คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : รหัสใหม่ในบัญชีสินเชื่อ บ่งบอกว่าเป็นหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ​ : วันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2565

รหัสใหม่ในบัญชีสินเชื่อ บ่งบอกว่าเป็นหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ

นับตั้งแต่ปลายปี 2562 เมื่อเริ่มมีข่าวไวรัสโควิด-19 ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้คนต่างเริ่มสะดุดใจและค่อย ๆ มีอาการตื่นตระหนกขึ้นเรื่อย ๆ จนเหตุการณ์ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้รับรู้รับทราบจากสื่อสังคมออนไลน์ในเวลานั้นว่ามันมีอาการผิดปกติแน่ ๆ ต่อมาต้นปี 2563 ในช่วงไตรมาสแรก ก็มีความชัดเจนแล้วว่า มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ภาพข่าวที่เห็นคนติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาแถวยาวเหยียด มีการพูดถึงจำนวนคนเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกออกมาประกาศ การแพร่ระบาดระดับโลก ตอนนั้นแหละที่ทำให้ทุกคนในโลกใบนี้ต่างวิ่งเอาตัวรอด มาตรการที่มีการแนะนำคือ

  1. ใส่หน้ากาก
  2. ล้างมือให้บ่อย
  3. อยู่ห่าง ๆ กัน อย่ารวมกลุ่ม หรือทำกิจกรรมใกล้ชิดกัน

ในทางสาธารณสุขก็ใช้มาตรการ Lock down บังคับให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง เวลานั้นไม่มีใครไม่ยอมรับ เหตุเพราะกลัวตาย ในหัวของคนแก้ปัญหาคือ วัคซีน แต่พอคิดถึงกระบวนการ ขั้นตอนการพัฒนา กว่าจะทดลองในสัตว์ ทะลุมาใช้กับคน น่าจะเป็นปี ๆ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มันทำให้เกิดผล Income shock คือรายได้ที่จะได้มันหายวูบไปเลย ขายของไม่ได้ ขายของได้น้อยลง คนไม่มาเที่ยว ทีนี้คนไม่มีรายได้แต่มันมีหนี้ที่ก่อไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วจะทำอย่างไร จะเอาที่ไหนมาคืนหนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือ ชะลอการชำระหนี้ ก็ออกมาเป็นระลอก เพราะเวลานั้นถ้าไม่มีมาตรการออกมารองรับ มันจะมีหนี้เสียไหลมาแบบเยอะมากแน่นอน สถาบันการเงินก็จะเสียหายเพราะลูกหนี้มาผ่อนเงินต้น ส่งดอกเบี้ยไม่ได้

ทีมบริหารเศรษฐกิจในเวลานั้นได้มีโอกาสคุยกับผู้เขียนก็สอบถามว่า ในสถานการณ์แบบนี้เราควรแยกแยะว่า คนเป็นหนี้เสียจากธุรกิจผิดพลาด กับคนที่เป็นหนี้เสียเพราะสถานการณ์โรคระบาดหรือสถานการณ์ไม่ปกติ ออกจากกันให้ชัดเจน ตอนแรกจะผลักดันผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ แล้วไปเข้า ครม. ชุดใหญ่ ออกมาเป็นมติ ครม. แล้วเอามตินี้ไปแจ้งแก่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เพื่อออกประกาศกำหนด รหัสสถานะบัญชีใหม่ขึ้นมารองรับ เวลานั้นเราคิดว่ามันก็เหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โชคร้ายครับก่อนประชุม ครม. เศรษฐกิจ 2 วัน ทีมบริหารเศรษฐกิจประกาศลาออกยกชุด เรื่องก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ผลักดันกันแบบจากข้างล่างสู่ข้างบน ด้วยระบบราชการของเราก็ใช้เวลาหนึ่งปี จึงมีการกำหนดรหัสสถานะบัญชีสินเชื่อใหม่ ที่สะท้อนว่าบัญชีนี้เป็นหนี้เสีย ค้างชำระเกิน 90 วัน จากสาเหตุของสถานการณ์ไม่ปกติคือ รหัส 21 หรือ 021 แยกออกมาจากรหัส 20 ที่ระบุแค่ว่า ค้างชำระเกิน 90 วัน โดยกำหนดให้สมาชิกเครดิตบูโรเริ่มส่งข้อมูลตั้งแต่ชุดข้อมูลเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป เวลาพิจารณาว่าบัญชีหนี้เสียไหนมาจากผลของสถานการณ์ไม่ปกติ (ปี 2563-2564 มันคือการแพร่ระบาด Covid-19) ก็ให้กลับไปดูว่า ปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 ตัวลูกหนี้ที่มีหนี้กับสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรต้องชำระหนี้ได้ดีทุกบัญชี ไม่มีการค้างใด ๆ เลย แต่บัญชีสินเชื่อที่ดีนี้ต่อมาในปี 2564 ได้กลายเป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันหรือเป็นหนี้เสีย เพื่อให้สะท้อนว่ามันมาจากสถานการณ์ไม่ปกติจริง ๆ

ท่านผู้อ่านครับ สิ้นปี 2564 ก่อนใช้รหัสใหม่ 21 หรือ 021 เรามีบัญชีหนี้เสียค้างเกิน 90 วัน ไม่รวมพวกถูกฟ้อง ดำเนินคดี ตัดขายทิ้ง ตัดหนี้สูญ จำนวนประมาณ 4 ล้านบัญชี พอเดือนมกราคม 2565 เราก็สามารถแยกแยะว่า บัญชีรหัส 21 ที่ฝังอยู่ในรหัส 20 มีจำนวน 2.1 ล้านบัญชี และมีบัญชีที่ปลายปี 2564 เป็นปกติแต่เดือนมกราคม 2565 กลายเป็นหนี้เสีย ประกอบกับเข้าเงื่อนไขว่าปี 2562 เป็นบัญชีที่ไม่มีการค้างชำระเลยอีกประมาณ 2 แสนบัญชี รวมเป็นบัญชีรหัส 21 จำนวน 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 2 แสนล้านบาทครับ เฉลี่ยก็ 8 หมื่นบาทต่อบัญชี

นี่คือตัวเลขบัญชีที่ถือว่าดีมากในปี 2562 แต่ผ่านปี 2563 จนจบที่ปลายปี 2564 ได้กลายเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 90 วันรวม 2 แสนล้านบาท ถ้าระบบของเราสามารถปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้นะครับ เราจะได้พลังของคนที่หมดแรง หมดลมจาก Covid-19 กลับมาหรือไม่ เพราะโดยพื้นฐานเจ้าของบัญชีเหล่านี้ ไม่ได้หนีหน้า หนีหนี้ มีความตั้งใจสูงในการชำระหนี้ ที่สำคัญนะครับเจ้าของบัญชีไม่น่าจะใช่พวก ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ อยากได้ ไปฟ้องเอา การแก้ปัญหาแบบชี้เป้า มันจะดีกว่าการเหมาเข่งทุกแบบหรือไม่ครับ เรามีเวลาปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ใช่หรือไม่ กว่าเราจะสามารถแยกแยะออกมาได้โดยใช้ข้อมูลก็ใช้เวลา 1 ปี เมื่อแยกแยะได้เแล้ว ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ ผู้เขียนเชื่อว่าเราทำได้ ระบบเราทำได้ เรามาทำงานแบบชี้เป้าดีกว่าไหมครับ ลองใคร่ครวญดูนะครับ