การดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยง ผู้ลงทุน (ทางธุรกิจ) ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจให้บริการทางธุรกิจ
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 เกิดขึ้น และเมื่อมาตรการป้องกันแบบ Zero covid ในตอนแรกของการแพร่ระบาด ตอนที่เรายังไม่รู้จักนิสัยใจคอของมัน ข้อมูลยังไม่มากเท่าใด การป้องกันที่เข้มข้นแบบข้ามผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หยุดการเดินทาง จำกัดสิทธิและเสรีภาพในบางเรื่อง ผลที่ได้คือจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ ถึงต่ำมาก
ในแง่ทางธุรกิจประกัน ต่างก็อาจมองถึงโอกาสในการประกันความเสี่ยงให้กับผู้คน ถ้าเราจำบรรยากาศวันนั้น วันที่มีการเสนอขายประกันแบบ เจอ จ่าย จบ จะพบว่าในระดับขององค์กรต่าง ๆ ที่มีลูกจ้างต่างก็ซื้อให้กับคนในองค์กรเหมือน ๆ กับประกันสุขภาพต่อปี ถ้าจำกันได้ผู้คนบางส่วนก็ไปซื้อเพิ่มเป็นการส่วนตัวอีกหลายกรมธรรม์ เพราะเล็งเห็นได้ว่าถ้าติดขึ้นมาจะมีความเสี่ยงในค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลถึงหลักล้านบาท
แต่ก็มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งมองว่าไม่จำเป็น การขายประกันกรณีนี้จึงออกมาแข่งขันกันเหมือนการแข่งขันบริการทางการเงินอื่น ๆ เมื่อสถาบันเหล่านั้นมองว่าบวกลบคูณหารระหว่างโอกาสจะถูกเรียกให้จ่ายสินไหมทดแทนหรือจ่ายเคลมกับผลตอบแทนจากการรับประกันความเสี่ยง
ถามว่าธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงไหม คำตอบคือต้องมีแน่นอน ถามว่ามีการคำนึงถึงกรณีร้ายแรงสุดที่มีการเคลมสูง ๆ ไหม ผู้เขียนคิดว่ามีแน่นอน
ดังนั้นมันจึงไม่ต่างไปจากสิ่งที่เราใช้ในการบอกกับผู้คนทั่วไป นักลงทุนทั่วไปเวลาที่เขาคิดจะลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ผลตอบแทนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขและข้อมูลให้รอบคอบ รอบด้าน ก่อนการตัดสินใจ” เพราะถ้ามันเกิดอะไรขึ้น ผู้ลงทุนก็ต้องรับในผลขาดทุนนั้น สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น กฎกติกาของทางการเปลี่ยน ตลาดมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งไม่แน่นอน
ในด้านของฝั่งธุรกิจก็เหมือนกัน การมองเห็นโอกาสจากการขายประกัน รับเอาค่าเบี้ยประกันมาแล้วนำไปลงทุนต่อ ได้ผลตอบแทนมาทั้งหมดหักด้วยค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายจากการถูกเคลม คิดเหมารวมกันทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วตกลงดำเนินการเสนอขายบริการ มันก็ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจทำธุรกิจบนความเสี่ยงทางธุรกิจที่ตนเองและคณะกรรมการได้ตัดสินใจให้ทำอะไร ไม่ให้ทำอะไร กับลูกค้าประชาชนผู้รับบริการใช่หรือไม่ ถ้ามันต้องขาดทุนเนื่องจากคาดไม่ถึงว่าสถานการณ์?เลวร้ายสุดที่คิดไว้กับความจริงนั้น เมื่อความจริงนั้นมาถึงมันสร้างผลขาดทุนได้มากกว่าแบบมโหฬาร บานตะไท กิจการก็ต้องยอมรับ
คำว่าการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์หรือในสภาพแวดล้อมใหม่ มันรวมถึงการออกกฎกติกาใหม่ การตีความกติกาเก่าที่ไม่เป็นคุณกับการดำเนินธุรกิจ สิ่งนั้นเราเรียกว่าความเสี่ยงทางด้านสภาพแวดล้อม ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ใครที่เคยเรียนเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรก็ต้องจำขึ้นใจในเรื่องนี้ จะไปผลักภาระให้กับใครก็ไม่ได้
“เราหวังผลเลิศว่าจะกำไร แต่มันพลิกผัน มันดันขาดทุน ตัวเราจะไม่รับเลยหรือ เราจะผลักภาระทั้งหมดให้ลูกค้าได้หรือว่า เจอ จ่าย (ไม่จ่าย จ่ายบางส่วน) และต้องการจะจบ (จบแบบที่เราต้องการ)”
สถานการณ์ตอนที่ตัดสินใจทำบริการนี้นั้นมันคือสถานการณ์ เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร Unknown the Unknown เราอาจจะพลาดเพราะเราคิดว่าเรารู้ เราจึงทำออกไป เราอาจจะพลาดว่าเราคำนวณระดับความเสียหายไว้แล้วแต่มันดันสูงกว่า มันเลยเจ็บลึก เราอาจจะพลาดคิดว่าในบางกรณีเราอาจปฏิเสธการจ่ายเคลมได้เพราะเราตีความในกรมธรรม์แบบนี้ ไม่คิดว่าหลวงท่านจะตีความแบบนั้น เราอาจจะพลาด… (หลายเหตุและปัจจัย)…
