ยอดปรับโครงสร้างพุ่ง-ไหลกลับเป็น’เอ็นพีแอล’40% ‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงหนี้ครัวเรือน
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : วันที่ 17 เมษายน 2562
“เครดิตบูโร“ชี้เจนวายเจนเอ็กซ์ แชมป์เบี้ยวหนี้
กรุงเทพธุรกิจ “เครดิตบูโร“เผย “ไอเอ็มเอฟ” ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง หลังพบยอดปรับโครงสร้างหนี้โตต่อเนื่อง ทั้งยัง ไหลกลับเป็นหนี้เสียราว 40% สะท้อนคุณภาพหนี้เปราะบาง ชี้กลุ่ม”เจนวาย-เอ็กซ์” ครองแชมป์เบี้ยวหนี้สูง พบสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคลแย่ลงต่อเนื่อง ดันหนี้ครัวเรือน โตกระฉูด หนี้ครัวเรือนที่กลับมาเร่งตัวขึ้น โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2561 มียอดคงค้างอยู่ที่ 12.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขณะที่คุณภาพหนี้เริ่มลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ เรียกดูข้อมูลเครดิตของลูกค้าทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยไตรมาสแรกปี 2562 พบว่า มียอด ขอตรวจข้อมูลเครดิตลูกค้าใหม่จาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.36 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ ในปี 2561 มียอดขอดูข้อมูลเครดิต ลูกค้าใหม่รวม 16 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 14.29 ล้านครั้ง ขณะที่ยอดตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าในปี 2561 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 53.97 ล้านครั้ง จากปีก่อนหน้าที่ 43.85 ล้านครั้ง ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ มียอดขอดูข้อมูลรวม 12.59 ล้านครั้ง สะท้อนว่า ผู้ปล่อยสินเชื่อมีความกังวลในการปล่อย สินเชื่อ และไม่มั่นใจในคุณภาพหนี้ จึงขอดูข้อมูลประวัติลูกค้าเก่าถี่ขึ้น
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เริ่มสอบถามข้อมูลคุณภาพหนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทั้งสินเชื่อบุคคล รถยนต์ บ้าน และบัตรเครดิต โดยเฉพาะข้อมูลหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนลูกค้าและวงเงินหนี้ ล่าสุดหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง เพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 8.1-8.2 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระดับ 8 แสนล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนความเปราะบางที่มากขึ้นของคุณภาพหนี้ และหากดูสถิติจะพบว่าหนี้กลุ่มนี้หลังการปรับโครงสร้าง ยังคงไหลกลับมาเป็นหนี้เสียราว 40% “หนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ยังไหลไม่หยุดเป็นสิ่งที่ไอเอ็มเอฟถามเยอะและให้ความสนใจมาก ส่วนใหญ่หนี้ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างเป็นหนี้บ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้เป็นการสะสมความเสี่ยง เพิ่มขึ้น หากดอกเบี้ยขยับกลุ่มนี้แย่แน่นอนซึ่งข้อเป็นห่วงของไอเอ็มเอฟนี้ ทางเราได้รายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับทราบแล้ว”
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเข้ามาตรวจเครดิตบูโร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 และเข้ามาอีกครั้ง 8 ก.พ.2562 และเครดิตบูโรแจ้งข้อเป็นห่วง ของทางไอเอ็มเอฟไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับเอ็นพีแอลรวมของทั้งระบบ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 6.9% หรือคิดเป็นมูลค่าเอ็นพีแอลเกือบ 8 แสนล้านบาท และหากดูช่วงอายุของคนเป็นหนี้พบว่า ช่วงอายุเฉลี่ย 30 ปี มีสัดส่วนการเป็นเอ็นพีแอล เท่ากับ 21.3% แต่หากคิดจำนวนหัว พบว่า อายุ 35ปีเป็นกลุ่มที่มีหนี้เอ็นพีแอลมากที่สุด
ทั้งนี้หากดูหนี้แต่ละประเภท สินเชื่อ บ้าน ยอดปล่อยกู้ปีก่อน อยู่ที่ 4.3 แสนบัญชี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว 3.6 แสนบัญชี โดยส่วนใหญ่กลุ่มเจนวาย (อายุ 22-39ปี) เป็นกลุ่มที่ได้สินเชื่อมากที่สุดถึง 58% พบว่าหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 30วันขึ้นไป ปรับ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรวมทั้ง 3 กลุ่ม เจนวาย เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ มียอดค้างชำระถึง 2.2แสนบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ อยู่ที่ราว 2.4แสนล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าหนี้ค้างชำระเพียง 2.2แสนล้านบาท โดยหนี้ค้างชำระมากที่สุดในกลุ่มเจนวาย และเจนเอ็กซ์ ส่วนหนี้ค้างชำระในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ พบว่ายอดค้างชำระทุกกลุ่ม อยู่ที่ใกล้ 1 ล้านบัญชี โดยอยู่ในกลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์ราว 8.5 แสนคันที่เป็นหนี้มีปัญหา หรือคิดเป็นมูลหนี้ค้างชำระ ทุกกลุ่มที่อยู่ราว 2.6 แสนล้านบาท โดยหนี้ค้างชำระมากที่สุดอยู่ที่เจนวาย เกือบ 1.3 แสนล้านบาท
ขณะที่เครดิตการ์ด พบว่ากลยุทธ์แบงก์มุ่งไปเจาะกลุ่มเริ่มทำงานใหม่ 1-2ปีมากขึ้น โดยยอดการอนุมัติสินเชื่ออยู่ในกลุ่มเจนวายเกือบ 60% จากยอดอนุมัติบัตรทั้งสิ้น 2.4 ล้านบัญชีปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่มียอดอนุมัติ1.7 ล้านบัญชี ซึ่งหากดูบัตรเครดิตรวมทั้งหมดพบว่าปัจจุบันอยู่ที่ราว 20 ล้านใบ แต่มียอดแอคทีฟอยู่จริงเพียง 14 ล้านใบ ซึ่งในนี้มีจำนวนบัญชีที่มีปัญหาหรือค้างชำระถึง 1ล้านใบ ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเจนวาย และเจนเอ็กซ์
สุดท้ายคือ สินเชื่อบุคคล ที่พบว่า มียอดค้างชำระตั้งแต่ 30วันเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ที่มีปัญหารวมทุกกลุ่มแล้วอยู่ที่ 2.8 ล้านบัญชี โดยมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเจนวาย ที่มีบัญชีที่ค้างชำระกว่า 1.5 ล้านบัญชี ขณะที่คิดเป็น วงเงินพบอยู่ที่กว่า 2.6 แสนล้านบาท โดยมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ กว่า 1.2แสนล้านบาท และเจนวาย อีก 9 หมื่นล้านบาท