คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : “การจัดการสินเชื่อ SMEs น่าจะเป็นเรื่องต่อไป” : วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“การจัดการสินเชื่อ SMEs น่าจะเป็นเรื่องต่อไป”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561

บทความข้อเขียนของผมวันนี้คิดขึ้นมาจากการมองเห็นพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา นับแต่เริ่มจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี  2554 จนมาถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดกับสินเชื่อ SMEs ในระยะต่อไปผิดถูกก็ลองคิดกันนะครับ

1.หลังน้ำท่วมใหญ่เราก็มีการเร่งกู้เพื่อนำเงินมาซ่อมสร้างสิ่งที่เสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในประเทศเรา จากที่บอกว่าเอาอยู่ ท่วม กทม.30 เซนติเมตร คงท่วมไม่เกิน 3 วัน ก็กลายเป็นเดือนและท่วมถึงคอหอย

2.เรามีโครงการรถคันแรก  บ้านหลังแรก มีการยื่นขอกู้เพื่อซื้อรถยนต์กันแบบว่าในช่วงเวลาของโครงการจำนวนบัญชีที่เปิดใหม่เกิน 3 ล้านบัญชี เรียกว่าคนขับรถไม่เป็นก็ยังมีหนี้รถคันแรก

3.จากนั้นเราก็มาพบว่า อ้าว … หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้น สูงขึ้น จนจะใกล้ 85% ของ GDP ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปจะย่ำแย่ในระยะยาว หันกลับมาอีกทีอ้าวหนี้ที่คนไปกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ทะลุไปกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ย้ำว่าล้านล้านบาทนะครับ อาชีพที่ไปกู้มากคือคุณครู แล้วคุณครูยังมีอีกก้อนที่ธนาคารของรัฐ จนถึงปี พ.ศ.นี้ เวลานี้ก็กำลังชำระสะสางกันไม่สะเด็ดน้ำ

4.สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของแบงก์ชาติเราทำการศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยก็พบว่า  คนหนุ่มสาวเราเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เยอะ อาการต่อมาคือเป็นหนี้นาน ยอดหนี้ไม่ลดลงตามระยะเวลา แบบว่าอายุ 55 ปีแล้วยังมีหนี้ก้อนใหญ่ คำว่าแก่ก่อนรวย เกษียณแล้วมีหนี้ติดปลายนวมแล้วจะอยู่กันอย่างไรขณะที่คนให้กู้ก็มีโปรโมชั่น0% กู้ง่ายได้ไว เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง รูดปรื๊ดๆ  จะซื้อสุนัขฝรั่งมาเลี้ยงก็ยังมีผ่อน0%หกงวดแถมอาหารเม็ดอีก6 กระสอบ เป็นต้น ตัวเลขเวลานั้นคือคนเป็นหนี้ 100 คน มีอยู่ 16 คน ที่มีอย่างน้อยหนึ่งบัญชีที่ค้างเกิน 90 วัน และได้รับเกียรติเป็นNPL

5.ไตรมาสสามปี 2560 มีการออกมาตรการจัดการกับการก่อหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล โดยอิงกับรายได้ ใครมีรายได้ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดจะได้บัตรได้ไม่เกินกี่ใบ มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลได้เพียง 1.5 เท่าของรายได้ และจำกัดจำนวนบัญชีสินเชื่อ พร้อมกับขอร้องแบบเสียงคำรามการโฆษณากระตุ้นการก่อหนี้ให้เพลาๆ ลงมา

6.พ้นจาก 5 ปี หลังการก่อหนี้รถยนต์คันแรก หนี้ครัวเรือนก็เติบโตชะลอลงมาวิ่งช้าลงตัวเลขGDPเพิ่มมากขึ้นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก็ลดระดับลงมาต่ำกว่า 80% แต่ผู้คนก็บ่นกันว่าสภาพคล่องไม่ดีเพราะรายได้พอได้รับมาแล้วก็ต้องจ่ายหนี้ที่มารอหน้าบ้านทุกเดือน อาการเศรษฐีเงินแว็บตอนต้นเดือนเป็นกันทุกที่ไม่เชื่อก็ถามคนแถวสีลม สาทร อโศก พระรามสาม พระรามสี่ พระรามเก้า

