คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : “Big data กับความจริงและนโยบายที่ควรจะเป็นไป” : วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

Big data กับความจริงและนโยบายที่ควรจะเป็นไป

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในหน่วยงานในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่งานวิจัย โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยและพฤติกรรมของสถาบันการเงิน จากข้อมูลที่ได้รับเครดิตบูโร ซึ่งเป็นข้อมูลธุรกรรมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ใช้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนันแบงก์ จำนวนกว่า 90 แห่ง

สิ่งที่ค้นพบในงานดังกล่าวได้เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงว่า

1.โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อย ของไทยตั้งแต่ปี 2552-2559 มีทั้งสิ้น 65 ล้านสัญญา หรือคิดเป็นผู้กู้ทั้งสิ้นที่ 19.3 ล้านคน ครอบคลุมหนี้ครัวเรือนไทยทั้งระบบถึง 87% พบว่า ส่วนแบ่งทางธุรกิจ 60% อยู่ที่สถาบันการเงิน 6 แห่ง คือ ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และธนาคารรัฐ 3 แห่ง จากผู้เล่นในตลาด 90 กว่าแห่ง

2.นันแบงก์ มีสัดส่วนจำนวนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากที่สุดถึง 17.7% หากเทียบกับจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยหนี้เสียเฉลี่ย 41,886 บาท/คน โดยธนาคารพาณิชย์มีจำนวนผู้กู้ที่เป็นหนี้เสีย 9.7% หนี้เสียเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 122,645 บาท

3.สินเชื่อที่เป็นหนี้เสียและมีการเติบโตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ กลุ่มสินเชื่อ รถจักรยานยนต์ ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่แข่งกันดุเดือด ต้องเข้าใจว่า ตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์มีผู้เล่นคนให้กู้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนันแบงก์ และยังพบว่าสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นปริมาณสินเชื่อ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด ส่วนใหญ่จะมีคุณภาพสินเชื่อที่ต่ำกว่า หากแต่ว่าการเปิดรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอยากได้ส่วนแบ่งการตลาดของฐานลูกค้า แต่ก็ป้องกันตัวโดยมีการคิดดอกเบี้ยในระดับสูงตามค่าความเสี่ยงที่ปล่อยกู้

4.สถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้สินเชื่อมุ่งเน้นการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดไปพร้อมกับการเลือกลูกค้าไม่ได้คิดแบบเดิมๆ ที่จะเสี่ยงเอาสินเชื่อคุณภาพไม่ดี หรือเอาลูกค้าไม่ดีหรือเอาอะไรก็ได้มาเข้าไปในฐานลูกค้าของตนเอง แต่ว่า การเข้าไปแข่งมากเกินไปในการหาลูกค้า ทั้งโฆษณาการสร้างแรงจูงใจ การใช้กลยุทธ์ดึงดูดให้มาใช้บริการต่างๆ อาจทำให้สถาบันการเงินบางแห่งผ่อนเงื่อนไขหลักเกณฑ์ หรือนโยบายการบริหารความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เรื่องที่น่าห่วงคือ ไปดึงเอาลูกค้าผู้ที่สนใจจะกู้ที่ยังไม่พร้อม มีอายุน้อยไป มีรายได้ยังไม่มากนัก ที่เรียกว่าผู้กู้หน้าใหม่เข้ามาสู่วังวนคนเป็นหนี้ จนอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะถัดไปได้ จึงพบว่าในกลุ่มเป้าหมายที่มีการแข่งขันสูง ก็มักเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพสินเชื่อด้อยลงไป

5.ผลวิจัยที่น่าตกใจพบว่า ที่ผ่านมามีสถาบันการเงินเร่งเข้าปล่อยกู้ในกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยยอมแลกกับคุณภาพของสินเชื่อที่ต่ำลง จากข้อมูล พบว่าสัดส่วนจำนวนผู้กู้ที่มีหนี้เสียส่วนใหญ่อยู่ในอายุ 25-35 ปี ซึ่งมีสัดส่วน ถึง 20.2% เทียบกับผู้กู้ทั้งหมด หรือมีหนี้เฉลี่ยต่อคน 52,177 บาท/คน ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมากลุ่มผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปี สามารถเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต หรือสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด เนื่องจากมีการแข่งขันเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยก่อหนี้ หรือหาลูกหนี้หน้าใหม่มากขึ้น จนทำให้กลุ่มผู้กู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี กลายเป็นกลุ่ม ที่มีปัญหาหนี้เสียมากที่สุด

“คนที่มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่มีบัตรใบเดียว ต่างกับสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรกดเงินสดที่คนมีหลายใบ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะการให้สินเชื่อบัตรเครดิตแบงก์มีความระมัดระวังในการให้ใบที่ 2-3 อยู่แล้ว แต่สินเชื่อบุคคลผู้ให้กู้ส่วนใหญ่เป็นนันแบงก์ ซึ่งมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อน้อยกว่า ธปท.จึงค่อนข้างเข้มด้านสินเชื่อบุคคล” นักวิชาการของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ พูดไว้

6.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการกำกับดูแลไม่ให้มีการสะสมความเสี่ยงมากเกินไป จึงควรต้องออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะเรื่อง เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช้แบบยาสามัญกับทุกโรค หรือแบบ One size fits all ในลักษณะนโยบายเดียวครอบคลุมทุกสถาบันการเงิน ควรกำหนดในแบบเฉพาะเจาะจงกับบริบทของสถานการณ์ของแต่ละแห่ง

การเป็นหนี้ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่บาป เป็นหนี้ได้ เพราะหนี้ก็เหมือนไฟ หากใช้ เพื่อแสงสว่าง สร้างความอบอุ่น หุงหาอาหารก็ดีไป แต่ถ้ามากเกินไปจะเป็นไฟไหม้บ้านและอาจอันตรายถึงชีวิตได้ครับ