คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : เริ่มเห็นความหวังเรื่องหนี้สินจากมุมมองสภาพัฒน์ : วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

เริ่มเห็นความหวังเรื่องหนี้สินจากมุมมองสภาพัฒน์

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561

ได้เห็นข่าวสารของสภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้เปิดเผยออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดไตรมาส 3 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2560) ว่า

1.มีอัตราการเพิ่มที่ชะลอลง (จำนวนหนี้ที่เพิ่มวิ่งช้าลงกว่าแต่ก่อน) คือ ภาระหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% ชะลอลงจาก ที่ขยายตัว 4.2% ในช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วน 78.3% ต่อจีดีพี

2.ความสามารถในการชำระหนี้โดย รวมดีขึ้น ดูได้จากไหนหรือครับ ตัวเลขที่ น่าสนใจ คือ 2.1) สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้ NPL) ต่อสินเชื่อรวม พบว่าลดลงจาก 2.7% ในไตรมาส 3/2560 เป็น 2.6% ในไตรมาส 4 โดยลดลงในสินเชื่อเกือบทุกกลุ่ม 2.2) การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคล (หนี้ NPL) มีอัตราการลดลงถึง 16.3% ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และ 3 ที่ลดลง 15.5% และ 21.1% ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนหนี้ NPL ต่อหนี้รวมอยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้าง 2.3) สินเชื่อบัตรเครดิตที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน หรือเป็น NPL บัตรเครดิตมีอัตราลดลง 27.2% และมีสัดส่วนหนี้ NPL เท่ากับ 1.9% ของยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้าง

3.สำหรับไตรมาส 4/2560 ที่ต่อเนื่องมาภาระหนี้สินของครัวเรือนยังคง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นดูได้จากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.6% ในไตรมาส 3/2560 เป็น 6.1% ในไตรมาส 4/2560 (ย้ำว่า มีสัดส่วน 1 ใน 3 นะครับจากข้อมูลของ ผู้เขียน เนื่องจากยังมีผู้เล่นอื่นๆ เช่น non bank หรือธนาคารเฉพาะกิจ หรือเช่าซื้อ)

4.จุดเด่นคือสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 8.4% เป็นไปตามยอดขายรถยนต์ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปี ในการถือครองรถยนต์ตามอภิมหาโครงการรถยนต์คันแรก

5.ข่าวไม่ค่อยดี คือ จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่าคนเป็นหนี้ที่มีประวัติการก่อหนี้ การชำระหนี้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรที่มีอยู่ทั้งหมดทุกวัยจำนวน 29 ล้านลูกหนี้นั้น กลุ่มคนทำงานที่มีอายุประมาณ 37 ปี คือ ตอนปลาย Gen Y หรือตอนต้น Gen X ในจำนวน 100 คน ที่เป็นหนี้นั้น พบว่า มีประมาณ 20 คน ที่มีอย่างน้อยหนึ่ง บัญชีค้างชำระเกินกว่า 90 วัน คำถามคือเขาเหล่านั้นที่กำลังหาทางขึ้นมาจากบ่อหนี้จะมีสมาธิในการทำงานหรือไม่ อย่างไร

สภาพัฒน์ได้ให้ข้อมูลต่อว่า การลดลงของหนี้ครัวเรือนนั้นมาจาก 2 ส่วน คือ

1.สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น มาตรการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมและจัดโครงการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถหาข้อยุติกับเจ้าหนี้ตามความสามารถทางการเงิน ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ธ.ค. 2560 มีประชาชนคนเป็นหนี้ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทั้งสิ้น 5.54 หมื่นราย (ต้องตามไปดูต่อว่าแก้ไขได้กี่ราย)

2.มาตรการแก้หนี้นอกระบบผ่านโครงการสินเชื่อรายย่อย เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของธนาคารของรัฐนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560-31 ม.ค. 2561 โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นแกนกลางได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 2.23 แสนราย เป็นเงิน 9,915 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมายรวม 2,061 ราย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ ในปี 2561 การกู้ยืมของภาคครัวเรือนน่าจะเริ่มสูงขึ้น เห็นได้จากตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2560 สินเชื่อรถยนต์ (กู้ซื้อรถยนต์) มีเพิ่มขึ้นมากขึ้นและรวมกับความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจะทำให้ความต้องการใช้จ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่มีเรื่องของรายได้ของประชาชน น่าจะสูงขึ้นตามแนวโน้มค่าจ้างที่คาดว่าจะเพิ่มเฉลี่ย 4%

“ประเด็นของภาคครัวเรือนปีนี้น่าจะมาอยู่ที่เรื่องทางสังคม สุขภาพ คุณภาพชีวิต มากกว่าเรื่องหนี้ หรือเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

พวกเราไม่ว่าท่านว่าผมจะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องไปกันต่อนะครับ แต่พอจะดีใจขึ้นมาเมื่อเริ่มเห็นความหวังในเรื่อง หนี้สินจากมุมมองสภาพัฒน์ครับ