เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : วัคซีน​เศรษฐกิจ​ มาตรการเชิงรุกในระยะต่อไป : วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564

วัคซีน​เศรษฐกิจ​ มาตรการเชิงรุกในระยะต่อไป

เป็นระยะเวลาปีกว่านับแต่ปลายปี​ 2562​ ที่ทั่วโลกต้องเจอกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ​ จากนั้นเราก็เจอการกระแทกจากมาตรการป้องกันตัวที่ต้องทำ ถูกบังคับให้ต้องทำ​ ที่เรียกว่า “ปิดบ้านปิดเมือง” คนทำมาหากินทุกระดับต่างถูกบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ​ เหมือนการกลั้นหายใจ​ เวลานั้นปอดใครใหญ่ก็พอไหว​ ปอดใครเล็ก​ มีโรคประจำตัว (เป็นหนี้) ก็เจอกับอาการแทรกซ้อน​ กลัวตายก็กลัว​ กลัวอดก็กลัว​ กลัวเป็นหนี้เสียแต่ก็หมดปัญญาจะหาเงินไปส่งต้นและดอก​ เบี้ยหันมามองก็เห็นแววตาลูกน้องที่กลัวการตกงาน​ ถ้าจะให้เปรียบเทียบ​ก็เหมือนกับ​ “คนที่รีบออกจากบ้านแต่ลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมโทรศัพท์ นั่งบนรถยนต์​ เกิดอาการท้องเสียต้องเข้าห้องน้ำด่วน​ แต่รถเกิดอุบัติเหตุ” ในสถานการณ์​นั้นปรากฏว่า​ คุณตำรวจผ่านมาพอดี​ ขณะที่คู่กรณีหัวร้อนกำลังจะใช้อารมณ์​กับตัวเรา​ คุณตำรวจจึงรีบให้คู่กรณี​เข้าข้างทาง​หน้าโรงแรมพอดี​ เลยได้โอกาสขอคุณตำรวจวิ่งเข้าห้องน้ำทำธุระแต่เจ้ากรรม​ ทิชชูดันหมด​ เลยต้องสละผ้าเช็ดหน้าของตนเองซึ่งเป็นของรักเนื่องจากเป็นของที่คู่สมรสให้ไว้เป็นของที่ระลึกตอนเป็นแฟนกัน” คุณตำรวจให้เวลาโดยคุยกับคู่กรณี คุณตำรวจให้ยืมโทรศัพท์โทรหาคนทางบ้าน​ เพื่อให้เอากระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์​ มาให้​ ณ​ จุดเกิดเหตุ​ พร้อม ๆ กับรอประกันภัยมาเคลียร์​ สรุปคือ​ มีเวลาได้หายใจหายคอตั้งหลัก

ภาพที่ผู้เขียนบรรยายเปรียบเทียบนี้คือภาคต้นของเรื่องเท่านั้น​ เวลานี้เข้าปีที่สองของการต่อสู้กับความอยู่รอดทั้งด้านสาธารณสุข​และด้านเศรษฐกิจ​ปากท้อง​ ในช่วงเวลาต่อไปนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญมากกว่าช่วงเวลาแรกเพราะ

1.เราจะมีคนที่ไม่รอดจากบาดแผลทางเศรษฐกิจ​ ต้องมีการล้มหายตายจากไป​ คำถามคือถ้ามีจำนวนมากมายทั้งเล็ก​ กลาง​ ใหญ่​ บรรดาหลักประกันต่าง ๆ และการดำเนินการทางกฎหมายมันจะเป็นลูกโซ่จากหนี้สถาบันการเงิน​ หนี้การค้า​ หนี้ค่าจ้างแรงงาน​ หนี้สารพัด​ การจัดการทางกฎหมายในกรอบเดิม ๆ มันจะยิ่งเละเทะเข้าไปกันใหญ่​ ดังนั้นมาตรการแช่เย็นแบบเย็นจัดประหยัดไฟต้องมา จากนั้นค่อยละลายน้ำแข็งทีละกรณีเพื่อแยกแยะของดี​ ของต้องทิ้ง​ ไม่ให้เกิดการเน่าเสียไปทั้งหมด​ การยืดหนี้ออกไปให้นาน​ ทุบหนี้ให้แบน​ และค่อย ๆ เคลียร์​เพื่อจำกัดความเสียหายจึงต้องทำ… อันนี้น่าจะเป็นวัคซีนขนานที่หนึ่ง

