ฟังความจากคนรู้จริง พูดตรง ควรบอกต่อ
ในวันและเวลานี้ที่ผู้เขียนกำลังจะเริ่มต้นเขียนบทความในตอนเช้าของวันอาทิตย์ หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าของกิจการร้านอาหารซึ่งเป็นสุภาพสตรีสูงวัย วัยที่ควรจะได้เกษียณตัวเอง แต่ด้วยความรักในอาชีพการทำของอร่อยให้คนได้ทานกัน แน่นอนว่าผู้เขียนก็เป็นลูกค้าประจำทุกเช้าวันอาทิตย์หลังการไปวิ่งออกกำลังกาย ในร้านอาหารก็จะมีผู้คนที่ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันแม้ว่าจะสวมหน้ากาก หลายท่านสูงอายุแต่ก็ยังมีไฟอยู่บ้าง หลายท่านมาทานกับเพื่อนฝูงที่เคยเรียนมัธยมมาด้วยกัน
หัวข้อสนทนาส่วนใหญ่ก็คือ นี่มันสองปีแล้วที่เราแทบไม่มีนักท่องเที่ยว เราไปไหนก็ไม่ได้ กลัวไปหมด หน้ากากก็ต้องใส่ ใส่จนคุ้นเคย ทนกับมันได้แล้ว บางท่านก็คุยถึงลูกหลานที่หางานทำยังไม่ได้ แม้ว่าจะจบการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง บางท่านก็ได้แต่พูดว่าผู้คนในสังคมที่รายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ กินค่าแรงรายวัน กินเงินเดือนบริษัทเล็ก ๆ สายป่านสั้นจะอยู่กันอย่างไร จะมีรายได้พอเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัว หรือบางท่านก็พูดถึงผู้คนไร้บ้านที่นอนตามฟุตพาทสองข้างทางของถนนราชดำเนิน ยามค่ำคืนถ้าขับรถผ่านไปจะเห็นได้ชัดเจน ความเป็นห่วง กังวลใจ ไม่สบายใจ และเป็นทุกข์มีอยู่อย่างเด่นชัดในสายตาและคำพูด
ถ้าจะกล่าวในความรู้สึกของผู้เขียน สองปีที่ผ่านมาจากการเอาตัวรอดของการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ต้องบอกว่า ความฮึกเหิมตอนแรกที่เราจัดการได้ดีแบบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นศูนย์ จนต่อมากำแพงการป้องกันแตกเพราะความไร้วินัยจนทะลุหมื่นรายต่อวัน จนมีคนตายรายวันระดับที่กังวลใจ เศรษฐกิจแทบล่มสลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจมลายหายไป กว่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะตั้งหลักกันได้ก็แทบจะขาดใจ ในตัวผู้เขียนอยากเห็นคนที่รู้เรื่อง รู้จริง ได้ออกมาพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ชี้ให้เห็นถึงจุดสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลแก่สาธารณชนทั่วไปได้เข้าใจ
ผู้เขียนได้เห็นข้อมูลชิ้นหนึ่งที่เป็นบทเสวนาในงานสัมมนาหนึ่งที่พยายามคนหาคำตอบในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทย ขีดความสามารถของคนไทย เมื่อได้อ่านแล้วจึงอยากนำมาเสนอต่อเพราะเห็นว่า เหมาะควรที่จะสื่อสารส่งต่อออกไปเป็นอย่างมาก ข้อมูลมีดังนี้ครับ
ท่านรองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้าง 3 ด้าน คือ
(1) การเติบโตที่ไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยนอกประเทศ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว พอเกิดการปิดประเทศก็ประสบปัญหาไปต่อไม่ได้
(2) ตลาดแรงงานพัฒนาตนเองไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ
(3) ความเหลื่อมล้ำ คนที่มีกำลังซื้อมาก สามารถปรับตัวได้มากกว่าและเร็วกว่าคนที่มีกำลังซื้อน้อย … การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีบวกกับสถานการณ์โควิด-19 บวกกับปัญหาโครงสร้างเดิมของสังคมมีทั้ง ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่มากพอสมควรแล้ว การแพร่ระบาดยิ่งซ้ำเติมผู้คนในสังคมไทยมากขึ้น
