คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
ถ้าคิดว่า ‘ออม‘ คือวินัย คือการซ้อมก่อนกู้ เราจะ ‘กู้‘ ได้
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561
บทความวันนี้มาจากการได้สนทนากับอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนได้มุมมองจากพี่ๆ ที่มีประสบการณ์จริงในภาคการปฏิบัติ
1.มันจริงหรือไม่ที่การกำหนดนโยบาย มาตรการ ในเรื่องอสังหาริมทรัพย์มันมาจากการอิงตำรา แต่ขาดมุมมองไปด้านความเป็นจริงของชีวิต
2.เราไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ Demand เช่น คนรุ่นใหม่ Gen Y เข้ามามีอิทธิพลกับเศรษฐกิจเมื่อปีไหน คน Gen X อ่อนล้าไปกับการปรับตัวทำงาน การแบกภาระหนี้ และอีก 10-15 ปีไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ ต้องตื่นมาให้ความสำคัญกับ Gen Y เพราะเป็นตัวสำคัญที่ก่อหรือเพาะเชื้อหนี้เสีย
จุดสำคัญคือ คน Gen Y อาจ ไม่กลัวการเป็นหนี้เสีย รักรถมากกว่า รักบ้าน ซื้อคอนโดราคาเป็นล้านบน รายได้ที่มากไม่พอ ซึ่งบัญชีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่ในปี 2560 เกินกว่า 50% มาจากลูกหนี้คน Gen Y คือสินเชื่อซื้อคอนโด
3.การจัดการกับฝั่ง Demand ก็คือฝั่งคนที่จะกู้ซื้อบ้านที่ผูกกับรายได้ แต่ถ้าเขาเป็นผู้มีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอน มันก็น่าจะต้องใช้มาตรการเรื่องการออมเข้ามาจัดการหรือไม่
อาจารย์ผมท่านเสนอแนวคิดที่ น่าสนใจว่าผู้มีรายได้น้อยและอาจไม่มีหลักฐานรายได้ หากออมรายเดือนได้ 20 เดือน เขาควรจะได้โบนัสเป็นเงินสมทบ 25-50% (50% สำหรับบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท 25% สำหรับบ้าน 1-2 ล้านบาท ของเงินที่ออมได้) ฟังดูอาจคิดว่าเยอะ แต่เป็นเงินเพียง 5 หมื่นบาท เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท ออมเงินดาวน์เดือนละ 5,00020 เดือน = 1 แสนบาท ให้โบนัส 50% = 5 หมื่นบาท รวมเป็นเงินดาวน์ 1.5 แสนบาท กู้ธนาคารของรัฐได้ 8.5 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 5,100 บาท
แทนที่รัฐจะต้องไปหาเงินไปให้กู้ตั้ง 1 ล้านบาท เสียแค่ 5 หมื่นบาท บวกกับได้เห็นความตั้งใจที่จะมีบ้านผ่านการออมของเขาเหล่านั้นในระยะเวลาหนึ่ง และจะปลดเปลื้องภาระรัฐหรือไม่ในการช่วยจัดหาแหล่งเงินให้กับฝั่งคนให้กู้ (ด้าน Supply) ที่ทำกันมาตลอดที่ผ่านมา ถ้าจะให้มีพลังก็ต้องเอาธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมวงด้วย
ระบบคิดแบบไทยๆ มักจะมองทางแก้ไขปัญหาโดยวิธี “เอาใจจนทำให้คนเสียคน” เช่น หาทางลบล้างประวัติเครดิตเสียเร็วๆ หรือการประกันสินเชื่อแบบมีคนมารับความเสี่ยงแทน โดยไม่ปรับพฤติกรรมซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ ซับไพรม์ขยายตัวมากๆ แทนที่จะส่งเสริมให้คนประหยัดและออมเงิน
แทนที่จะขอผ่อนปรนการพิจารณาสินเชื่อ ทุกฝ่ายควรมาช่วยกันให้คนมีวินัยทางการเงินน่าจะดีกว่านะครับ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่อย่างนั้นผ่อนปรนไปก็ต้องมาแก้หนี้เสียกันอีก
ท้ายที่สุด คือ ต้องติดตามพฤติกรรม วินัยการเงินของ Gen Y ต่อเนื่อง เพราะคืออนาคตของชาติ ถ้ายังไม่ตระหนักถึงเรื่องวินัยการเงิน การวางแผนการเงินแล้ว จะส่งผลเสียกับทั้งตัวเองและระบบเศรษฐกิจในเวลาอันใกล้นี้แล้ว นี่คือความน่ากลัวที่รอเวลาเปิดออกมา