ความจริงทั้งสี่ประการ มันก็จริงทั้งนั้นขึ้นอยู่กับ…
จากการได้เข้าไปอ่านเอกสารการรับฟังความคิดเห็นของระบบนิเวศใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ของระบบการเงินไทยที่มุ่งหวัง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางของประเทศไทยเราได้เปิดใจ และเปิดกว้างให้ผู้ที่คิดว่าตนเองจะมีส่วนได้และเสียกับระบบที่คาดหวังใหม่นี้ จากการที่ได้สนทนาบ้าง รับฟังข่าวสาร รับฟังการพูดคุยแบบหลังไมค์ของคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องบอกว่า ความเป็นจริงของเรื่องราวที่เปิดกันออกมาจะมี 4แบบ คือ
1.ความจริงของฉัน ลึก ๆ แล้วที่ไปให้ข้อมูลนั้น ตัวฉันต้องการอะไร ต้องการให้คนฟังเชื่ออะไร
2.ความจริงของเรา อันนี้คือความจริงที่พยายามจะออกมาแบบให้ดูดี ตอบโจทย์ ได้ไม่ได้น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำว่าเราในที่นี้ก็ต้องบอกว่าเราที่มีฉันรวมอยู่หรือเราที่ไม่มีฉันรวมอยู่ ความจริงของเรามันจึงมีหลากหลายแบบ
3.ความจริงที่ถูกเขียน ถูกบันทึก ซึ่งก็ต้องรอว่าคนสรุป จะสรุปกันออกมาแบบไหน มันมีได้หลายวิธี ฟัง ได้ยิน เห็นด้วย บันทึกตาม หรือฟังแต่ไม่ได้ยิน แต่จะบันทึกหรือไม่ จะบันทึกกี่มากน้อย บันทึกแบบเน้น บันทึกแบบให้รู้ว่าบันทึกแล้วนะ
4.สุดท้ายคือ ความจริงที่เป็นจริง ความจริงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง แม้ไม่มีใครเห็นด้วย แต่มันคือความจริง
ในความเห็นของผู้เขียน ที่มาจากฐานะของส่วนตัว ในฐานะเป็นประชาชน เป็นผู้ใช้บริการ และขอย้ำว่า ไม่ใช่ความเห็นของสถาบันที่ตนเองสังกัด ที่ย้ำเพราะหากจะมีใครเอาไปอ้างเพื่อเป็นเหตุกับผู้เขียน ก็ต้องบอกว่าอันนี้คือส่วนตัวนะครับผม
ผู้เขียนสนใจที่สุดคือ การแข่งขัน การแข่งขันก็ต้องมีผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นคนเดิมขยายบทบาทได้พอ ๆ กับคนใหม่ที่จะเข้ามา เรื่องการแข่งขันมันก็มีแนวคิดอยู่แล้วว่า รัฐต้องแทรกแซงน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น และทำไปเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนใช้บริการเท่านั้น คนตรงกลางต้องทำให้พื้นที่การแข่งขันมันแฟร์ ชัดเจน ตรงไปตรงมามากที่สุด ทีนี้ถ้าการแข่งขันมันจะเกิดก็หมายความว่าคนมาใหม่ต้องสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานได้เช่นเดียวกับคนเก่า เพราะถ้าต้องไปตัดถนนใหม่ สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ต้องเดินสายใหม่มันก็ไม่มีทางเข้ามาได้ง่าย ๆ แต่ความยากมันอยู่ที่ คนเก่าเขาลงแรงตัดถนนเอง ถางหญ้า ถมดิน ราดยาง ติดเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ด้วยเงินด้วยทรัพยากรของเขา คนจำนวนเป็นพัน บางโครงการหลายพัน ลงแรง ลงความคิด พัฒนามันขึ้นมา ดันไม่ใช่ถนนที่หลวงเป็นคนสร้าง หลวงแค่ให้สิทธิในการสร้างและไปแบ่งปันกันใช้ในหมู่คนเก่าที่สร้างกันมาไว้นานถึงนานมากแล้ว ต้นทุนตรงนี้ คนใหม่มาจะอ้างแต่การแข่งแล้วจะไม่ชดเชยให้คนลงแรงถมดิน ถางหญ้ากันเลยหรือ หรือตั้งใจจะวิ่งส่งของบนถนนหลวงอย่างเดียว อย่างนี้มันจะไปต่อยังไงล่ะครับ
