คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : การเปลี่ยน​แปลง ผลกระทบ​ และตัวกลาง : วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565

การเปลี่ยน​แปลง ผลกระทบ​ และตัวกลาง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ​ แนวคิด​ หลักการ​ และบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้นำ​ ท้ายที่สุดก็คือหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการจัดตำแหน่งแห่งที่ของธุรกิจในโลกที่น่าจะไม่เหมือนเดิม​ เหตุเพราะสภาพปัญหา​ และเหตุที่ต้องเผชิญทั้งเศรษฐกิจ​ สังคม​ การเมืองการปกครองและวิถีการปฏิบัติตัวของผู้คนนั้นได้มีการเปลี่ยน​แปลงไป​ เปลี่ยนแปลงทั้งสาระและรูปแบบ​ ที่น่าสนใจคือสิ่งที่วิทยากรได้นำเสนอมาในสามหัวข้อหลักจะยึดโยงกับสิ่งที่มีการกล่าวไว้ในอดีตเสมอเช่น

… สิ่งมีชีวิตที่จะสามารถอยู่รอดต่อไป​ ไม่ได้ขึ้นกับความแข็ง​แรง​ แข็งแกร่ง​ มีแต่เพียงการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ​เท่านั้น​ จึงจะทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่รอดได้… 

ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตใช้ชีวิตอยู่​ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ​ ภูเขา​ ป่าไม้​ ทะเล​ ต่าง ๆ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไป​ เพียงแต่ปัจจุบัน​ ความเปลี่ยนแปลงนั้นมันเป็นทิศทางที่แย่ลง​ เลวลง​ ส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น​ ก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น​ ความเสียหายทั้งต่อชีวิต​ ทรัพย์สิน​และต่อการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขนั้นมันทำได้ยากยิ่ง​ คำถามที่สำคัญก็คือ​ เราจะมีความอยู่ดี มีสุข​ ได้อย่างไร​ ถ้าการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัวเรา​ รอบ ๆ กิจการของเรา​ รอบตัวประเทศของเรา​ มันคาดเดาไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดเมื่อใด​ เกิดแบบไหน​ เกิดขนาดไหน​ และถ้าเกิดแล้วจะส่งผลให้ยับเยินได้ขนาดไหน​ แต่อย่างไรก็ยับเยินแน่นอน​ คำถามที่สำคัญมาก ๆ คือ​ ขีดความสามารถในการประมาณการ​ การพยากรณ์ การคาดการณ์​ ในเรื่องใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงขององค์กร​ ของธุรกิจ​ ของภาครัฐ​ ในส่วนที่รับผิดชอบนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ สามารถเตรียมการรับการกระแทกได้ขนาดไหน​ 

ถ้าเราจะดูภาพเล็ก ๆ​ ไม่ต้องไปดูภาพอะไรใหญ่โต​ ไม่ทำตัวเอาปัญหาทั้งประเทศมาเป็นปัญหาตนเอง​ เพราะตัวเองไม่ได้มีอำนาจจะไปทำตรงนั้น​ อย่างมากสุดก็คือส่งเสียงออกไปว่าจากข้อมู​ลที่เราได้รับ (ซึ่งก็มีทั้งถูกและไม่ใช่)​ รวม ๆ กันแล้วเราใคร่ขอเสนอว่ามันควรจะทำแบบนี้​ 1..2…3…4… ถ้าคนที่เขารับสาร เขาจะเอาไปคิดต่อ​หรือไม่เอาไปคิดต่อ ก็เป็นไปตามกรรม

ประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนสนใจคือในระดับครัวเรือน​ พื้น ๆ​ บ้าน ๆ​ ที่พวกเขาก็กำลังหาคำตอบเพื่อให้เขาเอาตัวรอดต่อไปก็คือ​ สถานการณ์​ที่รายรับลดลง​ ยังไม่ฟื้นตัวไประดับเดิม​ ลดค่าใช้จ่ายไปแล้ว​ รวมค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์​ทางการแพทย์​และด้านความสะอาดที่ต้องใช้แล้ว​ รายได้-รายจ่ายปริ่ม ๆ น้ำ​ การจะหารายได้​มาเพิ่มเติม​ มันก็มีทางเลือกได้จำกัด​ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัส​ Covid-19 มันก็ยังไม่สงบ​ หรือแน่นอนแล้วว่าเป็นโรคประจำถิ่น​ หันกลับมาอีกด้านก็คือ​ ภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้สินที่ครัวเรือนไปหยิบยืมมาจากคนเป็นเจ้าหนี้​ มันมีเงื่อนไข​ สัญญาค้ำคอกันอยู่ว่า​ จะต้องจ่ายรายเดือนกี่บาท​ เป็นค่าอะไร​ ส่วนนี้มันก็มาเติม​ เพิ่มกับค่าใช้จ่าย​ และก็ตามมาด้วยคำถามว่า​ ผ่อนไหวหรือไม่​ จะส่งดอกเบี้ยไปก่อน​ เงินต้นยังไม่ต้องดีหรือไม่​ หรือจะส่งเงินต้นส่งดอกเบี้ยกันแบบไหน​ ไอ้ตรงการ​ “หมุนหนี้” นี่แหละครับที่ยาก​ และยากลำบากในเวลานี้​ถ้าเดา​คาดการณ์​ถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวเองไม่ออก​ ตัวอย่างเช่น​ เป็นครอบครัวที่อิงรายได้จากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว​ ที่มีลูกค้าหลักคือชาวจีน​ และชาวรัสเซีย​ พอทราบว่าทางจีนใช้มาตรการ​ Zero Covid-19 แถมมีสงครามย่อย ๆ​ จนให้ชาวรัสเซีย​ใช้บัตรเครดิตไม่ได้​ อะไรมันจะเกิดกับเราล่ะ​ ปีหน้าจะดีขึ้นได้เมื่อไหร่​ มันจะเลวลงกว่านี้หรือไม่… และอีกมากมายคำถาม​ 

