เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “หยุดใช้จ่ายเกินตัว ยอดหนี้บัตรเครดิตโต30%” วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562

เรื่อง “หยุดใช้จ่ายเกินตัว ยอดหนี้บัตรเครดิตโต30%”
โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/592218

เริ่มชื่อบทความของผมในครั้งนี้​ ขอยกเอาข้อความตอนหนึ่งของผู้บริหารสาวเก่งของสถาบันผู้ให้บริการสินเชื่อผ่อนชำระ​ พวกกู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด​ หรือสินเชื่อบุคคล​ ที่เรารู้จักกันในชื่อ​ Non bank ที่มีฐานลูกค้าของตัวเองกว่า​ 2ล้านราย
ท่านผู้บริหารได้เปิดเผยข้อมูลในส่วนที่ท่านบริหารว่า​ ยอดการใช้จ่ายในช่วง​ 4 เดือนปี​ 2562​ ที่ผ่านบัตรเครดิตเติบโตสูงถึง​ 30% คิดเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ย​ 8.5พันบาทต่อบัตร​ ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสินเชื่อผ่อนชำระและกดเงินสด เติบโตถึง 18% โดยคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีจะเติบโต 11-12% ท่านได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า
(1)ในส่วนของกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดเพดานวงเงินและกำกับสถาบันการเงินในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส​ 3ปี​ 2560นั้น ยอมรับว่า จะกระทบกับลูกค้าที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ซึ่งส่วนหนึ่งทางกิจการก็ได้เปิดตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ 8 อาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ลูกจ้างทำงานชั่วคราว ลาล่ามูฟ วินมอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ยังคุมมาตรฐานการก่อหนี้สำหรับคุณภาพลูกค้ารายใหม่ควบคู่กันไปด้วย

(2)จุดที่สำคัญคืออัตราการอนุมัติอยู่ที่ 40%(หนึ่งร้อยใบสมัครจะอนุมัติได้ประมาณ​ 40ใบสมัคร) ส่วนเรื่องของสาเหตุยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 60% เพราะสภาพหนี้เร่งตัวขึ้นกว่ารายได้ หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(DSR) สูงเกินไป​เป็นข้อมูลที่สะท้อนว่า ผู้ขอกู้มีหนี้มากกว่ารายได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นหนี้โตไปเร็ว แต่รายได้โตไม่ทันแล้ว เรา(ตัวคนปล่อยกู้)​จะปล่อยกู้ใหม่ให้เขาได้อย่างไร

(3)มีการพบข้อมูลสำคัญว่าผู้ยื่นขอกู้ที่ถูกปฏิเสธคือ บางรายมีความพยายามจะกลับมายื่นขอกู้อีกครั้งใน 6 เดือนถัดไปบ้าง บางคนยื่นกู้ถึง 10 ครั้ง หรือมีความต้องการวงเงินมากเกินไป แต่ไม่ได้การอนุมัติซึ่งก็หมายความว่า เรา(คนที่ให้กู้)จะไปเพิ่มภาระหนี้ให้คนขอกู้ เพราะถ้ายังให้กู้เพิ่ม​ มันก็จะทำให้ DSR (อัตราส่วนภาระหนี้ต่อเดือนทุกบัญชีต่อรายได้ที่รับในแต่ละเดือนหรือ​ Debt​ Service Ratio )​สูงขึ้น คนให้กู้จึงจำเป็นต้องคุมคุณภาพหนี้พร้อมไปกับการปล่อยกู้รู้ด้วย

(4)โครงการที่จะให้ความรู้เรื่องทางการเงินที่ผ่านมาของคนให้กู้​จะเน้นเรื่องอย่าฟุ่มเฟือย​ คิดก่อนใช้​ หามาก่อนใช้​ ขณะเดียวกันต้องขยันหารายได้เพิ่ม มีการบอกผู้กู้หรือลูกค้าที่มาขอสินเชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า “ช่วงที่ไม่มีปัญหา อย่าสร้างปัญหา แนะนำให้อยู่นิ่งๆ พอมีรายได้เพิ่มค่อยไปยื่นขอกู้”

(5)ตามแผนของสถาบันการเงินเท่าที่ติดตามข่าวมาผู้เขียนพบว่า
5.1​ มีการดูภาระหนี้ในช่วงเวลาหนึ่งของคนกู้คนคนหนึ่งหรือภาระหนี้รวม​ ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนทุกสัญญา​ ข้อมูลนี้มาจากเครดิตบูโร​ ภายใต้ความยินยอมของลูกค้า​ เจ้าของข้อมูลที่บอกให้เครดิตบูโรเปิดเผยข้อมูลของเขาให้กับว่าที่เจ้าหนี้ที่ท่านเจ้าของข้อมูลไปยื่นขอกู้
5.2ประเด็นปัญหาคือ
กลุ่มที่​ 1 ผู้ขอกู้ไม่เคยมีประวัติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินจะยากในการตรวจสอบประวัติเครดิต เพราะไม่มีบันทึกในเครดิตบูโร ซึ่งต้องแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆมาแทน
กลุ่มที่​ 2 สินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์​ สินเชื่อเพื่อการศึกษา​ สินเชื่อสวัสดิการ​ ที่มันมียอดผ่อนในแต่ละเดือน​ มันไม่มีการรายงานส่งเข้าระบบเครดิตบูโร​ ดังนั้นก็อาจทำให้การคำนวณ​ DSR คลาดเคลื่อนไป​

การกำหนดความเหมาะสมคนที่จะกู้ได้คือ​ DSR ​ไม่ควรเกิน​ 50%ของรายได้​ กล่าวคือเอารายได้ที่ได้รับมาผ่อนหนี้ทุกก้อน​ ทุกสัญญาในแต่ละเดือนไม่เกิน​ 50%ของรายได้นั้น​ หนี้ที่คิดจะก่อเพิ่มแล้วทำให้สัดส่วนนี้สูงขึ้นก้ไม่ควรทำ​ และคนให้กู้ก็ไม่ควรให้กู้เพิ่ม
“ช่วงที่ไม่มีปัญหา อย่าสร้างปัญหา แนะนำให้อยู่นิ่งๆ พอมีรายได้เพิ่มค่อยไปยื่นขอกู้” คำแนะนำที่ควรฟังให้ได้ยินครับ