บทความคอลัมน์ MoneyCare รู้ไว้ ใส่ใจเงิน : กู้อย่างมีธรรมาภิบาล (กู้อย่างมีธรรมาภิบาล) : BUSINESS TODAY ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562 : ขวัญชนก วุฒิกุล

คอลัมน์ MoneyCare รู้ไว้ ใส่ใจเงิน: กู้อย่างมีธรรมาภิบาล (กู้อย่างมีธรรมาภิบาล)
BUSINESS TODAY ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562
          ขวัญชนก วุฒิกุล

ไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ร่วมกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ประกาศความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หลายคนอาจจะสงสัยว่า “ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ” นี่ทำกันยังไงเรื่องนี้ประธานสมาคมธนาคารไทย ปรีดี ดาวฉาย ขยายความเพิ่มเติมว่า กลไกการปล่อยสินเชื่อหรือการสนับสนุนทางการเงินถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในการที่จะป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่อาจจะขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ดังนั้น การอนุมัติสินเชื่อต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม มีเหตุมีผลซึ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติร่วมกันและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินและประเทศชาติในระยะยาวได้เช่นกัน
จะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คงประมาณว่า ถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจก็ต้องพิจารณาว่าธุรกิจนั้นเหมาะควรแล้วที่จะได้รับสินเชื่อไม่ใช่ธุรกิจทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำลายอะไรอื่น ๆ ที่ไม่ควรทำลายส่วนถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนทั่วไปก็ควรปล่อยอย่างมีคุณภาพ แบงก์ควรมีส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน น่าจะประมาณนั้น
เพราะเรื่องกู้เงินนี่บางทีก็เหมือนความรัก ตบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอกค่ะ
ดิฉันถึงแปลกใจที่เจอคนมีรายได้เข้าเกณฑ์ทำบัตรเครดิตปุ๊บทำได้ทีเดียว 7 ใบรวด คนกู้ก็เหลือเกิน คนปล่อยกู้ก็เหลือเกินพอกันถ้าแบงก์ (ซึ่งสามารถเช็กข้อมูลลูกหนี้ในเครดิตบูโรได้อยู่แล้ว) ไม่ตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันแย่งกันปล่อยกู้ ลูกหนี้จะเอาปัญญาที่ไหนไปก่อหนี้สูง ๆ ตรงนี้แหละมั้งที่บอกว่า แบงก์ต้องมีธรรมาภิบาล แต่ในขณะเดียวกัน ลูกหนี้ก็ต้องกู้อย่างมีธรรมาภิบาลด้วย
หลักการกู้อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับลูกหนี้ต้องทำอย่างไร ก็ต้องทำประมาณนี้แหละค่ะ
1. มีสติก่อนยืมสตางค์หรือก่อนกู้
สาเหตุที่ทำให้หลายคนเป็นหนี้มาจากการจับจ่ายใช้สอยเกินตัวไม่ว่าจะเป็นความต้องการโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่หรือรถคันใหม่ป้ายแดง ซึ่งบ่อยครั้งเกินจาก “ความต้องการ” มากกว่า “ความจำเป็น” ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของเราควรพิจารณาก่อนว่าของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของเราหรือไม่ และของที่มีอยู่เดิมยังสามารถใช้งานต่อไปได้หรือไม่
2. ถ้าจะกู้จริง ๆ ต้องเลือกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองว่า ไหมแน่ ๆ
ดอกเบี้ยต่ำจะมาพร้อมหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ดอกเบี้ยก็จะต่ำกว่าสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่ไม่ต้องมีหลักประกัน ดังนั้น ถ้าหากจำเป็นต้องใช้เงินหรือต้องกู้จริง ๆ ก็ควรเลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกันก่อนแบบไม่มีหลักประกัน และต้องคำนวณก่อนกู้ทุกครั้งว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้จริง ๆ
3. อย่าผิดนัดชำระหนี้
เมื่อเป็นหนี้สิ่งสำคัญคือ การมีวินัยในการชำระหนี้ ต้องชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน ถ้าหากกลัวว่าจะลืมชำระหนี้ก็สามารถสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ หรือบันทึกลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อเตือนความจำ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากจะตามมาด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยังอาจจะมีเรื่องของค่ายปรับ ค่าทวงถาม เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ไม่นับรวมที่ต้องยุ่งยากรำคาญใจเมื่อถูกทวงถาม
4. ชำระหนี้ต่องวดให้สูงขึ้นจะช่วยลดหนี้ได้เยอะ
เทคนิคการลดหนี้ด้วยการ “โปะ” หรือการจ่ายหนี้ต่องวดมากกว่าจำนวนที่กำหนดจะช่วยลดหนี้ได้เร็วขึ้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจโปะหนี้นั้นควรพิจารณาก่อนว่าหนี้ที่อยู่คิดดอกเบี้ยแบบไหน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมสินเชื้อบ้าน บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลการโปะก็จะช่วยให้ยอดเงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดน้อยลง แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องโปะค่ะ
ถ้าตั้งหลัก “กู้อย่างมีธรรมาภิบาล” เราก็จะเป็นลูกหนี้เงินกู้ที่ดีมีคุณภาพ และสุดท้ายเราก็จะไม่เดือนร้อนจากการก่อหนี้ของตัวเองค่ะ
“สาเหตุที่ทำให้หลายคนเป็นหนี้มาจาก การจับจ่ายใช้สอยเกินตัวซึ่งบ่อยครั้งเกิดจาก “ความต้องการ” มากกว่า “ความจำเป็น”