เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : ดูภาพ​ หวีกล้วย​ ช่วยให้ได้คิดภาพใหญ่ : วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

ดูภาพ​ หวีกล้วย​ ช่วยให้ได้คิดภาพใหญ่

เมื่อเช้าวันอาทิตย์​ ภรรยาของผู้เขียนได้นำภาพ​ หวีกล้วยที่มีกล้วยทั้งส่วนที่ดิบและส่วนที่สุก​ พร้อมตั้งคำถามว่า​ มองภาพนี้แล้วมองผู้คน​ สังคม​วันนี้เป็นอย่างไร​ เพราะเป็นภาพที่พระสงฆ์​ตั้งโจทย์​ให้คุณภรรยากับคณะลองพิจารณา​ตอบ​ ผู้เขียนได้เห็นความเห็นของท่านหนึ่งที่ดีมาก​ จึงใคร่ขอนำออกมาเสนอยังท่านผู้อ่านให้ลองคิดตามครับ​ ลองพิจารณาถึงความเป็นไปในเวลานี้ของสังคมเราที่มีความปริแยก​ แตกต่าง​ หลากหลาย​ มีทั้งความคิดห็นที่ไม่ตรงกัน​ มีทั้งความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน​ คล้ายดังกล้วยที่สุกและดิบในหวี​เดียวกัน​ แน่นอนว่าในบั้นปลายถ้ากล้วยไม่ถูกเด็ดไปกินแบบสด ๆ​ ก็ต้องไปทำเป็นขนมโดยผสมกับอย่างอื่น​ หรือไม่ก็เน่าเสียไปเพื่อเป็นปุ๋ยดิน​ ผู้เขียนอยากชวนท่านผู้อ่านลองพิจารณา​คำตอบของมิตรธรรมคุณภรรยาของผู้เขียนดังนี้

ท่านที่หนึ่ง​ ให้ความเห็น​เป็นคำตอบ​ จากการมองภาพกล้วยหวีนี้เป็นดังนี้
… กล้วยในหวีเดียวกันยังแตกต่างกัน ดิบบ้างสุกบ้าง อ้วนบ้างผอมบ้าง นี่คือความแตกต่างของสรรพสิ่งในธรรมชาติ หากนำมาเปรียบกับคนที่อยู่ในเครือในหวีเดียวกันเช่นครอบครัว​ ใกล้ชิดกัน เครือเถายีนใกล้กันมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกคนต่างกัน ดังนั้นจะคาดหวังให้เขาเหมือนเรา เป็นแบบที่เราต้องการ สุกพร้อมอย่างเรา ในขณะที่เขายังดิบอยู่ เราก็คงต้องทุกข์ไปตลอด อยู่ในเครือในหวีเดียวกันยิ่งใกล้ชิดกัน ยิ่งต้องสอนใจให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติในเรื่องความต่างของแต่ละผลในหวีในเครือเดียวกันให้มากให้ชัด เพื่อยอมรับความจริงที่ประจักษ์นี้อย่างเข้าใจแบบเข้าถึงจริง ๆ ทุกข์จึงจะจางลง… ในความเห็นของผู้เขียนการที่สังคม​ เศรษฐกิจ​ไทยกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นหนึ่ง​ แต่คนอีกรุ่นหนึ่งได้รับผล​ เขาอาจไ​ม่ชอบ​ เขาอาจคิดว่ามันน่าจะทำได้ดีกว่า​ มันน่าจะมีวิธีที่ทันสมัยกว่า​ แตกต่างกว่าได้​ คนรุ่นที่รับผิดชอบต้องเปิดใจรับฟังคนรุ่นที่ได้รับผลบ้าง​ อะไรที่ใช่สมัยเรา​ อาจไม่ใช่ในสมัยเขา ความคิดต่างไม่ใช่คิดเป็นศัตรู​ เช่น คนกลุ่มหนึ่งมีความมั่นคง​ มีเงิน​ มีรายได้ก็อยากให้ใช้มาตรการคุมเข้มเรื่องโรคระบาดเพราะกลุ่มตัวเองใช้ชีวิตต่อไปได้​ อย่างมากก็คือไม่ได้ออกจากบ้าน​ ไม่ได้ออกไปเที่ยว​ ขณะที่คนอีกกลุ่มมันต้องหาเงินวันต่อวัน​ ถ้ามีมาตรการเข้ม​ข้น​ ไม่รับความเสี่ยงบ้าง​ เศรษฐกิจ​มันก็ขาดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดรายได้​ เขาก็อยู่ไม่ได้​เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพื่อทำมาหากินได้จึงเป็นสิ่งที่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการให้ทำ​

