เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : สู้ไปก็รอด​ ถอดใจก็ไปก่อน : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564

สู้ไปก็รอด​ ถอดใจก็ไปก่อน

บทความนี้ต้องขอยกเครดิตให้กับเพื่อนของผู้เขียน​ เขาเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวกับรถยน​ต์มือสอง​ เป็น​ SMEs ตัวจริงเสียงจริง​ เป็นผลผลิตของเด็กจากรั้วมหาวิทยาลัยริมน้ำเจ้าพระยา​ ผ่านโครงการฝึกอบรมที่ถือได้ว่าดีที่สุดในยุคเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน​ โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมืองหรือ​ SIP ของธนาคารดอกบัว​ ณ​ ถนนสีลม​ โดยมีท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรี​ที่ถือว่าเก่งสุด ๆ ของเมืองไทย​ ดร.อำนวย​ วีรวรรณ​ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการสมัยเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารพาณิชย์​แห่งนั้น​ แน่นอนว่าตัวผู้เขียนและเพื่อน ๆ ซึ่งปัจจุบันต่างเติบโตอยู่ในแวดวงคนทำงานทั้งราชการและเอกชน​ เป็นทั้งลูกจ้างมืออาชีพ​ เจ้าของกิจการ​ ข้าราชการภาครัฐ​ รัฐวิสาหกิจ​ หรือเป็นนักลงทุนอิสระ​ ต่างก็เจอกับวิกฤตการณ์​มาไม่น้อย​ เราผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ​ปี​ 2540​ ผ่านสงครามสีเสื้อ (กีฬาสี)​ ผ่านวิกฤติ​ทางการเงินปี​ 2551 ผ่านวิกฤติ​น้ำท่วมใหญ่​ ผ่านสถานการณ์​รัฐประหาร​ และถึงตอนนี้คนรุ่นอายุ​ 50 กว่าปีจนถึงใกล้เกษียณ​อย่างตัวผู้เขียนและเพื่อนต้องมาเจอกับวิกฤติ​ทางสาธารณสุขที่เป็นเหตุให้เกิดวิกฤติ​ทางเศรษฐกิจ​และกำลังจะลามไปเป็นวิกฤติ​ทางสังคม​ ทางการเมือง​ โดยเฉพาะเมื่อมองจากคนอายุผ่านครึ่งร้อยปีมาก็พอจะเห็นเค้าลางความเสี่ยงของทั้งระบบในสังคม​ เศรษฐกิจ​ การเมือง​ ที่ลามลงมาถึงระดับรากฐานของครอบครัวในเวลานี้​

เพื่อนของผู้เขียนได้กล่าวในถ้อยคำตอนส่งข้อความมาทักทายตอนเช้าวันที่​ 1 สิงหาคม​ 2564​ ดังนี้​

“ท่ามกลางการต่อสู้กับพิษโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ​ คนไทยเราต้องเผชิญกับ…
*Fake News ที่วุ่นวายสับสน​ จากความหวังดีประสงค์​ร้าย​ จากความไม่รู้จักผิด​ ชอบ​ ชั่ว​ ดี​ จากความเชื่อง่าย​ แชร์ไว​ ไม่คิดไตร่ตรองว่ามันน่าจะถูกหรือผิด​ เรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่า​ คนของเรามีจุดอ่อนจริง ๆ​ ตัวอย่างง่าย ๆ​ วัคซีน​ทุกยี่ห้อ​ มันออกมาในภาวะฉุกเฉิน​ มันป้องกันการเจ็บหนัก​ ผ่อนหนักเป็นเบา​ แต่เรื่องการป้องกันการติดเชื้อนั้นมันไม่มีใครรับรองได้​ เพราะความสามารถ​ของเชื้อมันรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์​ คนส่วนหนึ่งก็ยังด้อยค่าของอันจำเป็น​ในชีวิต จนทำให้การบริหารจัดการความคาดหวังของผู้คนที่อ่อนไหวในเรื่องความเชื่อเละเทะอย่างไม่น่าเชื่อ​

*Hate Speech ที่รุนแรงขึ้น​ รุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา​ ธรรมดาจนกลายเป็นนวัตกรรม​ในการขับเคลื่อนความต้องการ​ของปัจเจกหรือกลุ่มคน​ เวลานี้ในการสนทนากันทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว​ สถานที่ทำงาน​ สังคมเพื่อนฝูง​ ต่างผลักดันความเชื่อของตนให้คนเห็นตรงกัน​ ต้องเห็นด้วยแบบไปไหนไปกัน ไปตายด้วยกันก็เอา​ ไปติดคุกด้วยกันก็ได้​ ถ้าเป็นคนเห็นต่างก็ต้องจัดการให้จมดิน​ บี้ให้เละ​ ขยี้ให้ตายคามือถือ​ ถล่มให้จมดินในปฐพี​ดิจิทัล​ เห็นต่างคือศัตรู​ เวลานี้ถ้าจะขอโทษ​ ต้องเขียนลง​เฟซบุ๊กต้องการให้ตนเองได้สิ่งใดต้อง​ Live สถานการณ์​สด ๆ​ เสียง​ ภาพ​ ประกอบครบ​ วัฒนธรรม​การขับเคลื่อนด้วยการด่าทอ​ ในระยะสั้นอาจได้ผล​ เพราะคนหน่วยงานที่ถูกด่านั้นตอบสนองและจัดให้ตามต้องการ​ แต่มันจะมีจุด ๆ หนึ่งที่​ มันจะไม่ยอมกัน​ พร้อมจะหักหาญกัน​ ใช้กำลังทั้งกาย วาจา​ และใจที่โหดร้ายบดใส่กัน​ สุดท้ายคือการสูญเสีย​ของคู่กรณี​ และก็เป็นเหมือนการดูหนัง​ ฟังเพลงของคนที่รับชม​ ซึ่งอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้อง​ เกี่ยวพัน​ หรือมีส่วนได้เสียกับเรื่องนั้นๆ​ แต่มีลักษณะ​เป็นไทยมุงดิจิทัลที่ส่งเสียงเชียร์​ สู้มัน ๆ​ ฆ่ามัน ๆ​ เพื่อนผู้เขียนตั้งคำถามว่า​ เราได้อะไรจากสิ่งนั้นจริง ๆ​ นอกจากความเกลียดชัง​ เราสามารถเกลียดชังคนที่เราไม่รู้จัก​ เกลียดคนที่เราไม่ได้เจอ​ ตัดสินเรื่องที่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์​ได้แบบว่า​ ให้ประหารชีวิตคู่กรณี​ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ในชั่วขณะเลยหรืออย่างไร​ เราสามารถเปล่งเสียงด้วยการเขียนต่อว่าผู้อื่นได้ในพริบตา​ของการไถมือถือได้เลยหรืออย่างไร​

