คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก หลัง GDP เติบโต 4.8%”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561
เมื่อมีการแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ ว่าเศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตถึง 4.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราๆ ท่านๆ ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตเศรษฐกิจไทยย่ำอยู่แถวๆ 2.5-3% จนเกิดอาการที่เรียกว่า ยอมรับความเป็นจริงในระดับใหม่นี้ว่ามันคงเป็นเช่นนี้แหละ คงจะไปต่อหรือไปใหญ่-ไปโตมากกว่านี้ไม่ได้แน่ๆ
ถ้าคิดวัดกันแบบแฟร์ๆ และใช้ใจที่เป็นธรรม ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลได้นำ รัฐนาวาฝ่าคลื่นลมมาได้ดี ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เช่น ความสงบที่มีความคุกรุ่นของคนการเมืองที่ยังจบไม่ได้ คิดไม่ได้ อยากให้มีประชาธิปไตยแบบรูปแบบที่บกพร่อง หรือพวกที่ติมันทุกเรื่องแม้กระทั่งหายใจเข้าออกก็ยังบอกว่าผิด หรือปัจจัยในเรื่องการบิน ข้อกำหนดในเรื่องการค้ามนุษย์
ขณะเดียวกันในช่วงสิบปีที่ประเทศได้สูญเสียไปกับความขัดแย้ง การลงทุนที่ควรจะทำก็ไม่มี สิ่งที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ มีแต่สิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันเพื่อที่จะทำมันให้ได้ เป็นต้น
การที่รัฐบาลนี้ได้ทำในสองสิ่งตอนเริ่มต้นคือ
(1) หยุดการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการต่างๆ และบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ลำบากอยู่แล้วด้วยวิธีเติมเงินในมือเข้าไปตรงๆ แบบที่พวกเปรตหักหัวคิวมองตาปริบๆ ผ่านมาตรการเชิงสังคม
(2) วางมาตรการพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองให้มันถูกที่ถูกทาง บังคับใช้กฎหมาย จัดระเบียบสังคม ทำให้กฎหมาย คือกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นรัฐ กลับมา เพราะถ้าประเทศมีแต่เรื่องทะเลาะกัน ประท้วงกัน ตีกัน มีแต่แกนนำแกนนอน ใช้สื่อห้ำหั่นกัน คงไม่มีใครเดินฝ่าเปลวควันในเมืองกรุงมาช็อปปิ้งแน่นอน
ทีนี้ เวลานี้ เรามายืนตรงที่ตัวเลขการเติบโต 4.8% โดยที่สำนักต่างๆ กำลังทบทวนตัวเลขทั้งปีของปี 2561 ใหม่ว่าจะไปถึงเฉลี่ยทั้งปี 4.5% ได้หรือไม่ หนทางมันไม่สวยหรู แต่มันเป็นเรื่องต้องเดินผลักดันกันไปให้ได้ สิ่งที่ผมอยากชวนคิดในระยะต่อไปก็คือ
1.ประเทศเราจะเดินหน้าไปด้วยคนที่มีคุณภาพแบบใดที่มันจะเกิด ความมั่นคง สามารถสร้างความมั่งคั่ง และมีความยั่งยืน จะหล่อหลอมเด็ก วันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าด้วยการศึกษาแบบนกแก้วนกขุนทองอีก หรือ กระบวนการศึกษาที่พัฒนาความหลากหลายในตัวเด็กที่มีศักยภาพ ขาดศักยภาพ ยากดีมีจน อยู่ในภูธร นครบาลจะทำกันอย่างไร
2.รูปแบบทางธุรกิจที่จะทำแล้วไปรอด แข่งได้ ขายได้ สู้ได้กับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ อะไรคือสภาพแวดล้อมที่ดี อะไรคือระบบนิเวศน์ที่ดีที่จะสนับสนุนให้มนุษย์ไทยตัวเล็กตัวน้อยสามารถจัดตั้งธุรกิจด้วยต้นทุนที่ถูก มีบัญชีที่ถูกต้อง ยอมรับกติกาเรื่องภาษีว่าต้องเสีย ขณะเดียวกันมันมีความแตกต่างทั้งส่วนที่เป็น Online และ Offline ที่กฎระเบียบต้องออกมารองรับแบบไม่สร้างปัญหา โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจที่จะทุจริตได้
3.ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ประเทศ จะต้องมีแบบใด ประเภทใด อยู่ตรงใด ส่งเสริมแบบไม่ผูกขาด ให้สิทธิประโยชน์แต่ไม่ถึงขั้นเอาเปรียบ ตีกินได้ การจะทำอะไรช้า-เร็ว หนัก-เบา ผมเชื่อว่าด้วยแนวคิดภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกัน ไม่ถือเขาถือเรา เข้าใจกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา มันก็จะออกแบบออกมาได้ เช่น เรื่อง New S-curve industry เป็นต้น
4.การจัดการและบริหารคลื่นลมในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีดีกรีความต้องการมีส่วนร่วมในการจัดสรรปันส่วนอำนาจการบริหารบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นคนน้อยเสียงดังฟังแล้วมีเหตุผล หรือพวกคนน้อยอยากดัง ฟังแล้วอารมณ์เสีย หรือพวกแก่พรรษาออกล่าประเด็น แต่เวลาเป็นก็สุมหัวโกงกิน ไม่เคยได้ยินเสียงประชาชน หรือพวกดีแต่พูด พูดเก่ง พูดเพราะ รู้ทุกเรื่อง ไม่รู้อยู่เรื่องเดียวว่าทำอย่างไรจะชนะการเลือกตั้งให้ได้เสียงมากพอเข้ามาบริหารประเทศ ท้ายสุดคือพวกเวลาลงเล่นก็เป็นหมู (สนาม) แต่เวลาดู พูดได้แบบเป็นเซียน เรื่องนี้นานาจิตตังนะครับ
ผมคงทำได้ในฐานะคนทำงาน คือ ทำงานในหน้าที่ตัวเองทุกวันให้ดี ให้เหมาะ ให้ควร และทุกวันทุกเช้า ให้ถามตัวเองว่าเรามีหน้าที่อะไร อะไรที่ไม่ใช่หน้าที่เรา อย่าไปขายเผือก (ภาษาคนสมัยนี้) ก็พอแล้ว