คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“เรื่องที่มีการฟัง แต่ไม่เคยได้ยิน กับพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561
เข้าหูซ้าย…ทะลุหูขวา
วัวหาย…แล้วจึงล้อมคอก
ไม่เห็นโลงศพ…ไม่หลั่งน้ำตา
เมื่อธนาคารได้ลุกขึ้นมาบอกกับท่านที่เป็นลูกค้าและสาธารณะว่า พฤติกรรมทางการเงินของคนไทยเรานั้น อยู่ในอาการ “ออมไม่พอ…ใช้จ่ายไม่จำเป็น…ออมผิดที่…ป้องกันความเสี่ยงในระดับต่ำ”
ความรู้สึกแรกที่ผู้เขียนได้อ่านข่าวสารที่เผยแพร่ ซึ่งระบุไว้น่าสนใจว่า
ผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่
(1) มีเงินออมไม่พอใช้ สาเหตุ จากชีวิตเน้นไลฟ์สไตล์ รวดเร็ว ติด โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น แถมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำพวกสุรา บุหรี่ในสัดส่วนสูง
(2) ยังออมผิดที่ผิดทาง ป้องกันความเสี่ยงระดับต่ำ
(3) มีเงินเหลือใช้ไม่ถึง 6 เดือน เมื่อหยุดทำงาน
ท่านผู้อ่านรู้สึกจุกที่คอหอย แน่นที่หน้าอก และรู้สึกชาหน้าไหมกับผลการศึกษาที่ทำโดยผู้ให้บริการทางการเงินหลายคนจะตอบแบบมีอารมณ์ ว่า…ทำไมหรือ ก็มันชีวิตของฉัน ฉันก็อยากกิน อยากใช้ อยากซื้อ อยากเที่ยว เหมือนคนที่เขามีเงินทั่วไป คนอื่นเขาโชว์ในเฟซบุ๊กได้ ทำไมฉันจะทำไม่ได้ เมื่อเงินยังไม่มา มันก็ต้องกู้สิ ธนาคารมาเสนอบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลทำไมล่ะ เสนอขายมาแล้วก็ได้ดอกเบี้ยตั้ง 18% ได้ขายของ ขายประกันไม่ใช่หรือ แล้วจะมาว่าอะไรว่าไม่ออม ออมไม่เป็น มันก็เป็นอย่างนี้กันทั้งโลก ใครมันจะมาเก็บเงินไว้ไปกินไปเที่ยวยามแก่ กินเที่ยวมันต้องทำตอนยังมีเรี่ยวแรงสิ เที่ยวตอนแก่มันจะทำอะไรได้นอกจากนั่งบนรถ บนเรือ กับเข้าห้องน้ำ ตอนสุดท้ายถ้าเอาแบบของจริงที่ผู้เขียนเจอก็จะบอกว่า ก็เพราะใครต่อใครที่ไม่ใช่ตัวเองบริหารเศรษฐกิจไม่ดี เลยทำให้ฉันมีเงินมีรายได้ไม่พอ และการที่ฉันจะกู้ แถมก็กู้ได้ด้วยนั้น มันหนักอะไรของใครหรือ…เรื่องจริงของบทสนทนามันเป็นแบบนี้ครับ
สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมากที่สุด คือ “จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของคนไทยตลอดเส้นทางทั้งการออม การใช้จ่าย การลงทุนการป้องกันความเสี่ยง ในด้านเงินออมเราพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมพอใช้ไม่ถึง 6 เดือน จากฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน
เราแบ่งคนที่มีเงินออมเหลือจากการใช้จ่ายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมีเงินออมไม่พอมีสัดส่วนถึง 80% ซึ่งเป็นกลุ่มที่เงินออมเหลือไม่พอใช้จ่ายไปอีก 6 เดือน” จุดนี้อันตรายมากนะครับ ถ้ามันเป็นจริงดังว่า เพราะในโลกที่ไม่แน่นอนนี้ เราอาจเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ อุบัติภัย เกิดอะไรที่เสียหายได้ทุกเมื่อ ยิ่งไม่ได้มีการประกันภัย ยามฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในทุกวันทุกเดือนมันต้องมีให้ได้ ไม่ใช่ไปคิดว่าไม่มีก็รูดบัตรไปก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า (จริงๆ แล้วดาบมันอยู่ข้างหน้าและตัวเราก็ได้หยิบมาเชือดคอตนเองไปแล้ว)
ในข่าวยังระบุต่อไปอีกว่า (1) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (Gen Y) หรือ (2) กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า (Gen X) ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเงินออมไม่พอ และพบว่าคนที่มีเงินออมไม่พอส่วนใหญ่เป็นพนักงานเอกชนและจ้างงานอิสระ อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับเลยนะครับว่าเป็นห่วงตั้งแต่คนในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง ลูกหลาน พนักงานในกิจการของตน นักเรียน-นักศึกษา และคนวัยทำงาน เพราะประเทศจะขับเคลื่อนได้อย่างไร ถ้าคนในประเทศเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้ตอนอายุยังน้อย เป็นหนี้มาก เป็นหนี้นาน บริหารไม่ดี บริหารไม่เป็น และไม่คิดจะบริหาร
การขาดวินัยในการออม
การออมก่อนใช้ การคิดก่อนใช้ การแยกและจดบันทึกการใช้ การเก็บ การใช้ก่อนออม กู้ก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง ยังก่อนในเรื่องออม ยังวนเวียนไม่รู้จบ ในรายงานระบุต่อจุดที่เสี่ยงสุดๆ คือ …โดยเฉลี่ยคนไทยมีการใช้จ่าย 76% ของรายได้ต่อเดือนที่เหลือเป็นการออม 21% และป้องกันความเสี่ยง 3% และถ้าเป็นกลุ่มที่มีเงินออมไม่พอจะมีการใช้จ่ายสูงถึง 82% ขณะที่การออมลดลงเหลือ 14% ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยที่สำคัญคือ
(1) ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นความสะดวกสบายและรวดเร็ว ติดหรู เช่น ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นเน้นบรรยากาศชิลๆ
(2) มากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิตไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน และอีกประมาณ 48% เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย
ในมุมของการใช้จ่าย
(3) พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอ นอกจากจะเน้นใช้จ่ายไปกับด้านความบันเทิงแล้ว ยังมีการบริโภคสุราและสูบบุหรี่มากกว่าคนที่เงินออมพอถึงสองเท่า โดยในจำนวนเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นมีมูลค่าพอๆ กับค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างการประกันความเสี่ยงและการศึกษา
ต้องขอขอบคุณธนาคารและ คณะผู้วิจัยที่ขมวดปมออกมาได้ชัดในสามปัจจัยข้างต้น มันตรงตามเนื้อข่าวจนยากจะปฏิเสธความจริง
ขอบคุณจากใจอีกครั้งครับ