คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ยืนยันตัวตนจำเป็นบนโลกดิจิทัล : วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ยืนยันตัวตนจำเป็นบนโลกดิจิทัล

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 

หากเราย้อนกลับไปประมาณปลายปี 2559 ต้นปี  2560 เราจะพบว่า มีกระแสการตื่นตัวการให้บริการ แบบอะไรๆ ก็ต้องมีคำว่าดิจิทัล ต่อท้าย โดยเฉพาะบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก สินเชื่อ การลงทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ การประกันภัย ประกันชีวิต แล้วทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐหรือเอกชนก็พบว่าหากจะทำ ให้สิ่งที่ต้องการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

โดยสถาบันการเงินทุกประเภทสามารถให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ โดยผู้รับบริการไม่ต้องมาแสดงตัวที่สาขาหรือจุดให้บริการ (Non face to face) จะเกิดขึ้นได้ยากหรือเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital ID platform มาใช้

ในที่สุดภาคเอกชนภายใต้การสนับสนุนภาครัฐจึงได้ร่วมจัดตั้ง นิติบุคคลโดยมีทุนจดทะเบียนรวม อยู่ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งมี 7 องค์กรหรือสมาชิกในสมาคมวิชาชีพ ได้ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่นี้ ซึ่งประกอบ ด้วย สมาคมธนาคารไทยที่มีสมาชิกเป็นธนาคารพาณิชย์ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  (เครดิตบูโร) เป็นต้น

ในส่วนโครงสร้างการถือหุ้น จะประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย ถือหุ้น 42.5% (จัดสรรเงินลงทุนตามขนาดสินทรัพย์) เครดิตบูโร 20% อีก 37.5% จะมาจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นต้น

นิติบุคคลนี้จะศึกษา พัฒนา จัดให้มี จัดสร้าง จัดตั้งระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการกงสุล กรมบังคับคดี กรมการปกครอง เป็นต้น

โดยกลุ่มที่จะมาเป็นผู้ใช้บริการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย-ประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และภาคเอกชน ที่ต้องการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มายื่นขอใช้บริการผ่านช่องทางต่างๆ

ตามแผนการที่กำหนดกันไว้มีเป้าหมายจะให้บริการได้ด้วยเทคนิคและข้อกำหนดของกฎหมาย บนข้อจำกัดของแหล่งข้อมูลตามที่มีอยู่และเป็นไปได้ภายในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2561 คาดกันว่าบริการแรกๆ คือ การเปิดบัญชีแบบดิจิทัล การให้ความยินยอมแบบดิจิทัล ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (e-KYC)

การเชื่อมโยงที่สำคัญมากๆ คือการต่อเชื่อมกับระบบ Doing business portal ของภาครัฐภายใต้โครงการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ หรือเพื่อให้ประเทศได้รับการประเมินจากธนาคารโลกในรายงาน Ease of doing business ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น (อันดับปัจจุบัน คือ 26)

สำหรับความกังวลในเรื่องกฎหมายและข้อจำกัดต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยเห็นต่างของใครๆ หลายคนนั้น จะมีข้อสรุปจากทีมงานด้านกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการได้มาและการใช้ข้อมูลเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน

ผมได้รับทราบว่าขณะนี้ก็มีแผน การยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2561 นี้ และจะเสนอให้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องนี้พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการเสนอกฎหมายอยู่ในเวลานี้
สถานะปัจจุบันของโครงการมีดังนี้ครับ
1.การศึกษาทางเทคนิคกำลังจะเสร็จสมบูรณ์
2.การจัดตั้งนิติบุคคลจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ก.พ.
3.ข้อสรุปในโครงการนำร่องน่าจะจบในเดือน ก.พ.นี้ หรืออย่างช้า ในเดือน มี.ค.
4.ข้อกฎหมายก็ใกล้จบกันแล้วในโลกบริการดิจิทัลเราจำเป็นต้องมีระบบการพิสูจน์และยืนยัน ตัวตนแบบดิจิทัล เราจะได้เห็นกัน ในประเทศไทยครึ่งปีหลังนี้ครับ