คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
P2P Lending ในฐานะคนกลางด้านข้อมูล
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ 11 ธันวาคม 2560
ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ประมาณปลายปี 2558 ที่ได้มีการจัดประชุมหารือของผู้คนในแวดวง FinTech โดยภาคทางการก็ระบุว่าต้องการสนับสนุนให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาหรือหลอมรวมกับบริการทางการเงินในทุกมิติ เพื่อไปตอบโจทย์ความต้องการ หรือไปขจัดจุดที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบัน ผลจากการตื่นตัวและพูดคุยกันในอดีตหลายที่หลายเวทีก็มีประเด็นว่า การที่ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบปัจจุบันได้ดีพอนั้น มันมีอะไรที่จะสามารถเอาบริการจาก FinTech มาตอบคำถามนี้ได้ไหม มันก็มีคนเสนอว่าในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ได้ริเริ่มใช้บริการที่เรียกว่า P2P Lending หรือ Peer to Peer Lending Platform มา ตอบโจทย์ไหม ประเด็นสำคัญก็มีว่า
(1) มีสมมติฐานเรื่องการปล่อยกู้ P2P ให้กับ SME ว่าทำไมจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุเดิมๆ ที่กล่าวกันคือ SME เป็นกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินปัจจุบันได้ค่อนข้างยากกว่ากลุ่มอื่น เพราะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง SME ไม่ค่อยจะมีสิ่งนี้ หากแต่ว่าตัวของ SME ทั้งหลาย เป็นกลุ่ม ที่สำคัญในระบบที่ช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีความเชื่อต่อมาว่าการให้กู้ P2P จะเป็นรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่ได้ผลค่อนข้างดีและความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยแบบ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่ไทยกำลังทำอยู่ โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ที่ 2-3%
(2) รูปแบบการปล่อยกู้แบบ P2P ของกลุ่ม SME จะเริ่มจากผู้กู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนหรือสินเชื่อจะเข้าไปประกาศตัวใน Platform จากนั้นจะมี FinTech ที่เป็นตัวกลางคือ Operator Platform เข้ามาจัดการประเมินความน่าเชื่อถือของ SME (กระบวนการน่าจะเหมือนกับธนาคารทำกัน) จากนั้นจะแบ่งเกรด SME เป็นระดับต่างๆ เช่น เกรดดี เกรด AA อัตราดอกเบี้ยถูก จนไปถึงเกรดที่เสี่ยงมากก็คิดอัตราดอกเบี้ยเพดานที่ 15% หรือออกเกรดที่เสี่ยงสูงมากๆ Platform นี้ ก็จะมีนักลงทุนที่มีเงินเหลือ เงินเยอะ สนใจเข้ามาศึกษาจนพอใจจนตัดสินใจร่วมกันปล่อยกู้โดย Platform Operator ก็จะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งจากผู้กู้และผู้ลงทุนทั้งสองข้างนั่นเอง
(3) เรื่องที่ต้องคิดหาคำตอบให้ได้ก่อนมีดังนี้
3.1 กระบวนการพิสูจน์ว่าคน ขอกู้ มีตัวตนจริง มีธุรกิจจริง ไม่ใช่มนุษย์ที่จะมาต้มตุ๋นคนนั้นใครทำ ใครรับผิดชอบเพราะในโลกความเป็นจริงคนขอกู้ฉ้อฉลเองตามลำพังคน ขอกู้ ร่วมกับ Platform ร่วมกันฉ้อฉลคนขอกู้ร่วมกับผู้ลงทุนบางรายหลอกคนที่เหลือ มันเกิดขึ้นได้หมด เราท่านก็เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ใช่ไหม
3.2 ความรับผิดชอบในสัญญา กู้ยืม เพราะตัว Platform Operator ไม่ใช่คู่สัญญาระหว่างคนกู้กับนักลงทุน เพียงแต่ตัวเองเป็นแม่สื่อดิจิทัลให้มาเจอกัน หากใครเบี้ยวสัญญาแล้ว อะไรคือกลไกรองรับ หรือให้ไปว่ากันเอง
3.3 ใครมีหน้าที่ไปเก็บหนี้ เอามาส่งต้นและดอกให้กับผู้ลงทุน ทุกวันนี้เราๆ ท่านๆ ก็รู้ว่าการตามหนี้ การทวงหนี้ มันยากไหมในหมู่การหยิบยืมกันไม่ว่าวงแชร์ ไม่ว่ากู้กันเอง เช่น โครงการที่ขอกู้ได้เงินไปแล้วใครจะติดตามความก้าวหน้าโครงการที่เราเรียกว่า การบริหารเงินกู้การบริหารโครงการภายใต้เงินกู้หรือการติดตามให้เป็นไปตามสัญญาเงินกู้
เมื่อคิดเรื่องนี้ทำให้ผมไปนึกถึงการตั้งวงแชร์ของคนสมัยก่อนสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงธนาคาร (Unbank) ที่พวกเขาจะใช้หลักการถ่ายเทเงินเหลือเงินขาด (Saving/Investment) ในแวดวงของคนที่เขารู้จัก (KYC/CDD) ผ่านการบริหารจัดการของเท้าแชร์ (Platform Operator) ที่จะทำหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมกินโต๊ะแชร์กันทุกเดือน (Information Update) โดยเท้าแชร์คือคนที่ดูแลให้ระบบราบรื่นตลอดจนทำตัวให้เป็น Trust Agent แม้ไม่มีกฎหมายใดเข้ามายุ่ง ระบบมันก็เดินไปได้ ไม่ต้องไปออกประกาศ Market Conduct มากำกับพฤติกรรมอะไรเลย หลังสุดนี้ผมเห็นพวกเค้าก็แค่เอาโทรศัพท์มือถือมาโอนเงิน PromptPay ก็จบแล้ว ไม่ต้องใช้เช็คกันแล้ว ถ้าวงไหนใช้ เช็คแสดงว่ายังต้องการเอากฎหมายอาญาผ่านการชำระหนี้โดยเช็คมากำกับอีกชั้นหนึ่ง
เว่อร์วังอลังการไปกับเทคโนโลยีมากๆ ก็ทำให้หลงได้นะครับว่ามันดี มันเลิศ เอาแบบบ้านๆ ดีหรือไม่ เพราะจะทันสมัยอย่างไร สังคมเราส่วนหนึ่งก็ยังไม่พ้นชอบขูดต้นไม้ใหญ่ ไหว้สัตว์ที่เกิดมาผิดปกติ เข้าวัดทำบุญ เพื่อไปหาเลขเด็ด ซื้อหวย พอถูกรางวัล ก็มาเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของ… จบข่าว