7.และแล้วที่กลัวกันก็มาถึงคือสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวพื้นราบ  คอนโดแนวสูง แนวรถไฟฟ้า สร้างกันเยอะ สร้างกันแม้ในต่างจังหวัด กำไรของธุรกิจอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ออกมาสวยสดงดงาม นานๆ ไปคนก็เริ่มสงสัยว่าจะหาใครมาอยู่กัน ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำ  มีคนย้ายเงินฝากมาซื้อคอนโดปล่อยเช่า กะเอาค่าเช่าจ่ายค่าผ่อน แรกๆ ก็ดีตอนหลังหาคนมาเช่าได้หรือไม่ก็ไม่รู้ การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ ไม่รู้อ่านกันซึมเข้าไปในรอยหยักของสมองไหม แต่กัดฟันทำไปเพราะดอกเบี้ยเงินฝากมันต่ำจริงๆ จนทนไม่ได้  ทีนี้เรื่องเงินทอนจากการให้กู้ กู้เกิน 100% LTV สารพัดกลเกมส์ที่งัดมาก็ปะทุ โฆษณาลง FB โชว์เช็ค โชว์เงินว่าทอนจริง คนของแบงก์ชาติคงจะมาเห็นด้วยแหละครับ งานก็เข้าสิ ทั้งวิจัย ทั้งหาข้อมูล big data and big story ก็มากันจนต้องออกมาเป็นมาตรการคุมการให้กู้บ้านหลังที่สอง หลังที่สาม หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ก็ตกลงมา จะยังไงต่อก็รอชมกันต่อไป

8.จากนิยามใหม่ของ  SMEs เราพบว่ามีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านราย เป็น Micro SMEs คนตัวจิ๋วที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี เขาเหล่านั้นกู้เงินยาก หลักประกันไม่มี ขายของดีไหม ที่ขายดีก็หนีการจัดเก็บภาษีหรือไม่ พ่อค้าแม่ค้าใน FB.ในอินสตาแกรม จะทำอย่างไร ทางแบงก์ชาติก็มีแนวทางผลักดัน การให้กู้โดยอิงข้อมูลหรือ Information based lending แต่บรรดากฎหมายไทยก็ไม่เคยรู้จักคำว่าดิจิทัล เออะเอาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน Statement หรือบุ๊กแบงก์ถ่ายสำเนารับรองสำเนา eKYC ไม่รู้จัก ไม่มีในระเบียบ คืออาการแบบว่า ทำเอกสารท่องเที่ยวจะไปดวงจันทร์  แต่ในมือคือตั๋วรถ บขส.ไปบางแสน นักรบ Powerpoint เพียบไปหมด คนไม่เคยรบออกมาพูด ไอ้คนที่รู้จริงก็เงียบเพราะเบื่อ

กลับมาที่ SMEs ผมเองเชื่อว่าอีกไม่นานเราๆ ท่านๆ น่าจะได้เห็นของขวัญในด้านการส่งเสริม สนับสนุน ลด ละ เลิก กฎกติกาที่คิดกันมาตั้งแต่ปี 2540 ที่กลัวความเสี่ยงสุดขอบฟ้า เพราะถ้าไม่ทำ แล้ว Platform หรือ Tech.Fin จากปักกิ่ง หางโจว เซี่ยงไฮ้ หรือจากสิงคโปร์ คงพาเหรดเข้ามากวาดเรียบ  วันนี้หน้าตา SMEs เรามีตั้งแต่บ้านๆ ในเมือง ใน กทม. ในโลกดิจิทัล Start Up ข้างถนน ร้านเล็กร้านน้อย พวกเขาคือไทยทั้งสิ้น จะปรับตัวทันไม่ทันกับโครงสร้างการค้าขายที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ต้องลงมา ช่วยเขา เพราะเขาแบกหนี้ แบกคนงาน ไว้มากมาย ประเทศชาติจะอยู่กันไม่เกิน สิบยี่สิบตระกูลที่ทำหมดตั้งแต่รถไฟความ เร็วสูงจนถึงอาหารตามสั่งหรืออย่างไร

ทั้งหมดคือที่เห็นจากเลนส์แว่นตาผู้เขียนครับ