บทความเรื่อง ‘ไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ’ หายนะทางการเงิน : businesstoday วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

‘ไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ’ หายนะทางการเงิน

ขวัญชนก วุฒิกุล BTCOLFIN1

https://businesstoday.co/columnist/10/02/2020/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A/?fbclid=IwAR1IxMX0TicWlHHrccdLJNgsu7doob-OWNXzmh7a1gTg9tsxSLqIDEfmcWQ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

ลูกหนี้คนล่าสุดที่เพิ่งให้คำแนะนำไป เป็นพนักงานออฟฟิศที่มีประสบการณ์ หนีหนี้ มาเป็นเวลาสิบปี เริ่มต้นจากตอนที่เธออายุ 18 ปี เริ่มทำงานเป็นครั้งแรก ได้รับเงินเดือน 8,000 บาท ด้วยระดับเงินเดือนขนาดนี้ยังไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ เธอจึงทำบัตรเงินสดสำหรับกดเงินสดมาใช้จ่าย โดยเธอใช้วิธีทำบัตรหลายใบ จากนั้นก็กดเงินสดออกมาเป็นก้อน แต่ละครั้งกดเป็นหลักหมื่น ก่อนจะนำมาทยอยใช้เที่ยวกลางคืน โดยจะใช้ครั้งละ 1,000-2,000 บาทแบบนี้ทุกคืน เธอเริ่มสร้าง หนี้ แล้ว

เธอยอมรับว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ตามประสาเด็กที่ไม่เคยมี พอเริ่มมีก็ไม่ได้คิดยับยั้งชั่งใจ

เธอใช้ชีวิตแบบนี้ และใช้หนี้ด้วยวิธีกดเงินสดจากบัตรนึงไปใช้หนี้บัตรอีกใบนึง หมุนวนอยู่แบบนี้จนสุดท้ายหมุนไม่ออก ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ซึ่งวงเวียนชีวิตแบบนี้ใช้เวลายาวนานถึง 7 ปี จนกระทั่งเธออายุครบ 25 ปี มียอด หนี้ จากการกดเงินสดรวมๆ แล้ว 7-8 หมื่นบาท

หลังจาก หมุนไม่ออก’ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ เธอเล่าว่า ถูกกดดันจากเจ้าหนี้ทุกทาง ทั้งโทรมาทวงที่ออฟฟิศถี่ๆ โทรไปที่บ้าน ส่งจดหมายมาทวง หนี้ ฝากข้อความถึงเพื่อนร่วมงาน (เพราะตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เหมือนปัจจุบันนี้) ทำให้เธอได้รับความอับอายสารพัด ช่วงนั้น เธอขอให้ทางบริษัทส่งไปทำงานต่างจังหวัด ย้ายที่อยู่หนีเจ้าหนี้ไม่ให้ตามเจอ เมื่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก็ใช้วิธีเพิกเฉย และ หนีหนี้ ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 10 ปี จนเธออ้างว่า ประวัติ การเบี้ยวหนี้ ของเธอในเครดิต บูโร เปลี่ยนสถานะเป็น ‘ปกติ’ เธอก็เริ่มทำธุรกรรมทางการเงินครั้งใหม่ด้วยการกู้เงินซื้อบ้าน ซึ่งแบงก์ก็อนุมัติสินเชื่อ

ฟังดูเหมือน ‘เริ่มต้นร้าย’ และ ‘ลงท้ายดี’ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ก็ต้องบอกว่า เธออาจจะเป็นลูกหนี้เพียงไม่กี่คนที่ ‘โชคดี’ ที่กู้เงินมาใช้ฟุ่มเฟือย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ หนีเจ้าหนี้และกลับมาก่อหนี้ใหม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม แต่ไม่ใช่ทุกคนจะ ‘โชคดี’ แบบนี้ โดยเฉพาะคนที่เจ้าหนี้ตามจนเจอ และถูกฟ้องบังคับหนี้จนหมดอนาคตทางการงานและการเงิน

ความน่ากลัวของลูกหนี้รายนี้ ไม่ใช่แค่ ‘ไม่มีวินัย’ แต่ยัง ‘ไม่มีความรับผิดชอบ’ อีกด้วย เป็นสองคำที่นำมาซึ่งหายนะทางการเงินอย่างแท้จริง

