คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : ไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด​ มีแต่ทางออกที่พอทำได้ในสถานการณ์​ : วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565

ไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด​ มีแต่ทางออกที่พอทำได้ในสถานการณ์​
บทความวันนี้ของผู้เขียนเริ่มลงมือในยามแดดร้อนระอุ​ อันเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศไทย​ อากาศ​ยามแดดแผดเผาผู้คนที่ตั้งหน้าตั้งตา​ทำมาหากินในตลาดสด​ ตลาดของกิน​ ที่คลาคล่ำ​ไปด้วยคนซื้อคนขายที่เจรจาพาทีกันแบบกล้า ๆ กลัว ๆ​ จะหยิบจะจับ​ จะส่งอะไรให้กันดูมันต้องระแวงระวังกันไปหมด​ ด้วยเหตุว่ากลัวติดเชื้อโควิด-19 กัน​ เมื่อผู้เขียนได้ลองเข้าไปพูดคุยผ่านหน้ากาก​ ก็ยิ่งได้คำตอบว่า​ เวลานี้มีความตั้งใจทำงานมากกว่าแต่ก่อนมาก ๆ​ แต่รายได้มันก็ยังไม่กลับมา​ น้ำมะม่วงน้ำมะพร้าว​ ของกินแสนอร่อยที่เคยขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีนแบบเข้าคิวยาวเหยียดกลับต้องมาตั้งตารอชาวบ้านชาวเมืองคนไทยลองลิ้มชิมรสกันแบบแห้ง ๆ​ มันช่างวังเวงใจจริง ๆ​ 
พอได้อ่านข่าวการให้ข้อมูล​ของท่านเลขา​นุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ​ กนง. ได้ให้ข้อมูล​กับสื่อมวลชนว่า​ “…. กนง. ยังให้ความสำคัญกับการติดตามปัจจัยที่อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น และส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังสินค้าอื่น ทั้งยังต้องติดตามความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ…” เมื่อผ่านการคิดแบบชาวบ้านก็คิดต่อได้ว่า​ ถ้าการระบาดด้วยสายพันธุ์​ที่ติดง่ายแบบนี้​ การจะกลับไปปกติ​ เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาคงยาก​ เพราะถ้านักท่องเที่ยวจีนเจอนโยบายของเขาคือ​ Zero COVID-19 เขาจะมาเมืองเรา​ เที่ยวเสร็จ​กลับเมืองเขา​ เขาจะไหวเหรอ​ ถ้าเป็นแบบนี้คงยากที่เขาจะมาเที่ยว​ มากินน้ำมะม่วง​ น้ำมะพร้าวบ้านเรา​ พออ่านต่อก็เจอเรื่องมีศึกสงครามที่ต่างบ้านต่างเมือง​ น้ำมันจะแพงขึ้นไปอีกไหม นี่ก็ใกล้​ 2 ลิตร​ 100 บาทแล้ว​ ต้นทุนข้าวของจะพุ่งไปอีกไหม​ ถ้ามันเพิ่มเยอะทุกสิ่งอย่าง​ เงินจะพอเหลือเก็บ​ เหลือไปใช้หนี้ไหม หนี้พวกนี้มันก็มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว​ ถ้าเกิดปรับโครงสร้าง​หนี้​ ปรับตารางการชำระหนี้​ไปแล้ว​ จะทำได้อีกไหม​ ส่วนพวกที่เป็นลูกจ้าง​ เป็นมนุษ​ย์เงินเดือนกับกิจการ​ บริษัท​ ห้างร้าน​ ด้วยสถานการณ์​แบบนี้​ จะเจอการเลิกจ้างอีกหรือไม่​ ถ้าเจอเข้าไป​ ก็คือไม่มีรายได้​ พอไม่มีรายได้เแล้ว​ เรื่องร้าย ๆ มันจะทยอยมาหาแบบไม่หยุดอย่างแน่นอน​ สถานการณ์​แบบนี้คือ​ ยุคข้าวยากหมากแพง​ โรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น​ มิเห็นที่พึ่งพาจะอาศัย (ใครได้)​ ตอนสงครามโลกจบลงหมาด ๆ​ เราก็เจอไข้หวัดสเปน​ ตายกันเป็นเบือ​ คนสมัยก่อนก็ใช้วิธีทิ้งเมืองหนีโรค​ คนสมัยนี้มันจะทิ้งบ้านไปไหน​ ใช่ว่ามันจะอยู่ได้จริง ๆ ในโลก​ Metaverse อย่างที่จินตนาการกันไว้​ 
