คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : มุมมอง​ที่เฉียบคม คำถาม​ที่โดนใจ​ รอคำตอบกลับมาที่ว่าใช่…: วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

มุมมอง​ที่เฉียบคม คำถาม​ที่โดนใจ​ รอคำตอบกลับมาที่ว่าใช่… 

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับรู้และรับฟังการให้ความเห็น​ การให้ข้อคิด​ เกี่ยวกับเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย​ นักคิด​ นักวิชาการ​ นักธุรกิจ​ และผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงินของประเทศ​ ในเรื่องภูมิทัศน์ใหม่ในระบบการเงิน​ แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์​ของการแพร่ระบาด​ไวรัส Covid-19​ การปรับตัวอย่างรวดเร็วไปสู่การเงินดิจิทัล​ การปรับตัวของธุรกิจและผู้ใช้บริการ​ สภาพแวดล้อม​ทางเศรษฐกิจ​ สังคม​ และอาจรวมไปถึงการเมืองที่ดูเหมือนจะเป็นอยู่อย่างแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป​ ในการรับฟังข้อมูล​ที่นำเสนอ​ และการบรรยายความของผู้รู้ตัวจริงที่ธนาคารกลางได้เชิญท่านเหล่านั้นมาให้ความเห็นแบบที่สาธารณชนอย่างผู้เขียนก็เข้าไปฟังได้นั้น​ ต้องขอขอบคุณ​ในความใจกว้างและการทำงานแบบโปร่งใสขององค์กรที่กำกับระบบการเงินไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก​ ประเด็นที่สะดุดใจผู้เขียนมาจากการให้ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์​ที่ผันตัวเองไปดำเนินธุรกิจที่มีทั้ง​ E-commerce Game Online และ Financial services provider และอื่น ๆ อยู่ใน​ Platform ที่มีผู้ใช้บริการในหลายประเทศ​ มุมมองที่ใช้ข้อมูล​ที่หลากหลายในสายตาคนหนุ่มแบบสากลที่มองมายังโจทย์​ภูมิทัศน์ใหม่ดังกล่าว​นั้นแหลมคมมาก ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านได้เข้าไปติดตามข้อคิด​ ความเห็นของ​ ดร.สันติธาร​ เสถียรไทย​ในเรื่องดังกล่าว​แบบเต็ม​นะครับ​ ย้ำว่าท่านที่สนใจเรื่องนี้ต้องเข้าไปอ่านนะครับ

ในส่วนที่ผู้เขียนใคร่ขอยกมานำเสนอในบทความนั้น​ เป็นส่วนที่ ดร.สันติธาร​ ได้กล่าวไว้ถึง​ ช่องว่างทางการเงินที่เรา (ผู้เขียนหมายถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงคนที่เกี่ยวข้องแต่พยายามบอกว่าตนไม่เกี่ยวด้วยนะครับ)​ จะต้องอุดหรือปิดช่องว่างนั้นมันมีอยู่ตามความเห็น​ 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่หนึ่ง : ช่องว่างที่มีตั้งแต่เมื่อวาน คือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการการเงินมานานและวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ แม้คนไทยส่วนใหญ่จะมีบัญชีธนาคารแล้วต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ แต่การเข้าถึงบริการการเงินอื่น เช่น สินเชื่อ การลงทุน ประกันยังจำกัดอยู่มากและมักกระจุกตัวในคนไม่กี่กลุ่ม​ เช่นในรายงาน Financial Landscape ของ ธปท. เองก็พูดถึงว่า ผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าร้อยละ 60 เข้าไม่ถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบหรือมีประวัติทาง การเงินไม่มากพอ

ประเภทที่สอง : ช่องว่างใหม่ของวันนี้ คือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างคนกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีความต้องการบริการใหม่ ๆ ที่ระบบการเงินปัจจุบันอาจตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่ เช่น ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ คนทำงานฟรีแลนซ์ อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ที่อาจจะเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะขาดสลิปเงินเดือน หรือ ประวัติการเงิน หรือนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการด้านการลงทุนแตกต่างจากเดิม