ท่านที่สอง​ มีความคิดเห็นว่า​ มองกล้วยหวีนี้ที่มีทั้งสุกทั้งดิบได้ข้อคิดสองมุมคือ
มุมที่หนึ่ง​ : มองผู้คน เพื่อน ไม่เหมือนกัน
เช่นคนที่มาเรียนรู้ฝึกในธรรมปัญญา
กล้วยสุก… หมั่นฝึกฝนก้าวหน้าทางธรรม
กล้วยดิบ… ไม่สนใจหมั่นฝึกฝน…
มองมุมที่สอง​ : มองมาที่ตัวเรา
บางเรื่องสามารถก้าวข้ามเปลี่ยนนิสัยได้ดี
เปรียบกล้วยสุก​ ส่วนกล้วยดิบเปรียบเหมือนเรื่องที่ยังมีความคิดเห็นผิด
เผลอพูดผิด…คิดผิด…ทำผิดอยู่​ จึงต้องหมั่นสังเกตใจตัวเอง​ มีความรู้สึกอย่างเท่าทันกับทุกเหตุการณ์ของทุกคนที่เราได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
หมั่นฝึกสติและลดอัตตาตัวตนของเรา
ให้ฝึกยอมบ้าง​ ฝึกยอมแพ้เป็น​ ในความเห็นผู้เขียนก็คือการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่น​ ไม่ยึดติด​ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาใด ๆ​ ก็ต้องคิดหาทางออก​ ทางแก้​ โดยไม่ต้องไปคิดว่าเราคิดครบ​ คิดครอบคลุมไปหมดแล้ว​ ไม่คิดจะรับเอาสิ่งที่ถูกส่งเข้ามาในช่องทางต่าง ๆ มาปรับใช้บ้าง​ การยึดมั่นในตัวตนของเราจนไม่รับฟังเสียงภายนอก​ มันสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้แม้มีเจตนาตั้งใจดีก็ตาม

ถ้าเราได้ติดตามการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในอาทิตย์​ที่ผ่านมาของรัฐสภา​ จะพบว่าเรื่องราว​ บรรยากาศ​ ผู้คน​ มันก็เหมือนกล้วยดิบ​ กล้วยสุกในหวีเดียวกัน​ ถ้าประเทศ​ ระบบเศรษฐกิจ​ที่ต้องขับเคลื่อนเหมือนหวีกล้วยดังภาพ​ ความแตกต่างระหว่าง​ความดิบมาก​ ดิบน้อย​ เริ่มสุก​ สุกแบบกินได้​ มันคือระดับความแตกต่างหลากหลาย​ ถ้าสังคมโดยรวมฉลาด​ เราจะสามารถเอากล้วยทั้งหวีตามช่วงเวลามาใช้ประโยชน์​ได้เกือบทั้งหมด​ สังคมที่โง่เขลาก็ได้แต่บิดกล้วยแต่ละลูกด้วยความโกรธ​ ความแค้น​ ควมไม่พอใจ​ มาขว้างปาพร้อมด่าทอ​กัน หาประโยชน์​หรือสาระอันใดไม่ได้​เลย เพราะที่สุดทุกคนก็ท้องหิวเนื่องจากเอาของที่กินได้​ มีประโยชน์​มาขว้างปากันด้วยโทสะ​ ดังที่เราสะท้อนใจว่า​ สงสารประเทศ​ ยามดูละครชีวิตโรงใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว

ขอขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามนะครับ​