เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : มองเศรษฐกิจ​ระดับฟุตพาท​ เดินเผชิญสืบในวันก่อนตรุษจีน​ 2565 : วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565

มองเศรษฐกิจ​ระดับฟุตพาท​ เดินเผชิญสืบในวันก่อนตรุษจีน​ 2565
บทความในวันนี้เขียนขึ้นมาก่อนวันไหว้เจ้า​ ไหว้บรรพบุรุษ​ตามคติความเชื่อของเทศกาล​ตรุษจีน​ในปี​ 2565​ ประจวบเหมาะ​กับเป็นวันสิ้นเดือนของใครหลายคน​ เป็นวันที่มนุษย์​เงินเดือนส่วนใหญ่จะได้รับเงินเดือน​ บางกิจการก็มีการจ่ายเงินรางวัลพิเศษ​ (Bonus)​ เพื่อตอบแทนพนักงานลูกจ้างที่ต่อสู้ร่วมกันมาในปี​ 2564​ แต่บางกิจการก็ไม่มี​ เพราะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก​ เรียกว่ายังรักษางานเอาไว้ได้ก็ถือว่าดีมากแล้ว​ 
เมื่อผู้เขียนได้ออกไปสำรวจตลาดนัดตอนเช้าในย่านการออกกำลังกาย​ ก็พบว่ามีผู้คนออกมาจับจ่าย​ใช้สอย​กันมากพอสมควร​ พ่อค้าแม่ขายในตลาดนัดตอนเช้าซึ่งนำเสนอสินค้าของกินของใช้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า​ ขายได้มาก​ ขายได้ดีขึ้น​ แต่ยังไม่มากเท่าก่อนโควิด-19 ระบาด​ วัตถุดิบ​และต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก​ โดยเฉพาะของกินจำพวกเนื้อสัตว์​และไข่​ อันนี้บอกได้เลยว่าส่งผลกระทบกับทุกคน​ ไม่มีใครสนใจคำอธิบายหรอกครับเรื่องเงินเฟ้อพื้นฐาน​ หรือไม่พื้นฐาน​ สิ่งที่ผู้คนต้องการคือ​ การบริหารจัดการให้มันมีราคาที่มันจับต้องได้​ ในเมืองกรุงมันไม่สามารถทำปศุสัตว์​ครัวเรือนได้​ ผักสวนครัวข้างรั้วแบบกินได้มันยากจะทำได้ในความเป็นจริง​ ตามชั้นดาดฟ้าของออฟฟิศ​ที่เคยคิดเคยทำแปลงผัก​ พอมันต้องทำงานที่บ้านหรือ​ Work from home มันก็ทำให้ความต่อเนื่องในการดูแลมันขาดหายไป​ การรณรงค์​หลายสิ่งในเรื่องลดค่าใช้จ่ายมันเลยกลายเป็น​ Fashion ที่​ไม่​ Function ยิ่งถ้ามีใครที่ออกมาพูดแบบไม่รู้​จริงประมาณว่า​ ผลกระทบจะเป็นแบบชั่วคราว​ รับรองมีทัวร์​ลงแน่นอน​ 
ในช่วงบ่ายผู้เขียนได้มีโอกาสไปตลาดสำเพ็งเพื่อหาซื้อสินค้า​ ก็พบว่าผู้ขายหลายเจ้าต่างปิดกิจการไป​ เพราะกำไรไม่มากพอหลังหักต้นทุนค่าเช่าร้าน​ ค่าแรงลูกจ้าง​ พนักงานในร้านค้า​ หลายร้านที่เคยไปซื้อของหน้าร้านปิด​ เจ้าของหลบไปเลียแผลก่อน​ ตัวลูกจ้างก็มาทำอาหาร​ มาทำขนมขายแทน​ เรียกว่าสู้กันยิบตาเพื่อเอาตัวรอด​ ได้เข้าไปพูดคุยแล้วต่างบอกว่า​ ต้องทำ​ ต้องสู้​ เพราะมีภาระหนี้ต้องส่ง​ ลูกหลานและคนสูงอายุในต่างจังหวัด รอเงินส่งไป​ ค่าเช่าหอพัก​ บ้านเช่าต้องจ่ายมารออยู่​ แววตาพร้อมสู้แต่เห็นความกังวลเอามาก ๆ​ ต้องเรียนท่าน ๆ ที่อยู่บนหอคอยแห่งเศรษฐศาสตร์​จักวาลนฤมิตร​ เมื่อไหร่ท่าน ๆ จะเลิกผลัดกันเขียน​ เวียนกันอ่าน​ ผ่านกันชม​ อวยบทความกันไปมา​ มาตรการแบบให้กลไกตลาดมันทำงานกันเองโดยไม่แทรกแซง​ มันไม่น่าจะใช่​ ตัวอย่างเช่น​ การช่วยลูกหนี้เวลานี้​ มันต้องช่วยพวกสีเหลืองคือเริ่มค้าง สีส้มคือค้างมาหลายงวด​อย่างเร่งด่วน​ จะบี้เจ้าหนี้แบบไหนก็ต้องใส่เกียร์​เร่ง ส่วนสีแดงอ่อนคือพวกเป็นหนี้เสียเพราะโควิด-19​ กับพวกสีแดง สีดำ​ คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว​อันนี้ทั้งแก้ยาก​ ทั้งใช้เวลา​ ต้องยื้อกันอีกนาน​ แถมกติกาถ้าเกิดจะช่วยแบบมีความสู​ญเสีย​ สถาบันการเงินที่มีหลวงเป็นเจ้าของก็มีข้อจำกัด​ ทำก็อาจจะมีคนร้องเลื่อยขาเก้าอี้​ ไม่ทำก็ไม่จบ​ ลาก ๆ กันไป​ ยืด ๆ กันไป​ มันจะทำได้กี่มากน้อย​ก็ยังเป็นที่กังขา
ตอนบ่ายแก่ ๆ ต่อเนื่อง ผู้เขียนได้ไปเดินห้างสรรพสินค้า​ ก็พบว่ามีมุมลดราคากันมากมาย​ เสื้อผ้าแบบชุดละ​ 350 บาท แต่มาขายบนราวแขวนในห้างตามมุมโปรโมชัน​เห็นอยู่มากมาย​ มีการเล่นดนตรีสดเปิดหมวกรับเงินแบบวณิพก​คือขายความสามารถ​แบกเงินให้เห็น​ แสดงว่าข่าวเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า​เปิดให้คนมีของมีความสามารถ​ร้องเพลง​ มาหารายได้ในห้างได้​ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการไม่สามารถ​ทำงานหาเลี้ยงชีพในร้านแบบผับ​ บาร์​ได้ในช่วงเวลาที่โอมิครอนระบาดแบบติดเชื้อต่อวัน​ 7-8 พันราย​ 
กลับมาตอนเย็น​ ผู้เขียนได้มีโอกาสพาบุตรหลานไปกินข้าว​ โดยเลือกร้านอาหารญี่ปุ่นในย่านถนนราชพฤกษ์​ ก็พบว่ามีผู้คนพาครอบครัว​ บางโต๊ะมีผู้สูงวัยกลุ่ม​ 608​ ที่น่าจะฉีดวัคซีน​ครบหลายโดสออกมาทานกันอุ่นหนาฝาคั่งครับ​ ก่อนเข้าร้านต้องมีการขอดูแอปการฉีดวัคซีน​ว่าได้ครบ​ มีการตรวจอุณหภูมิ​ มีการขอให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์​ พนักงานที่มาให้บริการใส่ถุงมือยาง​ ใส่หน้ากากสองชั้น​ มีแผ่นพลาสติก​ใสกั้นระหว่างโต๊ะ​แบบแข็งแรง​ มีการทำความสะอาดแบบฉีดพ่นกลิ่นแบบโรงพยาบาล​ เรียกว่าทั้งคนกิน​ คนขาย​ คนบริการ​ ป้องกันตัวเต็มที่มาก ๆ​ ได้ถามพนักงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง​ ทุกคนที่ตอบบอกว่าเหนื่อยมาก ๆ​ มันมีทั้งออเดอร์​ออนไลน์​ สั่งไปกินที่บ้าน​ กับมากินที่ร้าน​ ทำงานกันแบบลืมกินข้าว​ แต่ก็ยังไม่เท่ากับเวลาก่อนโควิด-19 ระบาด​ ถามว่าทิปรวมได้มากขึ้นไหม ก็ตอบว่าไม่มากเท่าแต่ก่อน​ ปลายเดือนอย่างนี้ก็พอได้แบ่งกัน​ สุดท้ายก็จะบอกว่า​ มีงานทำดีกว่าไม่มี​ อย่างน้อยยังมีเงินเอาไปจ่ายหนี้​ ส่งยอดผ่อนได้บ้าง​ ที่ไปเจรจา​ลดยอดผ่อนได้​ ผ่อนยาวออกไปกว่าเดิม​ แต่ดอกเบี้ยก็ยังไม่ลด​ ไม่รู้​จะทำอย่างไร​ ก็ยังสงสัยว่าคนที่บอกว่าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้วได้ลดดอกเบี้ยลงมามันมีอยู่ที่ไหน​ ถามใครต่อใครก็เจอแบบเดียวกันคือ​ ผ่อนยาวขึ้นเท่านั้นเอง​  
เศรษฐกิจ​แบบเดินไปกระท่อนกระแท่น​ บนการบ้านการเมืองที่หาความสงบสุข​ไม่ได้ (ดูจากข่าวแต่ละวันก็ให้นึกว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้หนอ)​ ถ้าเกิดน้ำมันขึ้นราคา​ ราคาอาหารพวกเนื้อสัตว์​พุ่ง​ ดอกเบี้ยขยับขึ้น​ พวกเหรียญ​ดิจิทัลต่าง ๆ ราคาตก​ สภาประชุมไม่ได้เพราะขาดองค์​ประชุมไม่ครบ​ คนทำผิดกฎหมายได้รับการช่วยเหลือ​แบบน่ารังเกียจ เรื่องพวกนี้มันน้ำซึมบ่อทราย​ มันน้ำหยดลงบนหิน​ สักวันหินมันก็กร่อนและพังทลายลง​ หินที่ว่าคือเศรษฐกิจ​ สังคม​ การบ้านการเมืองครับ