เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ดิจิทัล : ชุมชนเข้มแข็งกับบทบาทของออมสินในการต่อสู้ความยากจน : www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ดิจิทัล ตอนที่ 1/2562
“ชุมชนเข้มแข็งกับบทบาทของออมสินในการต่อสู้ความยากจน”
โดย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/585713

 

ชุมชนเข้มแข็งกับบทบาทของออมสินในการต่อสู้ความยากจน

เมื่อผมได้มีโอกาสเดินทางไปกับธนาคารออมสิน หรืออีกนัยหนึ่งคือสถาบันการเงินที่ยืนเคียงข้างประชาชนคนไทยไม่ว่ายามทุกข์หรือยามสุขมากว่า 106 ปี นับจากปีพ.ศ.2456 ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 บทบาทของการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่แข็งแกร่งจากรากฐานของผู้ฝากเงินลูกค้าสินเชื่อ ที่ธนาคารให้บริการทางการเงิน ลูกหนี้ตราสารที่ธนาคารลงทุน ซึ่งเป็นมุมที่เราเห็นอยู่แล้วนั้น โดยแท้จริงแล้วยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือบทบาทการพัฒนาให้ชุมชนในระบบสังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีพลังที่จะต่อสู้กับความยากจน สามารถสร้างรายได้ พึ่งตนเองและป้องกันคนหนุ่มสาวในพื้นที่อพยพเข้ามาเป็นลูกจ้าง พนักงานนอกถิ่นที่อยู่อาศัย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยึดโยงกับ
(1) ภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น (2) ผู้นำเข้มแข็ง (3) ยึดโยงทำงานเป็นเครือข่าย

บทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาคือการเข้าไปเสริม ประสาน เติมเต็มส่วนขาด ไม่ใช่การสั่ง การชี้นำ หรือการหว่านเงินกู้ เพราะถ้าทำแบบหาเงินฝาก ปล่อยเงินกู้อย่างที่ธนาคารพาณิชย์ทำกันนั้น มันจะไม่สามารถได้ใจชุมชนเพราะตัวธนาคารนั้นมีศักยภาพในการหาคนที่รู้หาฐานความรู้จากงานวิจัย หาเครื่องมือมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ชุมชนอยากจะให้แก้ไข สิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ผมเห็นเป็นรูปธรรมในการทำงานของธนาคารออมสินในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนภายใต้กรอบนโยบายของทางการก็คือ

หนึ่ง การมีหน่วยงานในพื้นที่ที่จะไปทำงานกับชุมชนโดยธนาคารรับผิดชอบต้นทุนเอาไว้เอง
สอง การมีสายงาน กลุ่มงาน ฝ่ายงานรับผิดชอบตั้งแต่ระดับผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานชัดเจน
สาม การเติมเงินทุนสนับสนุนอย่างมีเหตุและผล โดยผลได้ที่กลับมาอาจไม่ใช่ตัวเลขเชิงพาณิชย์แต่เป็นตัวเลขที่สะท้อนความอยู่ดีมีสุขของชุมชนเช่นรายได้ของคนในชุมชน เงินออมของครอบครัว การไม่มีหนี้นอกระบบ จำนวนลูกหลานที่ไม่ย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองเป็นต้น ผมใคร่ขอยกตัวอย่างโครงการที่ผมได้ลงไปในพื้นที่คือ

ตัวอย่างแรก การสร้างความเข้มแข็งชุมชนโดยใช้ประโยชน์จากพืชที่เรียกว่าต้นจาก ท่านผู้อ่านลองคิดว่าจากผู้นำที่มีความรู้ที่เลิกทำบ่อกุ้งกุลาดำ แล้วเอาขี้เลนจากการลอกบ่อกุ้งของเพื่อนๆรอบข้างมาถมบ่อตัวเองสามไร่ ไปทำวิจัยดินว่าตรงนี้ดินตรงนี้เหมาะจะปลูกต้นอะไร พอรู้ว่าเป็นต้นจาก ก็ไปเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมในเรื่องประโยชน์ของต้นจากมาทำเป็นสินค้าเพื่อขาย แต่ด้วยความคิดแบบบ้านๆ สินค้าเลยออกมาแบบใส่ถุงผูกหนังยางเอาปากกาเขียนที่ถุงว่า 20 บาท การเปิดใจเมื่อลูกสาวที่ไปเรียนศิลปศาสตร์สาขาภาษาไทย พาอาจารย์และชวนเพื่อนมาทำโครงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์  หีบห่อ ที่เราเรียกว่า packaging design ก็พบว่าสามารถส่งขายผ่านเฟซบุ๊ก ในราคา 50 บาทซึ่งถ้าคิดแล้วคือมากกว่าๆ 20 บาทต่อถุงเกิน 100% ผมเห็นแววตาคุณลุงชาวสวนต้นจาก แกภาคภูมิใจในตัวลูก มั่นใจในภรรยา และเชื่อใจอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และเหนือกว่าสิ่งใดแกมีความภูมิใจในความเป็นครูที่แกได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลานไทยเป็นร้อยเป็นพัน

เมื่อผมได้สอบถามถึงจำนวนของชุมชน จำนวนสถาบันการศึกษาที่เข้ามาภายใต้การสนับสนุนของธนาคารออมสินก็พบว่ามีจำนวนหลักร้อย แน่นอนว่ามันยังต้องมีการขยายผลอีกในปีต่อๆไป แต่หากไม่ใช่การทำงานต่อเนื่อง คนธนาคารออมสินไม่ทุ่มเทจริงจังแล้ว ผลงานที่ผมเห็นคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาความยากจน มันมาจากหลายมิติ ขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพ ขาดทุนรอนในการประกอบการ ขาดองค์ความรู้จากที่อื่นมาเติมเต็ม เสริมต่อ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจใช้แต่เงินให้สินเชื่อแก้ไขได้ การลงทุนเพื่อสังคมโดยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องคนเรื่องของเอาไว้ในงบการเงินของธนาคารเองในแต่ละปี เพื่อให้สิ่งที่เรียกว่าชุมชนเข้มแข็งมีมากขึ้น ปัญหาความยากจนลดลงไป มีเงินออมมากขึ้น และตัดวงจรหนี้นอกระบบ ที่สุดคือความร่มเย็นเป็นสุขของสังคมไทย ผมได้เรียนรู้ว่าในช่วงเวลาที่มนุนษย์การเมืองกำลังแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ วาสนากันบนคะแนนเลือกตั้ง จนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลับมีธนาคารของรัฐที่เด็กๆรู้จัก กำลังมุ่งมั่นทำคุณความดี แบบไม่แบ่งแยกยากดีมีจนเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คนไทยต้องการ ทั้งๆที่เป้าหมายเหล่านั้นคือคำสัญญาประชาคมที่เหล่ามนุษย์การเมืองลืมเลือนไปในเวลาอันสั้นหลังเลือกตั้งด้วยเพราะกำลังมุ่งมั่นแก่งแย่งสิ่งที่เรียกว่า อำนาจรัฐ ผมได้แต่ภาวนาให้เขาเหล่านั้นอย่าได้ประสบความสำเร็จเลย

ขอบคุณครับ