เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ความเข้มงวดที่ต้องมีในคุณสมบัติของคนที่จะมาบริหารจัดการเงินคนอื่น : วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

ความเข้มงวดที่ต้องมีในคุณสมบัติของคนที่จะมาบริหารจัดการเงินคนอื่น

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ภายใต้ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. สหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (Credit Union) โดยมีสำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าวนอกเหนือจากว่ามีการแบ่งสหกรณ์เป็น 2 ขนาด คือ

1. สหกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่สหกรณ์ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และชุมนุมสหกรณ์

2. สหกรณ์ขนาดเล็ก ได้แก่ สหกรณ์ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การกำหนดขนาดสหกรณ์ให้ใช้ข้อมูลงบการเงินของสหกรณ์ในปีบัญชีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว

ในข้อที่น่าสนใจว่าด้วยหลักการเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จุดที่ผู้เขียนให้ความสนใจมากก็คือ การกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการบริหารกิจการ ซึ่งหลัก ๆ ก็ได้แก่ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่มีอำนาจในสถาบันนั้น ยิ่งเมื่อองค์กรนั้นเป็นสถาบันการเงิน ที่มีการระดมเงินจากบุคคลที่เป็นสมาชิกแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อนำเงินนั้นมาให้กู้ยืมแก่สมาชิกและสามารถเอาเงินไปลงทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย คำถามที่สำคัญนั้นมีอยู่ว่า ถ้าคนที่จะไปบริหารเงินคนอื่นนั้น ไปมีบัญชีสินเชื่อที่กู้ยืมมาในนามตนเอง ไปกู้ร่วมกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อจากบัตรเครดิต สินเชื่อธุรกิจ ถ้าท่านเหล่านั้นเกิดไปค้างชำระในบัญชีใดบัญชีหนึ่งกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้จนมีลักษณะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วัน เกิดการค้างชำระสามงวดติดต่อกัน เป็น NPLในบัญชีใดบัญชีหนึ่งแล้ว หากสมาชิกหรือผู้ฝากเงินได้รับรู้ เขาเหล่านั้นจะมีความสบายใจหรือไม่ที่จะให้ท่านเหล่านั้นดูแลเงินทองและธุรกรรมทางการเงินขององค์กรที่เป็นสถาบันการเงินที่มีแนวคิดที่ว่า “เกิดจากสมาชิก ตัดสินใจโดยสมาชิก บริหารโดยสมาชิก เพื่อประโยชน์ของเหล่าสมาชิก”

หน่วยงานที่กำกับดูแลคงจะได้เล็งเห็นในประเด็นนี้ จึงได้ก้าวเข้ามากำกับดูแลให้เกิดความเชื่อถือเชื่อมั่น เกิดความมั่นคงอีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้สูงขึ้น ในประการสุดท้ายสหกรณ์ออมทรัพย์มีการปล่อยกู้เข้าไปในระบบของหนี้สินภาคครัวเรือนสูงถึงสองล้านล้านบาท ได้รับสิทธิทางกฎหมายที่นายจ้างจะต้องหักหนี้ที่ต้องชำระจากเงินเดือนที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “หักหน้าซอง” ก่อนเจ้าหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ กระทั่งเงินกู้สวัสดิการที่หน่วยงานต้นสังกัดไปจัดหามาให้พนักงานลูกจ้างโดยผ่านคณะกรรมการสวัสดิการของหน่วยงานก็ยังไม่มีสิทธิตามกฎหมายแบบสหกรณ์ออมทรัพย์

หลักเกณฑ์ที่บรรจุลงไปมีการเขียนไว้ดังนี้.. นอกจากลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 52 แล้ว กรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย

1. เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สั่งถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะพ้นระยะเวลาที่กำหนดห้ามดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้วหรือได้รับการยกเว้นจากหน่วยงานกำกับดูแล แล้วแต่กรณี
2. มีหรือเคยมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจการใด ๆ อันผิดกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือฉ้อโกงประชาชน
3. เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
4. เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์อื่น เว้นแต่เป็นกรรมการของชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกอยู่ได้อีกไม่เกิน 1 แห่ง
5. เป็นกรรมการของสหกรณ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์นั้นไม่เกิน 1 ปี หรือเป็นผู้จัดการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสหกรณ์นั้นไม่เกิน 1 ปี แล้วแต่กรณี
6. ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วันกับนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
7. ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยกับสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกในระยะเวลา 2 ปี ทางบัญชี ก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
ข้อ 6 และข้อ 7ข้างต้นคือเงื่อนไขดังที่ผู้เขียนได้ยกมาเป็นประเด็นหลักของบทความวันนี้ นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวได้วางหลักลงไปถึงเรื่องการป้องกันการขัดแย้งในผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อและการลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างกัน

ขอคารวะ ขอชื่นชม และขอขอบคุณ ทุกท่านที่ได้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริง เพราะมันคือ Next Normal ของการบริหารจัดการสถาบันการเงินหลักของประเทศที่มีความสำคัญสูง มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนเรือนล้าน ที่มีชื่อว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ต้องมีครับ