เริ่มต้นจาก ความไม่มีวินัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการใช้จ่าย จากเด็กผู้หญิงวัยเพียงแค่ 18 ปีกับเงินเดือน 8,000 บาท ถ้ามีวินัยทางการเงินจริงๆ เธออาจจะมีเงินเก็บเหลือสำหรับออมด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องของการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดใช้จ่ายไม่ได้เลย แต่การใช้เงินสำหรับเที่ยวกลางคืนทุกคืนตลอดเวลาหลายปีนั้น เป็นเรื่อง ‘เกินเลย’ ไปมาก

การสร้างวินัยในการใช้จ่าย เท่ากับการสร้างหลักปักฐานให้การใช้ชีวิตในอนาคตมีความแข็งแกร่ง รองรับกับความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามามีผลกระทบได้

ส่วน ความรับผิดชอบ สำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เป็นหนี้ก็ต้องใช้ หนี้ ต้องนึกถึงเวลาที่เราเดือดร้อน ต้องการใช้เงินในเรื่องที่จำเป็น แล้วต้องไปหยิบยืมเงิน ไม่ว่าจะจากคนรู้จัก หรือจากสถาบันการเงิน ถ้าเขาไม่ให้กู้ คนที่เดือดร้อนก็คือเรา

ความรับผิดชอบเป็นเรื่องของเครดิต เป็นเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อย่าไปคิดสั้นๆ แค่เรื่องเฉพาะหน้าว่า ก็ยืมแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวแหละ เพราะไม่มีใครรู้อนาคตว่า เราจะมีเรื่องต้องใช้เงินโดยที่ไม่มีเงินอีกหรือไม่

เคยมีคนที่เดือดร้อนเพราะ “เบี้ยวหนี้” แบบไม่ตั้งใจ เพราะละเลยและหลงลืม เงินแค่ 2,000 บาท ทำให้เขาไม่สามารถทำธุรกรรมซื้อบ้านให้แม่ เพราะตัวเองเคย “เสียประวัติทางการเงิน” และประวัตินั้นปรากฏในข้อมูลเครดิต บูโร ลูกหนี้คนนี้เคยบ่นว่า เงินแค่ 2,000 บาท เป็นเงินจำนวนเล็กน้อย ไม่น่าใช่เรื่องใหญ่ ก็ต้องคิดในทางกลับกันว่า คนจะปล่อยกู้เห็นแบบนี้ก็ต้องคิดหนักว่า “เงินแค่ 2,000 บาท ยังเคลียร์ไม่ได้ แล้วจะแบกภาระเงินกู้ที่มากกว่าไหวหรือ

หลังจากปิดหนี้ค้างชำระ 2,000 บาทเรียบร้อย ก็ไม่ใช่ว่าจะกู้ได้ทันที เพราะข้อมูลในเครดิต บูโร ยังค้างอยู่ แนะนำให้เขาติดต่อกับเครดิต บูโร เพื่อหาทางเคลียร์ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะจบเรียบร้อย เพราะหลังจากนั้น เขาก็ไม่ได้ส่งข้อความอะไรมาบอกอีก

เห็นมั้ยว่า ถ้าเรามีคำสองคำนี้ คือ มีวินัยในการใช้เงิน และมีความรับผิดชอบในการใช้หนี้ ก็ไม่มีอะไรต้องเดือดร้อน โดยเฉพาะปัญหาทางการเงิน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : มาตราการใหม่ คลินิกแก้หนี้ ลดภาระลูกหนี้ สารพัดวิธี “ ลดดอกถึง0% จ่ายงวดต่ำ-ตัดเงินต้น”

ขณะนี้แบงก์ชาติ เปิดทางให้ “โครงการคลินิกแก้หนี้” เดินหน้าเฟส 3 ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือดูแลประชาชนที่มี หนี้ บัตรได้ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มโดยมีเงื่อนไขดังนี้

1.เปิดรับแก้ไขหนี้บัตรสำหรับคนที่มีเจ้าหนี้รายเดียว

2.เปิดรับหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว หรือเป็น“คดีแดง”  เพิ่มจากเดิมรับเพียงคดีดำ และลูกหนี้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เท่านั้น

3.ขยายเวลารับลูกหนี้บัตรที่เป็นNPL หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563 แบบว่าลูกหนี้ที่เพิ่งเสียใหม่ปีที่แล้วก็มาใช้บริการได้