เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เรื่องคนกู้หนี้รถ คนที่จะรับเคราะห์ คนเชียร์ที่จัดไฟแนนซ์ และสถาบันที่ให้​กู้​ สรรพนิสัยในวงการกู้ยืม : วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564

เรื่องคนกู้หนี้รถ คนที่จะรับเคราะห์ คนเชียร์ที่จัดไฟแนนซ์ และสถาบันที่ให้​กู้​ สรรพนิสัยในวงการกู้ยืม

ตามปกติทุกวันอาทิตย์​ ผู้เขียนจะคอยอ่านข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อรับรู้ถึงกระแสของความรู้ ความรู้สึกของผู้คนเกี่ยวกับการขอกู้​ ขอสินเชื่อ​ ขอยืมเงิน​ ในเวลานี้​ ผู้เขียนได้มาพบกับข้อความในห้องพันทิป​ ที่มีผู้นำมาลงไว้ขอความเห็นเพื่อน ๆ สมาชิกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 เวลา 13:36:50 น. ​ความว่า

อยากสอบถามพี่ ๆ ว่ามีความเป็นไปได้ไหมคะในกรณีนี้… 

1.ให้แม่เป็นผู้ซื้อ อายุ 57 ปี อาชีพค้าขายมีหน้าร้านที่ขายประจำ รายได้รายวันเฉลี่ยแล้ว 1,500 บาท 

ผู้เขียน​ : ซึ่งก็หมายถึงคุณแม่ต้องมาเป็นลูกหนี้ตอนอายุ​ 57​ ปี โดยเอารายได้วันละ 1,500 บาท ยังไม่หักต้นทุนมาแสดงความสามารถในการชำระหนี้แทนคุณลูก ผู้เขียนงงงันไปชั่วขณะว่าเดี๋ยวนี้เราทดแทนพระคุณแม่ด้วยการให้ท่านไปเป็นหนี้รถยนต์​แทนเราแล้วหรือ

2.ราคารถยนต์ 729,000 บาท ดาวน์ 109,350 บาท หรือ 15% ไฟแนนซ์บังคับทำประกัน (ผู้เขียน​ : ก็ไหนคนที่กำกับดูแลบอกว่าการประกันเป็นทางเลือก)​ รวมราคาสุทธิ (Net) ต้องจ่ายค่างวดต่อเดือน 10,5XX บาท 84 เดือน 

3.ลูก คือตัวเรา เป็นผู้กู้ร่วม โดยมีรายได้จากเงินเดือนบริษัทที่ทำงานมา 5 ปี เดือนละ 12,800 บาท และมีรายได้จากการขายของอื่น ๆ ด้วย เดินบัญชี เงินเข้าประจำทุกวันที่ 26-1 ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อเดือน 

ผู้เขียน​ : ถ้าเราเอาเงินค่างวดผ่อนรถ​ 10,5xx บาท มาเทียบกับเงินเดือน​ 12,800 บาท​ ก็จะมีคำตอบว่า​ ได้รถยนต์มาขับแต่มีเงิน​เหลือ​ 2,300 บาทต่อเดือน​ เอาเงินก้อนนี้ไปบวกกับรายได้อื่นตามที่แจ้ง​ประมาณ 17,000​ บาทเพราะเหตุว่ามีรายได้รวม​ 30,000 บาทก็จะพบว่ามีเงินหลังหักหนี้รถ​ยนต์ประมาณ​ 19,300 บาท​ หักค่ากินตัวเองขั้นต่ำ​วันละ​ 500บาท (รวมค่าน้ำมันรถ) จะเหลือเงิน​ประมาณ​ 4,300 บาท​ ซึ่งเดาว่าจะมีหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ผ่อนของศูนย์​ % หนี้ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์​อีกไหม ท่านผู้อ่านคิดตามผู้เขียนมานะครับ​ แล้วถ้ามีค่าเช่าที่พักอีกจะเป็นอย่างไร​ พอหรือไม่​ กู้ครั้งนี้หาเรื่องใส่ตัวหรือเปล่า

4.ทางคนขายและไฟแนนซ์แนะนำให้ยื่นขอค้ำประกันจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมด้วย (ยื่นเอกสารพร้อมกับกู้ซื้อรถยนต์แล้ว) 

ผู้เขียน​ : ลูกหนี้รายย่อยที่​ บสย. จะค้ำต้องเป็​นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นคนค้าขายใช่หรือไม่​ แต่คุณลูกทำงานกินเงินเดือน​ เลยต้องเอาคุณแม่มาออกหน้าเป็นคนค้าขายมากู้รถยนต์​ เราเริ่มจากการโกหกตัวเอง มีคนปั้นเรื่องจนจบ​ เรามีความซื่อสัตย์​ต่ออาชีพ​หรือไม่​ ต้องปั่น​เรื่อง​ แต่งเรื่อง​ เพื่อให้คนกู้กู้ให้ได้ว่างั้นเถอะ… จ่ายคืนได้ไม่ได้ค่อยไปแก้ปัญหากัน

