เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ได้คืบก็มักจะเอาเพิ่มเป็นศอก​” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562

ได้คืบก็มักจะเอาเพิ่มเป็นศอก​

บทความของผมวันนี้เขียนขึ้นมาเพราะนึกถึงสำนวนไทยที่บอกว่า​ ยามใครต่อใครเดือดร้อน​ หลวงท่านก็จะยื่นมือออกมาช่วยเหลือ​ แต่พอได้รับความช่วยเหลือแล้วก็มักจะรุกคืบขอเพิ่ม​ ทั้งที่จริงแล้วความเดือดร้อนที่ว่ามันอาจเกิดจากการวางแผนผิด​ การบริหารความเสี่ยงน้อยไป​ การมีแผนฉุกเฉิน​รองรับสถานการณ์​ที่ตนเองไม่ชอบน้อยไป​ หรือแม้แต่การส่งเสริมสนับสนุน​ให้มีการเก็งกำไรในธุรกิจที่ตนทำอยู่​ สำนวนที่ว่าคือ​ “พอได้คืบ​ ก็มักจะเอาศอก”

เมื่อภาครัฐได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือสนับสนุนให้คนที่ประสงค์​อยากจะได้บ้านหลังแรกตามกำลังรายได้ของตนโดยกำหนดว่าบ้านราคาไม่เกิน​ 3 ล้านบาท​ โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงมา​ พร้อมๆกับที่สถาบันการเงินของรั​ฐได้ออกโครงการให้กู้แบบผ่อนยาวๆ​ ดอกเบี้ยถูก​ มาช่วยคนที่อยากได้บ้าน​ ข่าวสารความเห็นที่ตามมาดูจะเข้ากับสำนวนไทยอย่างยิ่ง​ ความมีดังนี้ครับ

1.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่าการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม 2 มาตรการจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยหนุนตลาดในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปยังปี​ 2563

แต่ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและกำลังซื้อที่ประสบปัญหาจากหนี้ครัวเรือน​ ดังนั้นจึงคาดได้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2562 นี้เพิ่มจาก 121,730 หน่วย (ม.ค.- ส.ค. 62) จะไปแต่ตัวเลขที่เคยได้ประมาณการไว้เมื่อกลางปีที่ 177,000 หน่วย หรือหดตัวลง 10% จากปี 2561

2.ฝั่งผู้ประกอบการก็ออกมาให้ข้อมูลต่อมาว่ามาตรการนี้มันก็ช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น​ เพราะคนที่ซื้อบ้านเกิน 3 ล้านบาทมีส่วนหนึ่งเท่านั้น หลวงท่านควรทำมาตรการออกมาแบบไม่กำหนดราคาบ้านจะดีกว่า (คำขอเพิ่มส่วนที่​ 1) และหาผ่อนคลายเรื่องมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ออกมาเรื่อง​ LTV ก็จะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากมาตรการนี้ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งกู้ไม่ผ่านหรือกู้ได้ยากขึ้น (คำขอเพิ่มส่วนที่​ 2)​

3.ในส่วนของศูนย์ข้อมูลก็ออกมาผสมโรงเป็นข้อเสนอที่งดงามเสียกระไรนี่​ ชนิดที่บทบาทหน้าที่ตนเองควรจะเป็น “ระบบส่งเสียงเตือนความเสี่ยง” กลับจะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มหรือไม่​ กล่าวคือ​ มีข้อแนะนำไปยังคนให้กู้ที่ต้องนำเอาเงินฝากจากประชาชนมาปล่อยกู้ให้กับคนขอกู้ว่า​ ประวัติการก่อหนี้และการชำระหนี้นั้นตามที่มาตรฐานสากลทั่วโลกเขาระบุว่าให้แสดงกับสถาบันคนให้กู้​ 3 ปี ย้อนหลังจากปัจจุบัน​นั้น​ สถาบันคนให้กู้ควรจะดูเพียง​ 1ปี ย้อนหลัง​ หรือดูการชำระหนี้ย้อนหลัง​ 12 เดือน​ หรือ​ 12 งวดก็พอในสินเชื่อต่างๆที่คนขอกู้มีอยู่เช่น
ดูประวัติการผ่อนรถ​ 12 เดือนย้อนหลังก็พอ
ดูประวัติการผ่อนสินเชื่อบุคคล​ 12 เดือนย้อนหลังก็พอ
ดูประวัติการชำระหนี้บัตรเครดิตย้อนหลัง​ 12 เดือนย้อนหลังก็พอ​ เป็นต้น​ คำถามมันมีอยู่ว่า​ สินเชื่อบ้านเวลาผ่อนมันยาวเป็น​ 5ปี​ 10ปี​ 15ปี​ เราจะดูพฤติกรรมความตั้งใจในการชำระหนี้เพียง​ 12 งวดย้อนหลัง​ มันจะเพียงพอเหมาะสมหรือไม่​ เราควรปล่อยให้สถาบันเขาบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจของเขาดีกว่าหรือไม่​ เพราะผู้บริหารสถาบันคนปล่อยกู�

ผู้เขียนเป็นคนทำข้อมูล​ ทำสมุดพกให้สถาบันคนให้กู้ดู​ ยืนยันว่า​ ข้อมูลมีเท่าใด​ ยาวนานเท่าใด​ คนวิเคราะห์สินเชื่อต้องดูให้ครบถ้วน​ แต่การตัดสินใจต้องเป็นไปตามนโยบายการบริหารความเสี่ยง​ การกู้ได้ยากแต่มีคุณภาพมากขึ้น​ กับธุรกิจที่อาจลดลง​ และอาจไม่สร้างปัญหาความเสี่ยงในระยะยาวบนความมั่นคงของสถาบันคนให้กู้นั้นมันอยู่ที่จุดไหน​ก็ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศของเรื่องนั้น​ ในฐานะคนทำข้อมูล​ ทำสมุดพก​ ก็ได้แต่บอกว่า​ การให้กู้กับใครนั้น​ มีความเสี่ยงเสมอ​ คนตัดสินใจให้กู้ต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มี(มิใช่บางส่วน)​ ก่อนการตัดสินใจให้กู้หรือไม่ให้กู้​
เอวังก็มีด้วยประการทั้งปวง​ดังที่เรียนมาข้างต้น​ กระทบกระเทือนไปบ้างต้องขออภัยนะครับ​ ผมเพียงใช้สิทธิ์ที่ถูกพาดพิงครับ