เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : มุมมองบ้าน ๆ คิดว่าเราจะเห็นอะไรในช่วงแรกของปี 2565​ : วันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565

มุมมองบ้าน ๆ คิดว่าเราจะเห็นอะไรในช่วงแรกของปี 2565

ในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องจากปลายปีเก่าไปสู่ปีใหม่ ปีเก่าที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก แม้จนจะถึงวันเฉลิมฉลองก็ยังต้องลุ้นว่า จะออกไปปะทะกับแสงสีได้ขนาดไหน บางครอบครัวเลือกที่จะฉลองกันบนห้องพักในคอนโดกับคนใกล้ชิด เพื่อนฝูงไม่กี่คน และดูพลุไฟแบบห่าง ๆ ส่วนคนใจถึงพึ่งได้ก็ต้องร้านเหล้า ร้านอาหารในย่านในทำเลที่ครึกครื้น ผู้เขียนนั่งดูหนังที่บ้านสลับกับการดูเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วก็อยากจะเริ่มต้นบทความในปีใหม่นี้ ด้วยการลองคิดดูว่าในระยะสั้น ๆ ไม่เกินครึ่งปีของปีใหม่เราจะได้เห็นอะไรบ้างในระดับคนเดินถนน เดินบนฟุตพาท อยู่บ้านเช่ากินข้าวกล่อง สิ่งที่คิดนะครับ จะถูกจะผิดก็ลองช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์มีดังนี้

1. จะมีการเลิกจ้าง เอาคนออก เปลี่ยนวิธีการใช้คนทำงานแบบใหม่ เพราะกิจการเริ่มรู้ เริ่มตั้งหลักได้แล้วว่า ในแง่ของธุรกิจที่จะเดินต่อไปในอนาคตอันใกล้ มันไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะขนาดนี้ ตัวอย่างเช่น

1.1 คนไม่จำเป็นต้องทำงาน 9 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น 5 วันต่อสัปดาห์อีกแล้ว ทำเพียง 3-4 วันต่อสัปดาห์ เวลาทำงานก็กำหนดเอา คุยกันผ่านการประชุมออนไลน์ได้หรือไม่ การคิดค่าจ้างก็จะยืดหยุ่นมากขึ้น

1.2 จ้างเป็นชิ้นงานดีกว่าหรือไม่ งานบางอย่างเช่น งานกราฟิกดีไซน์ งานการออกแบบ งานดูแลรักษาอุปกรณ์ ไม่ต้องเป็นพนักงานประจำก็ได้หรือไม่ ว่ากันเป็นชิ้น ๆ ไป

1.3 ลดระดับบริหารลงมา เพราะไม่มีอะไรต้องบริหารหลายลำดับชั้น จากเบอร์หนึ่งก็ลงมาถึงระดับคนทำงานได้เลยสักไม่เกินสามชั้น เพราะมีหลายชั้นมันก็ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจมันแตกต่าง ความรู้สึกนี้เห็นได้จากการทำงาน ส่งงาน สั่งงานทางออนไลน์ อันนี้จะลดต้นทุนได้เยอะ

1.4 สัญญาจ้างที่แตกต่างหลากหลาย โดยผูกกันตามสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ผลตอบแทนที่มีโบนัสขั้นต่ำบวก performances หรือเอาแบบ performances 100% เรียกว่าใครทำใครได้กันไปเลย จะไม่มีแบบสัญญาจ้างทำงานแบบ one size fit all

1.5 การวางแผนอัตรากำลัง การวางแผนกำลังคนที่จะใช้ในการทำงานแบบยืดหยุ่น จะทำให้หลาย ๆ คนตัดสินใจรับเงินก้อนตอนปลายปี ตอนตรุษจีนแล้วก็จากกันไป แน่นอนว่าเด็กจบใหม่จะหางานได้ยากมาก การทำงานต่ำกว่าระดับจะเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และการว่างงานเสมือน (ทำงานไม่ถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ก็จะเพิ่มสุดท้ายคือตัวเลขคนคืนถิ่น กลับบ้าน กลับไปหาทุนที่ตนเองมีแต่จากมาทำงานในเมืองหลวง เช่น ลูกหลานคนมีที่ มีสวน มีไร่นา จำนวนคนที่คืนถิ่นน่าจะไปถึง 3-4 ล้านคนเลยทีเดียว

