างที่เป็นหนี้ปลายปีที่แล้ว เช่น ถ้ามีค้างอยู่ 30 ล้าน ก็กู้วงนี้ได้เพิ่มอีกไม่เกิน 6 ล้านบาท แต่ตัวลูกหนี้ต้องไม่เป็น SME ที่มีหนี้เสียนะครับคือไม่ได้เป็น NPL อันนี้คือข้อมูลที่ออกมาตามสื่อต่างๆ แน่นอนว่าข้อมูลชัดเจนจากธนาคารจะเห็นภาพเมื่อ พรก. มีผลบังคับใช้ครับ
ทีนี้ถ้าเราแยกประเภท SME ตามข่าวว่ามีจำนวนถึง 1.7 ล้านรายที่เข้าข่าย ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันจะมีคนที่ได้เงินกู้ มีคนที่ได้ไม่พอกับที่ตนเองต้องการ หรือไม่ได้เงินกู้ครั้งนี้ ต้องขอเรียนไว้อย่างนี้นะครับว่า ในโลกความเป็นจริงมันมีเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อหลักๆคือ
1.ศักยภาพในการหารายได้ในอนาคตเพื่อจะเอามาจ่ายหนี้ทั้งเก่าและที่เป็น soft loan ที่จะกู้ใหม่ในครั้งนี้
2.หลักประกันที่จะให้ในการกู้ soft loan ในครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าจะยกเว้นหรือไม่ รอดูตอนสุดท้ายของหลักเกณฑ์ก่อนนะครับ
3.ประวัติในการชำระหนี้ที่ผ่านมาในอดีตเพราะคำว่าลูกหนี้เก่าที่ดีนั้นมันมีได้หลายแบบครับ เช่น
3.1 ไม่เคยค้างเลย
3.2 เคยค้างแต่ชำระได้ในเดือนถัดมาและเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง น้อยมาก
3.3 เคยค้างแต่ชำระได้ในเดือนถัดมาแต่เกิดขึ้นบ่อยไปนิดนึงในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แต่แก้ปัญหาได้ทุกครั้งนะ
3.4 เคยค้างและต้องใช้เวลานิดนึงมากกว่าหนึ่งงวดการชำระกว่าจะกลับมาชำระได้ปกติ แต่เกิดไม่บ่อย น้อยครั้งมากๆ แต่ก็แก้ปัญหาได้ทุกครั้ง
ท่านผู้อ่านครับ สำหรับ SME ที่แข็งแรง สู้ได้ และยังมีความจำเป็นน้อยมากที่จะต้องเสริมสภาพคล่องหรือคิดว่าตัวเองอยากได้มาเผื่อไว้เพราะดอกถูกนั้น หากท่านจะเปิดโอกาสให้กับเพื่อนๆที่เดือดร้อนกว่าตัวเรา จะเป็นไปได้ไหม SME ที่เป็นหัวขบวนหรือเป็นกิจการที่บรรดาผู้นำสมาคม สมาพันธ์ ชมรมธุรกิจ เป็นไปได้ไหมที่ท่านๆในฐานะผู้นำกลุ่มหรือเครือข่ายจะเปิดทางให้สมาชิก หรือลูกข่าย หรือคนที่เขาลำบากกว่าเราได้รับเงินกู้ไปก่อน เราทำได้หรือไม่ การเป็นผู้นำในยามยากกับการเสียสละ โดยรอคิวเป็นแถวสองแถวสาม ช่วยเพื่อนเราที่ออกอาการให้พ้นน้ำไปก่อนจะทำได้หรือไม่ ผู้เขียนรู้อยู่เต็มอกว่า ในระบบทุนนิยม ค้าเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอานั้น ยิ่งในยามยาก ยิ่งจะหาน้ำใสใจจริงได้ยาก ในภาวะแบบนี้ น้ำคำจะเยอะ น้ำใจจะหาย และยิ่งเป็นน้ำเงินจะเหือดแห้ง แต่ก็ยังอยากจะเขียนในสิ่งที่อาจเป็นไปได้ยากออกมาให้ลองใคร่ครวญคิดดู ไม่อยากเห็นภาพ
1.SME ที่ไม่ได้สินเชื่อออกมาบ่นด่ากัน
2.SME ที่ลำบากออกมาแฉว่ามีรายการปาดหน้าเค้ก ทั้งที่เดือดร้อนน้อยกว่า
3.SME เดินขบวนไปวางหรีดที่ต่างๆ
4.อื่นๆอีกมากมายตามแต่จะคิด
พอดีอ่านข่าวของคุณลุงที่ถูกหลอกเอาเงินจากที่รัฐบาลช่วย 5,000 บาทตามสื่อความดังนี้… เช้าวันที่ 17 เม.ย. นายบุญใหล มอมขุนทด อายุ 71 ปี พ่อค้าเฉาก๊วยที่ถูกหนุ่มลักเงินเยียวยาจากผลกระทบโรคไวรัสโควิด-19 ไป 4,000 บาท จากทั้งหมด 5,000 บาทเดินทางไปธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อขอยกเลิกบัตรเอทีเอ็มเนื่องจากกลัวคนขโมยไปกดเงินอีก
นายบุญใหลเผยว่าหลังมีข่าวว่าตนโดนขโมยเงินเยียวยาและมีเงินเหลือในบัญชีแค่ 33 สตางค์ ปรากฏว่ามีคนใจบุญโอนเงินมาช่วยจำนวนมากตอนนี้ยอดเงินถึง 148,158.84 บาท ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่สงสารเมตตา
ตอนนี้ไม่ขอรับเงินบริจาคอีก พอแล้ว และจะเก็บเงินก้อนนี้ไว้เพื่อไปซื้อที่ดินพอปลูกบ้านหลังเล็กๆส่วนเด็กหนุ่มที่ลักเงินไปให้อภัยทุกอย่าง ไม่อาฆาตต่อกัน…
ไม่ขอรับเงินบริจาคอีก
จะนำเงินไปทำอะไรเพื่อพออยู่
ให้อภัยคนทำผิด
ผู้เขียนอ่านจากข่าวได้ 3ข้อสำคัญ
ถึงเวลาแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในขบวนการจัดสรรเงินให้กู้ และการเข้าโครงการเงินกู้ soft loan ครับ มันจะมีสักครั้งในชีวิตของสังคมเศรษฐกิจไทยหรือไม่ที่เราจะเห็นการจัดคิวให้กับคนที่ลำบาก มีคุณสมบัติด้อยสุด ได้รับสินเชื่อคนแรกๆ ภาษานักบัญชีครับ
Last In First Out หรือ LIFO
ไม่ใช่ First In First Out หรือ FIFO
แม้ถึงวันนี้ ผู้เขียนก็เชื่อว่า ไวรัสจะทำให้ ปาฏิหาริย์เป็นจริงได้
ขอบคุณครับ