เสียงสะท้อนจากการผู้ประกอบการค้าปลีก…หมดแรงกับหมดลม
ในท่ามกลางสงครามการแพร่ระบาดโควิด-19 โค้งสองตามที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เคยกล่าวไว้ว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญเหตุเพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 เที่ยวนี้มันมากระแทกความเปราะบางของผู้คนที่มีกำลังลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบหนึ่งและสอง การระดมฉีดวัคซีนให้มาก ให้เร็ว ให้ไว รวมทั้งการตอบสนองแบบความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับผู้คน ไม่โทษเขาเหล่านั้นว่าไม่ระมัดระวังตัวตามสมควร คิดใหม่ทำใหม่ คิดในแบบที่ข้ามระบบราชการที่อะไรก็ไม่ได้ต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมายที่มันออกมาตั้งแต่โรคอหิวาต์ระบาดแต่มันตามไม่ทันกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ดังที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในแทบทุกช่องทาง อย่างไรก็ตาม หากจะคิดว่าช้าไม่ทันใจ แต่ก็ยังมีวันเริ่มต้นพลิกกลับมาได้ อย่างน้อยวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เราจะได้เห็นการฉีดวัคซีนแบบทุกมุมเมืองกัน เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเข้าแขน
กลับมายังหัวข้อของบทความ ข่าวจากสมาคมค้าปลีกไทยที่แถลงออกมามีความสำคัญในใจความหนึ่งที่ผู้เขียนขอนำเสนอคือ
(1) ผู้ประกอบการกว่า 29% จากการสำรวจทั่วประเทศระบุว่ายอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25%
(2) ดังนั้นการบริหารจัดการจึงต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด (ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสัญญาณอันตรายเพราะจะกระทบกับรายได้ของลูกจ้าง พนักงาน จนลามไปหาภาระหนี้สินของท่านเหล่านั้นที่จะติดขัดมากขึ้นไปอีกจากปัจจุบันที่ก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว)
(3) ผู้ประกอบการ 41% ของการสำรวจระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% (หรือ 1 ใน 4 แล้ว) ส่วนอีก 38% บอกว่า จะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิมแต่คงไม่ได้นาน
(4) ผู้ประกอบการ 39% จากการสำรวจระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน จุดสำคัญมากๆคือในจำนวนนี้ 8% บอกว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน (อันนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นสัญญาณอันตรายมาก ๆ นะครับ เพราะระยะเวลากับกระแสเงินสดหมุนเวียนเริ่มไม่พอ… เหมือนปลาขาดออกซิเจนนะครับ)
(5) ข้อเสนอต่อภาครัฐยังคงเป็นการเร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง (ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปแบบปูพรม) เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค เพราะผู้คนจะกล้าจับจ่ายใช้สอย มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่ม ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าตนเองและคนรอบข้างปลอดภัย “เธอไม่แพร่เชื้อใส่ฉัน ฉันมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน” เป็นต้น
(6) ความคาดหมายและหวังถึงมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% ตามที่มีกระแสข่าวออกมาให้แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ แบบคล้าย ๆ กับร่วมด้วยช่วยกันคนละครึ่ง วัดครึ่ง-กรรมการครึ่ง แต่ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้อง ค้าขายถูกต้อง อยู่ในระบบถูกต้อง เสียภาษีครบถ้วนถูกต้อง ตรงนี้อาจมีข้อติดขัดเรื่องข้อมูลที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์มากพอ
(7) เรื่องท้ายสุดก็คือควรเร่งรัดโครงการที่ธนาคารพาณิชย์จับคู่กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในการส่งข้อมูลการค้าขาย (หั่งเช้ง) ของซัพพลายเออร์ (Supplier) ว่ามียอดชำระเงิน ได้รับเงินจากห้างค้าปลีกในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลช่วยหรือเสริมในการพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan แก่คู่ค้า-Supplier ระดับ Micro SME (ยอดซื้อ-ขายไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อเดือน) ตามโมเดล Sandbox ที่ธนาคารกสิกรไทยทำกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และธนาคารกรุงไทยทำกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เป็นต้นแบบไว้แล้ว (หากตามไปอ่านถ้อยแถลงของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นว่าท่านให้การสนับสนุนแนวทางนี้และอยากให้มีการขยายในวงกว้าง) ซึ่งในระยะต่อไปหากเดินเครื่อง Digital factoring ที่ ธปท. รับดูแลระบบในช่วงต้นให้ก่อนเข้าไปอีก การให้สินเชื่อจากใบสั่งซื้อ ใบส่งของและใบแจ้งหนี้ บวกกับการดำเนินการเรื่องเครดิตการค้าตามประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแล้วก็น่าจะช่วยให้การประคองกันไปของผู้ซื้อ (ห้างค้าปลีก) ผู้ขาย (Supplier) ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง ภาครัฐ เป็นไปตามเป้าหมายสอดคล้องกับมาตรการเติมออกซิเจนที่จะหยอดมาผ่านกระเป๋าเงินของผู้คนที่ลงทะเบียนไว้นับล้าน ๆ คนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ต่อไป
การเร่งฉีดวัคซีน การเสริมสภาพคล่อง การปลดล็อกความช่วยเหลือในเงื่อนไขการให้สินเชื่อ การทำตามกฎหมายเรื่องเครดิตการค้า การช่วยกันของคนตัวใหญ่-คนตัวเล็ก การเติมเงินช่วยเหลือเยียวยาภาครัฐ และอย่าลืมมาตรการทางสาธารณสุข ใส่หน้ากาก ล้างมือให้บ่อย หลีกการชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อน หลีกกิจกรรมที่เสี่ยงในพื้นที่อากาศปิด… คือสิ่งที่ต้องเป็นไป…