ต่อมาคือกลุ่มที่สู้ต่อ คิดว่าสู้ได้ แต่ตอนนี้หมดแรง​ ต้องใส่ยาบำรุงหัวใจให้เดินต่อไปอีกอึดใจ​ รอเวลาฟ้าเปิด​ วัคซีน​ขนานที่สองที่เรียกว่า​ โกดังพักหนี้ ก็ต้องตามมา​ ต้องมีการตีทรัพย์สิน​ชำ​ระ​หนี้​ เพื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย​ แล้วขอเช่ากลับมาทำธุรกิจเพื่อรอเวลารักษาทรัพย์สิน​ไม่ให้เสื่อมค่า รักษาคนงานเอาไว้โดยหันมาทำธุรกิจแนวเอาตัวรอดดูก่อน​ การจ่ายค่าเช่าแทนดอกเบี้ยมันจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง​ แล้วก็ทำสัญญาซื้อขาย​ทรัพย์สิน​คืนในอีกห้าปี​ เจ็ดปีข้างหน้า (Purchased option) ซึ่งก็หมายถึงการกู้ยืมเหมือนเดิมนี่แหละแต่ตอนนั้นพายุของโรคระบาดน่าจะยุติไประดับหนึ่งแล้ว​ มาตรการสร้างพื้นที่ให้ ขายไป-เช่ากลับ-สัญญาว่าจะซื้อคืน​ โดยทุกฝ่ายผ่อนสั้นผ่อนยาวกันไป​ มีคนรับความเสียหายบางส่วนที่อยู่ในเก�

วัคซีน​ตัวที่สามคือ เงินกู้ละมุนนุ่มหรือ​ Soft​loan เวอร์ชันใหม่​ที่จะมาแทนเวอร์ชันเก่าตอนลูกหนี้ลืมกระเป๋าสตางค์​เวลาออกจากบ้าน​ แต่จะเป็นเวอร์​ชันลูกหนี้กลับมาที่บ้านแล้วพบว่ารายได้มันหายไปพอสมควร​ แต่มีบิลมาเรียกเก็บเงินเพียบ​ ดังนั้นการปรับปรุง​โครงสร้าง​หนี้จึงต้องทำเพื่อให้กระแส​เงินสด​มันเดินต่อได้​ อาจต้องทำทั้งหนี้เก่าหนี้ใหม่​ ถ้าเงื่อนไข​ Soft loan ออกมาว่า

1.สองปีแรกดอกเบี้ย​ 2% ปีที่สามค่อยเพิ่มเป็นขั้นบันได​ และมีอายุ​ 5-7 ปีก็จะดีมาก

2.ไม่ยุ่งกับหลักประกันเก่า​ ไม่มีสูตรชดเชยความเสียหายแบบคุณสุภาพสตรีที่ทำงานไม่เป็นแต่คิดว่าตัวเองคิดเก่ง​ ทำแต่แล็บแห้ง​ ไม่หารือใครเพราะวัน ๆ คิดแต่เรื่องความลับ​ ลับจนหาประตูออกไม่เจอ​ สูตรมันควรจะง่ายสุด​ไหมเช่น ปล่อยกู้ไป​ 100 กลายเป็น​หนี้เสียรวมดอกเบี้ยค้าง 120 ชดเชย​ 50% คิดเป็นชดเชย​ 60​ เอาแบบง่ายสุด​ แบบคนอยู่บ้านเช่าริมน้ำเจ้าพระยาข้างองค์กร​ใหญ่ก็คิดได้คิดเป็น​ (หัดฟังคนรอบข้างบ้างก็จะดี)​

3.วงเงินสูงสุดต่อรายจะเป็น​ 150-200 ล้านบาทมั้ย​ แต่ไม่ต้องจำกัดหน้าใหม่ ลูกค้าเก่า​ ใครที่แสดงได้ว่าเดือดร้อน​ และกู้ไปแล้วแก้ไขปัญหาได้ก็ควรให้ เรื่องที่ควรจะเถียงให้จบคือกู้มา refinance ได้ไหม เพราะบางท่านก็บอกมันคือการลดต้นทุนทางการเงิน​ เงินส่วนที่ประหยัดได้ก็เอามาเลี้ยงคนงานเป็นค่าจ้าง ฝั่งที่บอกไม่ควรให้ทำ​ refinance ก็บอกว่ามันควรเอาไปลงทุนปรับปรุงกิจการ​ เพิ่มประสิทธิภา​พ​ พูดไปมันก็ถูกทั้งหมดแหละครับ​ จะเอาอะไรก็รีบทำให้จบ

ผู้เขียนได้พยายามสื่อสารมายังท่านผู้อ่านในมุมเฉพาะเรื่องการจัดการของเจ้าหนี้-ลูกหนี้-คนกลาง​ เพราะเวลานี้ถ้าทุกฝ่ายอยากมีภูมิคุ้มกันหมู่​ ก็ต้องรับวัคซีน​ และมีกำ​ลัง​กาย​ กำลังใจเดินหน้าต่อไป

ย้ำอีกครั้ง​ ขอคิดความเห็นในบทความไม่เกี่ยวและผูกพันว่าเป็นความเห็นองค์กร​ที่ผู้เขียนสังกัดนะครับ

ขอบคุณ​ที่ติดตามครับ… ผิดพลาดประการใดติชมมาได้นะครับ