เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล)
ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกจากเขาวงกตความต้องการของสมาชิกได้อย่างไร
โดย…สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/586292
เมื่อมีการพูดจาถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่มีจำนวนประมาณ 12.5 ล้านล้านบาท ย้ำนะครับว่าหน่วยคือล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดขัดกันอยู่เวลานี้ และเป็นปัญหาที่เกิดมาก่อนรัฐบาลชุดนี้ซึ่งสะสมเรื่อยมา
เมื่อเรามองไปที่คนให้กู้ก็จะพบว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ๆสามรายแรก ได้แก่ 1.ธนาคารพาณิชย์ 2.สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFI และ 3.สหกรณ์ออมทรัพย์
โดยปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมดเป็นพันแห่งได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 1.9 ล้านล้านบาท คนเป็นลูกหนี้ก็คือสมาชิกสหกรณ์ที่ถือหุ้น มีเงินฝาก และมีสิทธิยื่นขอกู้ ภาษาชาวบ้านคือสมาชิกขากู้นั่นเอง กลไกสำคัญที่ทำให้ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์กล้าปล่อยกู้ก็คือ
- สมาชิกที่กู้จะถูกหักรายได้ เงินเดือนเวลาที่นายจ้างจ่ายแล้วเงินนั้นจะถูกส่งมาชำระหนี้ ส่วนเงินที่เหลือจะพอใช้จ่ายหรือไม่พอใช้จ่ายเป็นเรื่องของตัวลูกหนี้ต้องไปจัดการเอาเอง
- กรรมการที่ตัดสินใจให้กู้จะรู้จักตัวผู้กู้ค่อนข้างดีเพราะเป็นคนในสังกัดองค์กรเดียวกัน อาจเป็นเพื่อนพนักงาน อาจเป็นหัวหน้า หรือลูกน้อง ทีมงานกันก็ได้
- เงื่อนไขจะไม่เข้มข้นหรือโหดแบบทางการค้าโดยทั่วไปเพราะเป็นเรื่องขบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนมีเงินเหลือกับคนที่เงินขาดมือ
ปัญหาที่นำมาสู่ความหนักอกหนักใจของผู้บริหารองค์กร สถาบันการเงินประเภทนี้คือว่า
- สมาชิกขาฝากเงินส่วนใหญ่ต้องการดอกเบี้ยเงินฝากสูงๆ เงินฝากนั้นไม่มีการคุ้มครองเงินฝาก ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี เวลานี้ก็น่าจะได้ประมาณ 3-4% สมาชิกส่วนนี้เป็นคนสร้างต้นทุนเงินฝาก
- สมาชิกขากู้ส่วนใหญ่ก็จะกู้ไปใช้ต่างๆนาๆ บางส่วนก็จะกู้แล้วกู้อีก กู้วนซ้ำ มีโอกาสเป็นต้องกู้ หรือกู้ฉุกเฉินต่อเนื่องและเป็นประจำ เรียกว่าขาประจำการสร้างรายได้เงินกู้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยก็มีตั้งแต่ 5-8% ที่อาการหนักคือสมาชิกที่ทำงาน ได้เงินเดือน ส่งหนี้ แต่หักแล้วเหลือไม่พอดำรงชีพ ต้องกู้มาเติมการใช้จ่าย ความอ่อนแอในขีดความสามารถในการหารายได้มาชำระหนี้ในแต่ละเดือนนับวันจะลดน้อยถอยลงไป บางรายที่ร้ายแรงมากถึงขนาดว่าเงินเดือนทั้งหมดแทบจะเอาไปใช้หนี้ มีเงินโอทีเอาไว้กินใช้
- สมาชิกที่ถือหุ้น ก็คือผู้คนที่เอาเงินมาลงทุนถือหุ้นเพื่อเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินที่เอามาลงทุนจะได้คืนก็ต่อเมื่อลาออกที่เรียกว่าชักทุนคืน ในระหว่างนี้ก็จะได้เงินปันผลหรือผลตอบแทนเฉลี่ยคืนรายปี ที่ผ่านมาผลตอบแทนก็จะดี สูงกว่าเอาไปฝากธนาคาร เวลานี้น่าจะอยู่เหนือ 6% และผู้ถือหุ้นต่างก็คาดหวัง คาดคั้น หรือกดดันให้คณะกรรมการที่มาหาเสียงในการเป็นกรรมการบริหารงานว่าคณะไหนมีผลงาน มีฝีมือทำได้มาก ทำได้ไม่น้อยกว่ากี่ % ก็จะได้รับเลือก
มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านลองคิดตามผมนะครับ แหล่งที่มาของรายได้มีความอ่อนแอเปราะบางและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าจะเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้จะทำได้ไหม หนี้เสีย หนี้ค้างชำระ มันจะเพิ่มหรือมันจะลดในอนาคต แหล่งที่มาของรายจ่ายจะลดลงได้ไหม ดอกเบี้ยเงินฝากจะลดได้ไหม ในยามที่คนมีเงินวิ่งหาว่าที่ไหนให้ดอกแพงก็ไป ถ้าไปลดดอกเบี้ยเงินฝากรับรองว่าคณะกรรมการจะโดนต่อว่าแน่นอน ในขณะที่มุมของสมาชิกที่ถือหุ้นก็อยากได้ผลตอบแทนเกินขั้นต่ำที่คาดหวังกันไว้ คือมันต้องบริหารให้ได้เกินกว่าที่ตนเองและคณะไปหาเสียงผูกพันเอาไว้ว่าจะได้ประมาณนั้นประมาณนี้
สามเหลี่ยมของความต้องการที่ขึงตึงยันกันเป็นแบบนี้มันก็จะนำมาซึ่งการละทิ้ง ผ่อนผัน ผ่อนปรนเงื่อนไขหรือไม่เช่น ลูกหนี้คนขอกู้มีความสามารถหย่อนหน่อยก็ยอมรับ ดอกเบี้ยเงินฝากควรจะลดได้บ้างก็ไม่ลด หรือกลัวถูกผู้ถือหุ้นไล่ลงจากเวทีในข้อหาไร้ฝีมือในการสร้างผลตอบแทนกับคนถือหุ้น
พอหันมามองทางการ ก็พยายามจะเข้มงวดขึ้น ทำให้หนี้ส่วนนี้โตช้าลง แต่จะเพิ่มเกณฑ์มากไปแล้วก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ตัวอย่างคือ สมาชิกอายุ 55 ปีกู้เงินแล้วต้องผ่อนรายเดือนเกินอายุเกษียณ แล้วถ้าไม่มีรายได้จากแหล่งอื่นนอกจากบำนาญแล้ว เราจะดูแลกันอย่างไร คำว่าแก่ก่อนรวย ทุกข์หลังเกษียณ เราจะทำอย่างไรกัน ใครจะเริ่มก่อน มันคือเขาวงกตที่สร้างกันมาในหลายๆปี และคำถามคือกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกจากเขาวงกตความต้องการของสมาชิกในสามกลุ่มข้างต้นนี้ได้อย่างไร….