คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
ทุกข์คนทำเครดิตบูโรในเอเชีย
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561
เมื่อผมได้เข้าร่วมประชุมกับเครดิตบูโรเอเชีย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารเครดิตบูโรไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซียกัมพูชาอินโดนีเซียบรูไนดารุสซาลาม และประเทศไทย ที่กรุงไทเป เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวข้อในการพูดคุยของการประชุมมีความท้าทายมากๆ ดังนี้
1.ข้อมูลมีความสำคัญมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจใหม่
2.สถาบันการเงินมีความคล่องตัวน้อยลงไปทุกทีผู้กำกับดูแลเยอะไปหมดต่างจากผู้ให้บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยี (FinTech) หรือบริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาทำบริการทางการเงิน (TechFin) ที่มีความคล่องตัวสูงมาก เก็บข้อมูลได้มาก ได้เร็ว และคนที่จะมากำกับต่างก็กำลังเปิดตำราหาทางกำกับสิ่งที่อาจยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร
3.ลูกค้าวันนี้ รอไม่ได้ รอไม่เป็น บ่นทุกเรื่อง เขาจะเปลี่ยนไปใช้คนที่ตอบโจทย์เขาทันทีแบบไร้เยื่อใย
4.ความสมดุลของการเปิดเผยข้อมูล หรือการรักษาความเป็นส่วนตัวกับความเร็วในการอนุมัติดั่งใจต้องการมันอยู่ตรงไหน เพราะถ้าเปิดเผยน้อย รักษาความเป็นส่วนตัวมาก คนตัดสินใจหยิบเงินผู้ฝากมาให้คนขอกู้ก็ต้องใช้เงินใช้คนใช้ระบบมากต้นทุนก็สูงกว่าจะตัดสินใจก็นานอย่าลืมว่าDigital Lending จะสำเร็จมันต้องใช้ “ความเร็ว+ความพรั่งพร้อมของข้อมูล” และต้องเช็กให้แน่ใจว่า “คนนี้คือคนนี้” ข้อมูลที่ได้รับมานั้นถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องข้อมูลนี้มันก็จะลดต้นทุนไปได้มากเพราะคนให้กู้ไม่มีทางเชื่อคนมาขอกู้ทุกกรณี
5.การถูกรุกรานมาที่ระบบงานคอมพิวเตอร์และเทคโลยีสารสนเทศ หรือที่เราเข้าใจกันดีคือ Cyber Security เพราะทุกวันนี้ เรามีกิจการที่ถูกแฮ็กและรู้ตัวแล้วกับยังไม่รู้ตัว
6.การก่อหนี้สินของคนรุ่นใหม่(เจน Y) ถ้าเป็นหนี้เสียตอนอายุยังน้อยแล้วจะสร้างอนาคต จะไปเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้นหรือ Start Up ได้อย่างไร ทั้งที่อัตรารอดจากธุรกิจล้มเหลวของ Start Up ก็สูงมากอยู่แล้วใช่หรือไม่
สุดท้าย ระบบของเครดิตบูโรทั่วโลกเป็นแบบรวมศูนย์ข้อมูล ใช้คนกลางทำงาน แต่เทคโนโลยีใหม่มันคือตัดตัวกลางออกไป คือทำแบบ Peer to Peer สรุปว่าสถาบันการเงินคนให้กู้ยังคงต้องมี-ต้องใช้ข้อมูลเครดิตในกระบวนการตัดสินใจ แต่ตัวเครดิตบูโรนั้นจะมีหรือไม่ก็ได้ เพราะคนเขาต้องการแค่ข้อมูลเท่านั้น จงอย่าคิดว่าตัวเองน้นสำคัญจนคิดว่าไม่มีเรานั้นไม่ได้ ขีดเส้นใต้สองเส้นเลยครับ