ใครจะไปคิดว่าเราจะเจอกับโควิด -19 สายพันธุ์เดลต้าที่ติดกันง่ายและรุนแรง ถึงรุนแรงมาก พอคิดว่าจะจบก็มีโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ติดได้เร็ว เร็วมากง่ายมากในการติดกัน เมื่อเป็นอย่างนั้นมันก็มามีผลกระทบกับอัตราการเคลม เหตุเพราะเมื่อเจอก็ต้องจ่ายเพื่อให้จบเรื่อง จำนวนการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก ถึงมากที่สุดในเวฟ 3 เวฟ 4 ต่อด้วยเวฟ 5 มันก็สร้างผลทางลบกับสถาบันผู้ออกประกันความคุ้มครอง เพราะต้องหาเงินสด ๆ มาจ่ายสิครับ จ่ายแบบทำให้เกิดผลขาดทุน บางรายหยุดการดำเนินงาน
ผู้เขียนไม่แปลกใจที่กิจการของผู้รับประกันภัยจะเดินเรื่องยื่นคำร้องต่อศาลฯ เพราะเมื่อผู้กำกับดูแลเขาชัดเจนว่า เจอ ต้องจ่าย แล้วจึงจะจบ มันก็ต้องไปสู่การพิพาท ต้องไปเพื่อให้ได้คำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว หรือคุ้มครองตนเองในการที่ยังไม่จ่ายค่าเคลมนั่นเอง
สถาบันการเงินเราถ้าจะปล่อยสินเชื่อ เราตัดสินใจให้กู้กับใคร บนกฎกติกาที่ออกมาโดยทางการให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้ามันเกิดเป็นหนี้เสีย เกิดเป็น NPL แล้ว ตัวสถาบันการเงินก็ต้องรับมาดูแลบริหารจัดการ จะไปผลักภาระให้ใครได้ล่ะครับ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนานั่นเอง
“ถ้าเมื่อใดที่ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป แล้วบริษัทประกันภัยสามารถอ้างเหตุนี้มายกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่ง ก็ย่อมจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบบประกันภัยของโลก จนลุกลามกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชน แล้วเช่นนี้ประชาชนจะซื้อประกันภัยไปทำไม” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในตอนท้ายของเอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ ในประเด็นกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ ที่ผู้ประกอบการกำลังหาทางไต่บันไดลงจากคลื่นสึนามิการเคลม
และจากเอกสารดังกล่าวได้ระบุต่ออีกว่า… ซึ่งในระหว่างที่ศาลฯ ยังไม่ได้รับฟ้องและมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวฯ ตามที่บริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดียื่นคำขอ กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ยังคงมีผลใช้บังคับและให้ความคุ้มครองตามปกติ กรณีผู้เอาประกันภัยติดเชื้อและมีหลักฐานยืนยัน ก็สามารถเคลมประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ฟ้องคดีได้ต่อไป หากต่อมาศาลฯ รับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัทฯ จะนำคำสั่งศาลมาเป็นเครื่องมือและอ้างในการนำมายกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัย และจะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 ทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนถูกลอยแพแน่นอน แต่ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาเป็นประการใด สำนักงานฯ พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชน โดยจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและผู้เอาประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ที่ให้บริษัทประกันภัยจะใช้เป็นเหตุที่เกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดของตนเอง และผลักภาระกลับไปให้กับประชาชนและผู้เอาประกันภัย
จบการนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้ ผู้อ่านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการจะเชื่อ และต้องระวังในการส่งต่อความเชื่อของตน การเสริมแต่งของตน ไปยังบุคคลอื่น เพราะเป็นความเสี่ยงของท่านเองนะครับ