ประเภทที่​สาม : ช่องว่างของวันพรุ่งนี้ คือ ความต้องการทางการเงินในอนาคตที่เรายังไม่รู้ในวันนี้ อาจจะเป็นเรื่องการระดมทุนเพื่อช่วยปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Finance) อาจเป็นบริการการเงินสำหรับอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดจาก Web 3.0

มุมมอง​ที่เฉียบคม คำถาม​ที่โดนใจ​ รอคำตอบกลับมาที่ว่าใช่…เพราะเหตุว่า​ SMEs ในวันนี้สิ่งที่พวกเขาต้องการเป็นภาษาง่าย ๆ​ จากตอนที่ผู้เขียนมีส่วนในการระดมสมองทำแผนส่งเสริมฉบับล่าสุดก็คือ​ 

1.อยากอยู่ให้รอด​ 

2.มีความรู้ (ความรู้ในยุคโลกของโควิด-19)​

3.กู้เงินได้ (ย้ำว่ากู้ได้จริง ๆ​ ไม่ใช่กู้ทิพย์​ เพราะอยู่ในระบบอยู่แล้วแต่มันเจอเงื่อนไขว่าถ้าเคยมีบาดแผลเช่น เคยค้างชำระมาในบางเดือนแต่ปัจจุบันเคลียร์​ไปแล้ว เป็นต้น)​ 

4.ขายของดี (ช่วยหาพื้นที่ขายของให้​ หรือมีพื้นที่​ Cyber​ space สำหรับการขายของให้)​

5.มีชีวิตที่ยั่งยืน​ คือรอดจากโควิด​-19 หรือว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วมีมาตรการรองรับ​ ช่วยเหลือได้จริง​ 

ส่วนเรื่องการเงินดิจิทัล​ ผู้เขียนเห็นประเด็นหนึ่งเล็ก ๆ แต่สำคัญก็คือ​ การไปกำหนดมาตรฐานว่าตอน​พิสูจน์​และยืนยันตัวตนหรือ​ eKYC ครั้งแรก​สำหรับการให้บริการแบบไม่พบเห็นต่อหน้า ถ้าบุคคลนั้นยังไม่เคยไป​ dip chip บัตรประชาชนที่ไหน​ ก็ต้องไปทำก่อนครั้งแรก​ เพื่อเอาภาพในชิปมาเทียบกับข้อมู​ลตัวเป็น ๆ เช่น​ ใบหน้าตอนนั้น​ หรือลายนิ้วมือตอนนั้น​ เป็นต้น​ มันทำให้เกิดอุปสรรค​ (Pain point) สำหรับบางกิจการที่มีเครือข่ายน้อย​ พอจะต้องทำเรื่อง dip chip ก็ต้องเสียเงินไปจ้าง​ Agent​ ให้รองรับทำเรื่องนี้ผลคือ​ Transaction สูงมาก ๆ​ สูงจนเป็นนัยสำคัญ​สำหรับการให้กู้วงเงิน​ 5,000 บาท เป็นต้น​ เรื่องพวกนี้มันเป็นจุดเล็กจุดน้อยแต่สร้างอุปสรรค​ใหญ่มาก​ ในวงประชุมอย่าเอาแต่เอะอะ​ รีบสรุป​ เอาแบบ​ High level ดูแต่​ powerpoint สวย ๆ​ เลยครับ​ ฟังคนทำงานให้มาก​ ฟังและคุย​ ถามแล้วคิด​ ช่วยกันหาทางออกแบบ​ จาง​ อี้ โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์​ชาวจีนตอนเขาและคณะออกแบบงานเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวของประเทศจีนนะครับ​ เรามีมุมมอง​ที่เฉียบคม คำถาม​ที่โดนใจ​ เราทั้งหลายกำลังรอคำตอบกลับมาที่ว่า​ ฟังแล้วมันใช่เลย… 

ขอบคุณ​ทุกท่านนะครับ