อ่านข้อมูลต่อก็ชอบตรงที่​ ท่านเลขานุการ​ กนง. ระบุว่า​  “….. อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองเป็นภาวะเงินเฟ้อหรือของแพง แน่นอนว่า ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้สอยสินค้าและบริการเหล่านั้นล้วนได้รับผลกระทบ หรือถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าอัตราเงินเฟ้อไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 – 3% ต่อปี ถือว่าไม่สูงมาก แต่ก็ล้วนเป็นภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย...” ผู้เขียนชอบตรงที่ท่านระบุว่า​ ของแพงขึ้นมันเป็นภาระค่าครองชีพ​ คนที่โดนมากสุดคือคนมีรายได้น้อย​ สำหรับบางท่านที่ชอบการอธิบายว่าเงินเฟ้อเพิ่มนิดหน่อยมันไม่กระทบนั้น​ หากมองในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ​ เรื่องฐานะที่แตกต่าง​ เรื่องของความสามารถ​ในการรับแรงกระแทกมันไม่เท่ากัน​ก็จะพบคำตอบว่า​ ทุกเรื่องเวลามันมา​ คนรายได้น้อยโดนก่อนเสมอ​
ตามข้อมูลกันต่อก็จะอ่านพบว่า​ท่านได้ระบุถึงประเด็นสำคัญว่า​ “… กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดถึง 3 เด้งด้วยกัน 
เด้งแรก ครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายในหมวดนี้เพียง 26% 
เด้งที่สอง กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมากทำงานในกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างเปราะบาง เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว หรืออาชีพอิสระ ซึ่งรายได้ยังไม่ฟื้นตัวมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น สัดส่วนของภาระค่าใช้จ่ายเทียบกับรายได้จึงสูงขึ้นเป็นพิเศษสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 
เด้งที่สาม ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักมีหนี้สินค่อนข้างสูง จึงมีความเปราะบางและภาระค่าใช้จ่ายมากกว่า.. “สรุปคือกลุ่มรายได้น้อยนั้น​ ค่าใช้จ่ายเพิ่ม​ รายได้ยังไม่มาหรือยังไม่แน่นอน​ แถมมีหนี้เยอะ​” 
ดังนั้น​ การแก้หนี้โดยยืดออกไปแบบให้มีภาระน้อยเช่นลดดอกเบี้ยลง​ เลี้ยงงวดให้ยาว​ ตอนชำระให้เข้าเงินต้นบางส่วนไม่ใช่จ่ายแต่ดอกเบี้ย​ ตัดแนวขวาง​ อย่าเพิ่งฟ้องร้อง​ ดำเนินการตามกฎหมาย​ ไม่มีคือไม่มี​ พยายามอยู่​ ไม่คิดหนีหนี้หรือหนีหน้า​ แต่คือไทยด้วยกัน​ ขยี้กันเวลานี้มันมีแต่เจ็บทั้งลูกหนี้เจ้าหนี้​ พูดจาภาษาคนอย่าพูดจาภาษากฎหมาย​ สร้างมหกรรมมาคุยกัน​ ไม่ใช่เออะก็จะฟ้อง​ มันก็ทะเลาะกันในที่สุด​ คนที่คิดเรื่องตัดหนี้แนวขวาง​ เข้าเงินต้นบ้างไม่ใช่ดอกเบี้ยอย่างเดียว​ คิดดอกเบี้ยผิดนัดตามสมควรไม่ใช่ตามอำเภอใจ​ การผิดนัดให้ผิดนัดในงวดที่ค้างชำระ​ ไม่ใช่เอายอดคงเหลือทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยผิดนัด​ เงินกู้หักหน้าซองดอกเบี้ยที่คิดต้องถูกเพราะเสี่ยงต่ำกว่า​ ผู้ค้ำต้องค้ำแบบปลายปิดไม่ใช่ปลายเปิด​ เรื่องพวกนี้​ มันต้องใช้คนคิดที่เป็นกบฎต่อระบบเดิม​ มองจากนอกเข้าไปข้างใน​ คุยกับคนเห็นตรงเห็นต่างมากมาย​ ความคิดแบบนี้คือ​ critical thinking ที่เราอยากได้ในองค์กร​ไม่ใช่หรือ​ มันสำคัญที่ว่าเรื่องดี ๆ ที่ช่วยคนได้จริง (De facto) ไม่ใช่ช่วยคนด้วยจำนวนที่ไม่มีชีวิตใน​ power point ใน​ excel หรือ​ใน infographics สีสวย ๆ​ มันคือเป้าหมายสุดท้ายใช่หรือไม่
เติ้ง​ เสี่ยว​ ผิง​ เคยระบุว่า​ แมวจะสีอะไร​ ไม่สำคัญ​ ขอเพียงจับหนูได้​ เป็นใช้ได้​ เราจึงเห็นจีนผงาดขึ้นมาทั้งที่เคยถูกดูถูก​ว่า​ เป็นคนป่วยของเอเชีย​ ถ้าเราชอบแต่แมวที่เคล้าแข็งเคล้าขาน่าเอ็นดู​ แต่กินเจ​ ปล่อยหนูเพ่นพ่านก่อให้เกิดโรคระบาดเชิงอุปถัมภ์​ จนติดกันแต่ไม่แสดงอาการ​ มันจะเอาพลังตรงไหนไปสร้างเขื่อนชะลอความรุนแรงจากเหตุปัจจัยในเวลานี้…. 
ขอขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามนะครับ​