คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เก็บตกจากงาน ‘ยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน’ ” วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

เก็บตกจากงานยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561

การแก้ไขความยากจนเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศของเราเฝ้าเพียรพยายามแก้ไขกันมาทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็จะดำเนินนโยบาย มาตรการต่างๆ นานามาโดยตลอด เป็นมาตรการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก็ไม่น้อย ที่หนักๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นกับการถูกกล่าวหาว่าหว่านเงินซื้อเสียง แจกไม่ถูกจุด แจกไม่ถูกคน แจกไม่ตรงกับความต้องการของคนจน

เหตุผลประการเดียวที่ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้าขาดพลัง ขาดประสิทธิภาพก็เพราะ

1.หน่วยงานแต่ละแห่งทำกับกลุ่มเป้าหมายของตน ไม่สนกับเป้าหมายของหน่วยงานอื่น

2.ข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบสมบูรณ์ หรือไม่ทันสมัย ที่สำคัญมากกว่านั้นคือไม่มีข้อมูลที่ควรจะมี เป็นต้น

3.ข้อมูลไม่ได้ถูกการวิเคราะห์ในรายละเอียดจนเห็นรากเหง้าของปัญหา พูดง่ายๆ คือไม่มีการวิเคราะห์ วิจัยอย่างมีหลักวิชา

4.การติดตามผลหลังจากที่ได้ส่งมาตรการลงไปแล้วเป็นรอบๆ ไม่ทำกันแบบจริงจัง ว่าเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือไม่

รัฐบาลนี้โดยการนำของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงได้เสนอนโยบายแบบยาชุดแก้จนดังนี้ คือ

1.จัดให้มีคำจำกัดความว่าผู้มี รายได้น้อย หรือผู้มีรายได้น้อยระดับยากจนหมายถึงใคร อยู่ที่ไหน หน้าตาเป็นแบบไหน จนเพราะอะไร จะช่วยให้หายจะเป็นอย่างไร

 2.จัดให้มีการมาลงทะเบียนด้วยตนเอง โดยมีธนาคารของรัฐสนับสนุนอย่างแข็งขันพร้อมจัดให้มีกระบวนการคัดกรองด้วยเงื่อนไขต่างๆ เพื่อสกัด คนอยากจะจน ที่มาลงทะเบียนเป็นคนจนตัวปลอม

3.เอาข้อมูลมาออกแบบนโยบายมาตรการในการบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนค่าครองชีพ ในลักษณะให้เปล่า ในระยะแรก ระยะต่อมาคือให้สมัครใจมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้เขาให้ดีกว่าเดิม ลักษณะที่ว่านี้คือการให้เบ็ดเขาไปตกปลาเอง กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ประมาณสี่ห้าล้านคน ข้อสงสัยของผมคือแล้วคนที่มือ เท้าดี ตาดี เป็นคนมีรายได้น้อย แต่ไม่มาลงทะเบียนรับการเพิ่มศักยภาพแล้ว กลุ่มนี้จะมีมาตรการอะไรบ้าง

4.เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเรื่อง อื่นๆ เช่น เรื่องประชาสงเคราะห์ เรื่องประวัติการรักษาพยาบาล เรื่องตัวตน คนค้าขายในโลกออนไลน์ เรื่องประวัติการชำระสินเชื่อ การใช้สาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น ปัญหาอุปสรรคใหญ่ คือ ข้อกฎหมายที่กำกับดูแล หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ความกล้าที่จะเปิดข้อมูล ความกล้าของผู้นำหน่วยงานนั้นๆ

5.ออกมาตรการเพิ่มให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลฟรี การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้จ่ายที่ง่ายขึ้น ทั้งใช้ บัตร ใช้เครื่องอ่านบัตร ใช้สแกนคิวอาร์โค้ด การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เป็นต้น

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าข้อมูลคือ ความรู้ ข้อมูลคือพลัง ข้อมูลคืออำนาจในโลกยุคใหม่ ข้อมูลที่มากพอ ดีพอ ครอบคลุมพอ จะสามารถตอบคำถาม คนจนคือใคร คนจนอยู่ไหน อะไรทำให้เขาจน ใครต้องทำอะไรเขาถึงจะหายจน และเราจะรู้ได้ไหมก่อนที่เขาจะจนแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันก่อน

ท่านผู้อ่านครับความสำคัญในเรื่องการเอาชุดข้อมูลการลงทะเบียน ผู้มีรายได้น้อยมาคิดวิธีการแก้ไขปัญหา หัวใจสำคัญคือการตั้งคำถาม เพราะถ้าตั้งคำถามถูก หาคำตอบมาได้ถูก เรื่องคนจนเราก็จะแก้ไขได้ถูกฝาถูกตัว ถูกต้องตามกติกา และถูกใจคนได้รับ สุดท้ายแต่ไม่ใช่ท้ายสุดเราจะป้องกันคนที่อยากจะจนไม่ให้เข้ามาในระบบได้อย่างไร ในทางกลับกันเราจะเอาคนที่ควรมีสิทธิมาเข้าในระบบได้อย่างไรถ้าเขาตกสำรวจ

ทิศทางของโครงการยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน กำลังผลิดอกออกผล เรามาช่วยกันเสนอความเห็นดีๆ กันต่อไปนะครับ