ด้วยเหตุที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบไม่สมดุล ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว หรือการส่งออก พอมาเจอวิกฤติโควิด-19 จึงปรับตัวไม่ทัน ภาคการผลิต และภาคแรงงานยังอยู่ในโลกยุคเก่า จึงเกิดปัญหาในการพัฒนาและสร้างรายได้ รวมทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงเด็กจบใหม่ และคนทำงานบางส่วนที่จะต้องออกจากงานประจำการปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถเป็นไปได้ โดยต้องสร้างความตระหนักรู้ ยอมรับปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง และต้องทำความเข้าใจว่าจะอยู่อย่างเดิม ไม่ได้ ต้องปลดล็อกเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง เชื่อว่าคนไทยเก่ง และพร้อมที่จะปลดปล่อย ถ้าได้รับการสนับสนุน
สรุปใจความตามความเห็นของผู้เขียนคือ ต้องยอมรับให้ได้ว่าเรานั้นไม่ได้เก่งอย่างที่ใจเราคิด เราเคยเก่ง แต่เราล้าหลัง เรากลับมาเก่งใหม่ได้ แต่ต้องลงมือทำ และเชื่อว่าเราจะทำได้ถ้าคิดจะทำ ทั้งนี้เพราะมันไม่มีทางเลือกอีกต่อไปแล้ว
ท่านต่อมาคือ ท่านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ได้กล่าวว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ให้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ชัดเจน ยิ่งขึ้น และเห็นภาพความเปลี่ยนหลายด้าน ดังนั้น การรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีปฏิบัติใหม่ โดยสามารถเริ่มต้นทำด้วย 3 องค์ประกอบ คือ
(1) ใช้ความรู้ที่เปลี่ยนไป
(2) ใช้ความสามารถที่เปลี่ยนไป
(3) ต้องใช้เครื่องมือที่เปลี่ยนไป
ต้องเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัว และยืดหยุ่น
ในความเห็นของผู้เขียนนั้น เห็นด้วยเป็นอย่างมาก การร้องแรกแหกกระเชอ ร้องไห้คนนั้นคนนี้ช่วย มันไม่มีทางเป็นไปได้ ทุกอย่างต้องทำเอง เหงื่อออกถึงได้เงิน ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ต้องยอมรับว่าเรายังไม่เก่ง เรายังไม่รอด เราจะรอดต้องเรียนเพิ่ม เรียนเพิ่มแล้วต้องปรับตัว ปรับตัวเพื่อหาทางสร้างรายได้ไปพร้อมกับป้องกันตัวจากโรคระบาดให้ได้ เพราะต้องรอดทั้งติดเชื้อตาย ไม่ก็อดตาย ตัวอย่างเห็น ๆ คือพ่อค้าแม่ค้าตามถนนหนทาง ใช้การโอนเงิน รับเงินผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว รู้ว่าเงินเข้าเงินออกคืออะไร ต้องทำอย่างไรถึงจะขายของได้ ตัวอย่างเทคนิคการขายกล่องสุ่มเป็นตัวอย่าง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การบอกความจริง การเข้าใจตนเองว่ายังล้าหลัง พึ่งคนอื่นมาก พอเชื้อโรคเตะตัดขาล้ม จะยืนเองก็ต้องกัดฟัน ก้าวข้ามความเจ็บ ยืนด้วยตนเองด้วยการยอมรับว่าโดนเตะเพราะมีจุดอ่อน จุดอ่อนที่คิดว่าเป็นจุดแข็งของตัวเองมาตลอด (หมายถึงการท่องเที่ยว) เราต้องฝึกใหม่ ฝึกเพื่อให้อยู่รอดและอยู่ได้
สังคมเศรษฐกิจเรานั้น ไม่เคยกลัวคนเก่ง แต่กลัวคนขยัน ขยันที่เรียนให้รู้ว่าแพ้ตรงไหน และต้องแก้ให้ชนะ ต้องรู้ว่าแบบไหนถึงจะชนะได้
ขอเป็นกำลังใจให้กับคนตัวเล็ก ๆ ผู้ประกอบการรายย่อมรายย่อยทุกท่านนะครับ เราจะไปเดือนที่สองของโลกที่อยู่กับโควิด-19 (Stay with covid-19) ต้นเดือนหน้าก็ตรุษจีนแล้วนะครับ