5.รอผลอนุมัติอยู่ค่ะ อยากสอบถามความเป็นไปได้ว่ามีหรือไม่มีคะ โอกาสที่จะผ่านมีมากหรือน้อยแค่ไหน ตอนแรกก็ยังเฉย ๆ นะคะ แต่พอยื่นเอกสารไฟแนนซ์ (…มีการระบุชื่อ..) ไป ใจมันหวั่นทุกนาที คือลุ้นคำว่าผ่านหรือไม่ผ่านมากกว่ารถยนต์ค่ะตอนนี้ 

ผู้เขียน​ : ไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไร​ เอาชื่อมารดามายื่น​กู้​ เอารายได้มารดามาแปลงเป็นความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง​ คนปล่อยกู้สร้างเรื่องให้เสร็จ​ ยื่นให้ บสย. ค้ำประกันหนี้ท��

6.เหตุผลที่ให้แม่คือผู้ยื่นกู้คือเราติดติดแบล็กลิสต์นะคะ (ผู้เขียน​ : คือมีประวัติค้างชำระหรือปัจจุบันค้างชำระอยู่) ​ทางคนขายบอกว่าเรากู้ร่วมได้โดยที่จะหาธนาคารที่ง่ายที่สุดและเขาไม่เช็กเครดิตผู้กู้ร่วม ตรงนี้ไม่มั่นใจค่ะ (ผู้เขียน​ : ท่าน ๆ ที่เป็นผู้กำกับดูแลที่สถิตบนหอคอยงาช้างข้าง ๆ แม่น้ำเจ้าพระยา​ ท่านจะไม่เดินลงมาดูหน่อยเหรอครับว่า​ การให้กู้ที่เป็นธรรม การเงินที่สร้างเกราะกำบัง การให้ความรู้เรื่องทางการเงินที่ท่านพร่ำบ่นว่าคนไทยต้องมี market conduct ที่ต้องปฏิบัติ หนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มอย่างไม่เหมาะสมมาหลายปี วันนี้ท่านไม่ต้องหาตัวอย่างแล้ว​ละครับ​ เรื่องจริงผ่านจอมือถือมาให้ท่านได้เห็นแล้วจะจะ​ ท่านจะไม่คิดอะไรเลยบ้างหรือ)​ เพราะวันที่เซ็นเอกสารเขามีหนังสือขอตรวจสอบเครดิตบูโรด้วย ผู้เขียน​ : ในความเป็นจริง​ สถาบันการเงินผู้พิจารณาสินเชื่อ​ เขาต้องดูข้อมูลเครดิตหรือข้อมูล​เครดิต​บูโร​ของลูกหนี้ที่กู้ร่วมทั้งสองท่านครับ คือคุณแม่ผู้รับเคราะห์ คุณลูกที่กตัญญู​ซึ่งมอบหนี้ทดแทนคุณ คนขายที่จัดการคือผู้สร้างสรรค์​ความวุ่นวายในชีวิตคนเหตุเพราะต้องการได้เป้าได้ผลงาน​ บาปเคราะห์ที่ตั้งเค้ารางมาไม่มีใครสน ท้ายสุดเราก็จะมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีกเกือบล้านบาท… กับลูกหนี้เพิ่มสองท่าน

โควิด-19 มา… มันได้ล้างเซลล์​ร่างกายส่วนที่รับผิดชอบที่เรียกว่า​ “ความผิดชอบชั่วดี” ได้ล้างจริยธรรมที่เรียกว่า​ “การให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ” ได้ล้าง​ “การสอดส่องดูแลติดตามและป้องปรามความประพฤติที่ไม่พึงประสงค์อันจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย​ ที่เราติดกับดักมากว่า 5 ปี” 

ทุกท่านที่เกี่ยวข้องครับ​ เอามือขวาวางไว้ที่หน้าอกข้างซ้าย​ ลองสัมผัสสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าหัวใจที่มันอยู่ต่ำกว่าผิวหน้าอกลงไปสักสองนิ้ว… แล้วถามตัวเองว่า​ มันเป็นเรื่องที่ถูกไหมในธุรกรรมนี้​ หรือมันเป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้​ จัดการไม่ได้​ เรากำลังเตะกระป๋องปัญหา (ที่เราควรมองเห็น)​ ไปบนถนนไปเรื่อย ๆ โดยไม่อินังขังขอบกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆในชีวิตผู้คนที่จะติดกับดักหนี้เลยหรือ…

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