1 สิงหาคม​ 2654 เริ่มต้นเดือนใหม่
ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำกัน​ เพราะเราต้องทำสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม​ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม​ ในระบบเศรษฐกิจ​ที่ไม่เหมือนเดิม​ ในสภาพแวดล้อม​ที่ไม่เหมือนเดิม​ เพราะอะไร​ ก็เพราะเราต้องการผลลัพธ์​ที่ไม่เหมือนเดิม​ ผลลัพธ์​ที่ตอบโจทย์​ที่ยากกว่าที่เคยเจอมาครึ่งชีวิต​
นอกเหนือจากการใส่หน้ากาก​ อยู่ห่างๆ ผู้คน​ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์​บ่อย ๆ​ แยกกันทานอาหาร​ งดการสังสรรค์​หรือรวมกลุ่มกัน​แล้ว​ ในการปฏิบัติตน​ เรายังต้องทำอย่างน้อย​ 5 เรื่องในพฤติกรรมของตัวเรา​ อย่าไปเรียกร้องใครให้ทำครับ​ ทำด้วยตนเอง​ ใครไม่ทำก็ช่างเขา​ เรื่องที่ควรทำ​ และต้องทำในช่วง​ 2 เดือนข้างหน้าที่จะเป็นช่วงเวลาตัดสินว่า​ เราจะรอดไปด้วยกันในระยะสั้นหรือไม่ก็คือ
1. อย่ามักง่าย
2. อย่าเห็นแก่ได้
3. อย่าโลภมาก (บางท่านบอก​ อย่าหน้าด้าน)​
4. อย่าประมาท
5. อย่าโอหัง
ต้องขอขอบคุณ​วิทยากรผู้ดำเนินรายการมืออาชีพรายการคุยได้คุยดี​ news and music ท่านผู้ร่วมรายการที่โทรเข้ามาที่หลากหลายมาก ๆ ที่ผู้เขียนได้ฟังเป็นความรู้มาโดยตลอด​ สถานการณ์​ในสองเดือนข้างหน้า​ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในเวลานี้ยังน่าจะไปยังไม่ถึงจุดสูงสุด​ ยังไม่ใช่จุดที่ย่อตัวลง​อย่างที่ใจเราหวัง​ เราจะไปถึง​ 100 ล้านโดสในสิ้นปีนี้ไหม สำหรับการฉีดวัคซีน​ เราจะเปิดบ้านเปิดเมืองใน​ 120 วันตามที่เราตั้งเป้าได้ไหม การส่งออก​ของเราในภาคอุตสาหกรรม​จะได้รับผลกระทบต้องเปิดต้องปิดกันอย่างไร​ 13 จังหวัดสำคัญ​ของการควบคุมการแพร่ระบาดจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่​ ไม่ต้องพูดถึง​ตัวเลขทางเศรษฐกิจ​ว่าจะเติบโตได้แค่ไหน​ หนี้ครัวเรือนจะเป็นอย่างไร​ เพราะเวลานี้​ แทบทุกบ้านจะดูตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทุกวันว่าเป็นเท่าไหร่​ จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเท่าไหร่​

“การจำศีล” ดูจะเป็นวิธีการที่มีผู้คนนำออกมาใช้มากที่สุด​ การอยู่​ให้นิ่ง​ การใช้จ่ายให้น้อยที่สุดในสิ่งอันไม่จำเป็น​ การงดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง​ การไม่เก็งกำไรหวังผลเลิศ​ การรักษาใจของคนงาน คนในองค์กร​ การทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด​ และการปรับตัวเองในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​แบบไม่พบเห็นต่อหน้า​ ท้ายสุดคือการรักษาความสะอาดตามคำแนะนำของแพทย์ที่ถูกต้อง​ ดังคำที่ว่า เวลานี้​ให้​ เก็บคองอเข่า​ ถ้าทำทุกอย่างแล้วเกิดการติดเชื้อก็ต้องรักษาและดูแลตัวเองให้ได้ (เตียงมันเต็ม​ โวยวายไปมันก็ไม่ได้ว่างให้เราได้)​ ชีวิต​ การงาน​ ต้องบริหารไปตามสภาพ​ ไปตามยถากรรม​ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนอย่างแท้จริงแล้ว​

สู้ไปด้วยกัน​ รอดไปด้วยกัน ​(พึ่งพากันยาก)​
ใส่ใจก็ยังพอรอด​ ถอดใจก็ไปก่อน
สู้แบบ​ จำศีล​นะครับ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน