เบี้ยปรับการชำระล่าช้าของสินเชื่อ… ถึงเวลาที่ต้องยกมาคุยกันไหม
นอกจากการยกระดับความเข้มข้นในการเรื่องการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของลูกค้าผู้ยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่ในเวลานี้ถือได้ว่ามีความเข้มงวด ตรวจเข้มในเรื่องที่มาของรายได้ ความแน่นอนของรายได้ ความเพียงพอของรายได้ต่อการชำระหนี้เก่า และหนี้ใหม่ที่กำลังพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติที่เราเรียกรวมกันว่าความสามารถในการชำระหนี้(ability to pay) รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงความตั้งใจในการชำระหนี้(willingness to pay) ที่ดูจากประวัติการก่อหนี้ ประวัติการชำระหนี้ ที่มีการจัดเก็บไว้ในระบบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ข้อมูลในเครดิตบูโร แล้วนั้น ได้เป็นเงื่อนไขในการร้องเรียนจากทั้งตัวลูกค้าผู้ยื่นขอสินเชื่อแต่ไม่ผ่านการอนุมัติ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจ กิจการห้างร้านที่ขายของมูลค่าสูงให้กับลูกค้าเช่น ธุรกิจขายบ้าน ขายคอนโด ขายรถยนต์ที่ตัวคนซื้อจะต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อสิ่งเหล่านั้น พอการอนุมัติทำได้ยาก ของที่จะขายมันก็จะยากตามๆกันไปด้วย
แต่ในวันนี้ผมจะไม่พูดในประเด็นนี้นะครับ สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอคือ เมื่อเวลาที่ลูกค้าได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อไปซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อรถยนต์แล้ว มีการผ่อนชำระเป็นงวดๆรายเดือนที่เรียกว่า ยอดผ่อนต่อเดือน เงินงวดต่อเดือน ยอดส่งหนี้ต่อเดือน ซึ่งถ้าผ่อนได้ตามปกติมันก็ไม่มีประเด็นอะไร เรื่องหนี้ก็เดินกันไปตามตารางที่ตกลงกันตามปกติ
ปัญหามันเกิดตอนที่ลูกค้าที่กู้เงินหรือลูกหนี้สินเชื่อเกิดมีอาการสะดุด ช็อตเงิน ทำให้ไปจ่ายเงินงวดไม่ทัน หรือส่งยอดชำระหนี้ในเดือนนั้นๆไม่ทัน สิ่งที่จะตามมาคือ เจ้าหนี้ก็จะใช้เงื่อนไขในสัญญามาบังคับ ซึ่งเงื่อนไขในสัญญาก็มักจะบอกว่า
1.การผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งก็ถือว่าหนี้คงค้างทั้งหมดก็ผิดนัดชำระไปด้วย
2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระล่าช้าก็จะเปลี่ยนอัตราจากอัตราปกติที่กู้ยืมมาเป็นอัตราผิดนัดชำระ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะสูงมากเช่น 18% เป็นต้น
3.ยอดที่จะเอามาคำนวณตัวเงินที่ต้องชำระเบี้ยปรับล่าช้า บางสัญญาจะเอายอดหนี้คงเหลือที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดมาคำนวณซึ่งจะเป็นอัตราหรือจำนวนเงินที่สูงมาก
คำถามคือ ถ้ายอดชำระต่อเดือนมันคือ 20,000 บาท และมียอดหนี้คงเหลือ 800,000 บาท เวลาผิดนัดชำระเงินงวด มันคือการผิดนัดชำระเงิน 20,000 บาทที่ไม่มาตามนัดใช่หรือไม่ เหตุใดจึงไปคิดเบี้ยปรับล่าช้าเอากับยอดหนี้คงเหลือ 800,000 บาทด้วย คำตอบที่ได้รับมาจะมีดังนี้คือ
1.มันเป็นไปตามข้อสัญญา ตอนทำสัญญาไม่ได้บังคับให้ลูกค้ายอม เมื่อตกลงเซ็นแล้วก็ต้องตามนั้น
2.มันก็ถือปฏิบัติกันมาอย่างนี้ตั้งแต่ในอดีต จะมาสงสัยอะไรเวลานี้
3.คนที่เป็นลูกหนี้จะได้ไม่กล้าผิดนัดชำระเพราะถ้าผิดนัดก็จะเจอผลกระทบที่สูงมาก ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงไม่ชำระหนี้
คนที่เป็นลูกหนี้ก็จะเถียงในใจมาตลอดว่าไม่แฟร์ ไม่เป็นธรรม แต่ต้องยอม เพราะไม่ยอมก็ไม่ได้เบิกเงินกู้ ตัวผู้เขียนก็ยอมรับหลักการที่ว่า สัญญาต้องเป็นสัญญา ลูกหนี้มีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญา เมื่อไม่ถูกบังคับให้ทำสัญญา และสัญญาทางแพ่งนี้ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อย กำหนดไว้อย่างไรก็ต้องอย่างนั้น
ประเด็นลึกๆก็คือ
ที่เหมาะที่ควร มันอยู่ตรงไหน
ที่เป็นธรรม ยอมรับกันได้
ไม่เอาเปรียบกันจนเกินส่วน
คนที่ผิดพลาดไปควรได้รับการลงโทษพอสมควร ไม่ใช่เอาแบบสาแก่ใจ
นานาประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไร
มันควรถึงเวลาที่ผู้กำกับดูแลจะลงมาดูและจัดการให้เป็นไปตามทำนองครองธรรมหรือไม่ อย่าเพิ่งเอาคำว่าก็มันทำกันมาตั้งแต่อดีตนานแล้ว จะมาร้องหาอะไรกันเวลานี้ งานฉันก็มีอยู่เยอะแยะ ร้องกันอยู่ได้….
ตัวผู้เขียนคิดว่า การ Disrupt กฎกติกาที่ไม่มองในจุดที่ควรมองมานานมากแล้ว บัดนี้สมควรแก่เวลาที่จะเริ่มได้แล้วหรือไม่ครับ
เรามีการ Disrupt การค้ำประกันแล้ว
เรามีการ Disrupt การติดตามหนี้แล้ว
เรามีการ Disrupt การเสนอขายของแล้ว
เรามีการ Disrupt การคุ้มครองข้อมูลแล้ว
เรามีการ Disrupt การ…. มากมายแล้ว
เราจะยกเรื่องการ Disrupt กติกาการคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มกรณีผิดนัดชำระหนี้กันให้เหมาะให้ควร สมเหตุสมผล สมกับความผิดพลาดคลาดเคลื่อน อย่างเป็นสัดส่วน (Proportional response) อีกสักเรื่องดีไหมครับ… ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เพราะเวลานี้คนเป็นหนี้ อยู่กันไม่เป็น(สุข)แล้วครับ
ขอบคุณครับ