ถัดมาก็คือถ้ารายได้-รายจ่ายตอนนี้มันได้เท่านี้แหละ​ การเดินคุยกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้​ จึงเป็นเรื่องจำเป็น​ เจ้าหนี้ก็คือเจ้าหนี้​ เจ้าหนี้ไม่ใช่พระ​ แต่เจ้าหนี้ก็ไม่ใช่เจ้าชีวิต​ เพราะเจ้าหนี้ในระบบเขามีคุณครูใหญ่คอยดูแล​ การจะไปแล่เนื้อเถือหนัง​ แบบเก็บทุกเม็ดเงินของลูกหนี้มาจ่ายเงินต้นจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่รับฟังก็ทำไม่ได้​ มันจึงต้องมีการออกแบบมาตรการ​ ระเบียบ​ วิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้ในบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชี​ หนี้บ้านมันไม่เหมือนหนี้บัตรเครดิต​ สินเชื่อส่วนบุคคล​ เป็นต้น​ หลายเหตุการณ์ที่ผู้เขียนพบว่าตัวลูกหนี้​ พยายามทำความเข้าใจกับประกาศทางการที่ออกมากำกับดูแลสถาบันเจ้าหนี้​ เพื่อให้เข้าใจว่าเขาจะต้องทำอย่างไร​ เข้าจึงจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้​ การติดอาวุธ​ทางปัญญาให้กับลูกหนี้มันไม่สามารถทำได้โดยให้ลูกหนี้กรอกข้อมูล​ แล้วส่งข้อมูล​ต่อ​ เพราะตัวเจ้าหนี้นั้นมีอำนาจ​ ข้อมูล​ ความได้เปรียบตามธรรมชาติและข้อสัญญาอยู่แล้ว​ ผู้เขียนพูดเสมอว่า​ เสือไม่มีวันกินเจ​ ไม่ว่าเสือนั้นจะถูกเลี้ยงมาอย่างไร​ การกำกับดูแลเสือและตัวลูกหนี้​ ไม่ใช่การยืนอยู่ตรงกลางทางกายภาพ​ อย่างที่เราชอบพูดกันคือพบกันตรงกลาง​ คือมันไม่ใช่รั้ว​ ไม่ใช่ถนน​ ไม่ใช่หน้าบ้าน​ ข้างบ้าน​ แต่มันคือการสร้างทางเลือก​ การช่วยเลือกทางเลือก​ การช่วยประเมินทางเลือก​ เพื่อให้ทางเลือกนั้นเป็นทางออก​ ออกจากปัญหาชีวิต​ อาจจะออกได้แบบชั่วคราวในสองปีข้างหน้าก็ได้​ การยื่นมือ​ โดยยืนหลักตั้งมั่น​ ในระยะห่างที่ไม่ใช่ตรงกลางแบบกายภาพ​ แต่ยืนให้คนที่อ่อนแอ​กว่าไม่ต้องผวาตายไปตอนสบตาเสือ​ แต่ให้เขาได้เชื่อมั่นว่าแส้ที่ใช้กำกับเสือนั้นคือแส้ไฟฟ้า​ ที่มีไฟฟ้าจริง​ ไม่ติด ๆ ดับ ๆ ช่วยทำให้เสือสงบได้จริง​ ส่วนมันจะตกลงกันได้แบบไหนอย่างไร​ ในความเห็นผู้เขียน​ ทั้งเสือทั้งลูกหนี้และทั้งคนถือแส้ก็รู้ว่า​ สัตว์​โลกย่อมเป็นไปตามกรรม​ 

อดีตเป็นเหตุ

ปัจจุบันเป็นผล

ปัจจุบันเป็นเหตุ

อนาคตเป็นผล

ขอขอบคุณ​ทุกท่านที่เมตตาติดตามครับ