ตัวอย่างง่าย ๆ ธนาคารเสมือน หรือธนาคารแบบล่องหน ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เป็นคนเข้ามาใหม่สามารถให้บริการแบบไม่ต้องพบเห็นต่อหน้า (Non face to face) พอเสนอเงินฝาก 2% แต่ตนเองมีต้นทุนดำเนินการ 0.5% เท่านั้น ขณะที่คนเก่ายังมีต้นทุนในการรักษาให้ระบบการโอนเงินไปมามันทำงานได้อีก 1% ทีนี้ถ้าให้คนใหม่มาโดยไม่ต้องแบกภาระร่วมในระบบการโอนเงินไปมาแต่เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานเลย มันก็ดูจะไม่แฟร์กับคนเก่า แต่ถ้าจะให้คนใหม่รับต้นทุนตรงนี้ไปด้วยเท่า ๆ กัน คนใหม่ก็เหนื่อยกับการต่อสู้ อีกทั้งคนใหม่มันมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากันอีก บ่าที่จะแบกต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมมันก็อาจทำให้คน ๆ นี้เลิก ล้มหายตายจากไปเลยตั้งแต่ยังไม่ได้ขายของก็เป็นไปได้ ทีนี้ถ้าคนใหม่จะไม่เข้าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่คนเก่าทำไว้แล้ว จะไปทำเอง มันอีกกี่ปีถึงจะสำเร็จ ขีดความสามารถมีหรือไม่ ถ้าไม่มีการ pools ทรัพยากรของคนใหม่เข้ามาด้วยกัน มันก็ยากที่จะสร้างได้ ที่สำคัญคือสร้างได้ใหม่แต่ต้องใช้เวลา ปัญหามันก็วนกลับมาอีกครั้ง
จากตัวอย่างข้างต้น คนใหม่สร้างบริการดึงดูดใจ มีเงินฝากดอกเบี้ยสูงไปให้แต่ดันโอนข้ามไปมาไม่ได้เพราะไม่อยู่ในระบบ ทีนี้จะเป็นอย่างไรอาการ กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง มันจะดูดพลังของคนใหม่จนทุนหาย กำไรหด ล้มหายตายจากไป เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องกฎหมายเป็นหลัก มันเป็นเรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของการเจรจาตกลงกันว่า แค่ไหน เพียงใด เหมาะควรมันจะประมาณไหน
การแข่งขันดีขึ้นมันเป็นผลครับ เป็นผลที่เราอยากเห็น อยากเห็นการเข้ามานำเสนอในเงื่อนไขที่ดีกับลูกค้า แต่การแข่งจะเกิดไม่ได้ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่เปิดกว้างให้ใช้ร่วมกัน การใช้ร่วมกันจะมีสูตรค่าใช้จ่ายที่แบ่งปันกันอย่างไร ใครมีรายได้-ใครเสียค่าใช้จ่าย สูตรสมการ คือออกมาประมาณไหน ถ้ามันไม่จบ ที่หวังไว้มันจะพลอยพับกลับไป
หลายอย่างที่น่าเสียดาย เกิดช้าหรือไม่เกิด ก็เพราะเรามีแผนดีบนกระดาษ เรามีเอกสารนำเสนอสีสวยงาม แต่เบื้องหลังการเจรจามันไม่ถูกขยับให้จบ มันต้องว่าให้จบ ใต้โต๊ะไม่จบ หลังไมค์ไม่ยุติ มันก็จะเป็นแผนที่เดินให้เป็นจริงไม่ได้
ท่านผู้อ่านครับ มันมีเรื่องที่ต้องจ่ายกัน ไม่จ่ายแต่จะร่วมโต๊ะคงไม่ได้ จ่ายแต่จ่ายจนหมดตัวมันก็ไม่มีใครเอา เพราะหมดแรงที่โต๊ะ เดินลุกจากโต๊ะไม่ได้ ที่ผู้เขียนกลัวที่สุดคือ อยู่มันอย่างนี้แหละ อยู่กับความหวังว่า ว่ามันจะเกิด เกิดแล้วจึงจะแข่ง แข่งแล้วจะช่วยลูกค้า ช่วยลูกค้าได้แล้ว ฝันที่ต้องการจึงเป็นจริง…
ประเทศสารขันธ์ ข้าง ๆ บ้านเราจะมีแผนเยอะมาก มากถึงมากที่สุด แต่หาอันที่เป็นจริงได้กระท่อนกระแท่น ข้างบ้านเรามีหลากหลายองค์กร วิสัยทัศน์สุดยอด สุด ๆ ฟังแล้วเคลิ้ม ลืมตาขึ้นมามีแต่ฝันร้าย… ขออย่าทำเหมือนเพื่อนบ้านเราเลยครับ