2. การหาหนทางสร้างรายได้แบบใหม่ ๆ ทั้งภาครัฐก็ต้องหาวิธีการถอนขนห่าน เพิ่มจำนวนห่าน ให้ยาเร่งไข่ห่าน เพราะภาครัฐก่อหนี้ไว้เยอะในช่วงที่ผ่านมา การคิดค้นหาหนทางสร้างรายรับแบบขยี้คนรวย คนที่คิดว่าเขารวย เอามาช่วยคนจน คนมีรายได้น้อย เราคงจะได้เห็นกลเม็ดเด็ดพรายกัน ส่วนภาคเอกชนก็ต้องดิ้นรนหาทางสร้างรายได้จากคนที่ยังพอมีกำลังซื้อ เห็นได้จากเรื่องท่องเที่ยวภายในประเทศ การทำให้คนที่ไม่ชอบเที่ยวในประเทศกลับมาเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกำอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าจะมีเหตุมาจากการไปต่างประเทศไม่ได้บางส่วนก็ตาม แน่นอนว่าการเข้าไปทำธุรกิจบนพื้นที่ออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เอาแบบตรงจริตคนไทยที่ชอบเดิมพันหน่อย ๆ ตัวอย่างก็ เช่น กล่องสุ่ม เป็นต้น สำหรับผู้คนทั่วไป การดิ้นรนทำมาหากินให้ทันกับรายจ่าย และการผ่อนหนี้ ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สุด ๆ ยิ่งใครที่ชอบหาภาระมาใส่ตัวก็จะยิ่งหนักหนาสาหัส ไหนจะคู่สมรส ไหนจะลูกหลาน ไหนจะพ่อแม่บุพการี ไหนจะครอบครัวคู่สมรส ยิ่งถ้าเป็นคนอายุประมาณ 40 ปี ก็ต้องเรียกว่า midlife crisis เพราะเจอพายุเศรษฐกิจและสังคมมากันครบ ถ้าตำแหน่งแห่งที่ตั้งตัวได้ก็รอด ถ้าการงานไม่มั่นคงก็มีเสียวไส้

ผู้เขียนได้แต่คิดในใจกับท่าน ๆ ที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ออกมาพูดว่า เศรษฐกิจเรามีหลุมรายได้ เราต้องกลบหลุมรายได้ด้วยการหารายได้ อย่าใช้หนี้มากลบหลุมรายได้ที่เกิดจาก income shock ซึ่งมาจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้เขียนก็อยากจะถามท่านว่า แล้วจะให้หารายได้ด้วยวิธีการอันไดเล่า ท่านๆมองเห็นแต่ปัญหา อธิบายปัญหาเก่ง ท่านช่วยใช้ปัญญาแจ้งทางออกจากปัญหาด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง ผู้เขียนรอคำตอบพร้อมกับชาวบ้านอยู่นะครับ

3. การกลัวอดตาย มากกว่ากว่ากลัวติดเชื้อโควิด-19 ตาย น่าจะเป็นแรงบันดาลใจหลักในการใช้ชีวิตในช่วงต้น ปีพ.ศ.ใหม่นี้ ความเข้าใจในเชื้อโรคมีระดับหนึ่ง การป้องกันตัวก็จะมีความเคร่งครัดเพิ่มตามความแรงของข่าวจำนวนการติดเชื้อรายวัน แน่นอนว่าความอดทนในการใส่หน้ากากมาเป็นปี ๆ ยังต้องทำต่อไป และต้องทำอย่างหลีกไม่ได้ ส่วนอาการของบรรดากูรู กูรู้กว่าอาจารย์หมอน่าจะเพลาลงมาได้ระดับหนึ่ง การ lockdown คงไม่สามารถทำได้เพราะมันมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก อีกทั้งมันทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองหดหายในช่วงปลายสมัยของฝ่ายบริหารบ้านเมือง การประคองตัวไปใน 3 ด้านคือ

(1) ด้านการแพทย์ เจ็บหรือติดก็ต้องรักษากันไป ที่ตายก็ต้องถือว่าสุดทางแล้ว ต้องยอมรับกันไป การป่าวประกาศให้ระวังก็จะมีมาเป็นระยะตามความแรงของการกลายพันธุ์

(2) ด้านเศรษฐกิจไทย ก็คงโตแบบเตี้ย ๆ ลาก ๆ กันไป อันไหนแก้ได้ก็แก้ อันไหนแก้ยากก็วางไว้ก่อน อันไหนทำไปแล้วก็ต้องเอาให้จบ จบให้เร็ว จบให้สวย จบแบบไม่มีคดีตามมา การวางอะไรระยะยาวคงยากมาก ๆ ปี 2565 น่าจะเข้าสู่โหมดปรับตัว อยู่ให้เป็นหลังจากอยู่รอด อย่าไปหวังว่าจะเฟื่องฟูทะลุฟ้า อันนั้นคงฝันไป

(3) ด้านผู้คนที่มีภาระ ก็ต้องสะสางภาระที่ก่อกันไว้ ปรับโครงสร้างหนี้ จ่ายคืนแบบหน้าต่ำหลังสูง ช่องไหนมีทางเจรจาสู้ไปเคลียร์ไปกับเจ้าหนี้ได้ก็ต้องทำ บางท่านอาจได้แต่เลี้ยงงวดจ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินจ่ายไม่เข้าต้นก็ต้องทนกันไป แต่ถ้าต้องกินใช้แบบต้องกู้ฉุกเฉินตลอดอันนี้ก็ต้องกินสองมื้อแบบพระท่านแล้วล่ะครับ คำว่าอดมื้อกินมื้อบนภาระหนี้สินที่ก่อไว้ก่อนหน้าแบบใช้ไปก่อนผ่อนทีหลัง กินก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง เวลานี้คือเวลาใช้คืนครับ ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง

ในช่วงแรกของปี คงไม่ใช่ปีที่ชัดเจน มันจะพร่ามัว มองไม่ชัดเจน และจะยากลำบากตามระดับของสิ่งที่ได้ก่อไว้ในอดีต อันเป็นธรรมดาของโลกครับ

อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล

ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตจะเป็นผล

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