เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ลองเสี่ยงใช้วิถี​ Start up ออกจากคำตอบที่ถูกจากคำถามที่ผิดดีไหม : วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 :

ลองเสี่ยงใช้วิถี​ Start up ออกจากคำตอบที่ถูกจากคำถามที่ผิดดีไหม

เมื่อคืนวันศุกร์​ที่​ 25​ มิถุนายน​ 2564 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังพร้อมจดบันทึกในแวดวงการสนทนาแชร์​ความรู้ของ​ Clubhouse ที่เสวนากันว่า​ ภาพของอนาคตเศรษฐกิจ​ไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป​ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการให้ชวนคิด เช่น

ตอนนี้เราเหมือนอยู่ในอุโมงค์​ ก่อนเข้าอุโมงค์​เราเป็นนักวิ่ง​ อุโมงค์​ยาวมาก​ แต่เริ่มมีแสงกระพริบให้เห็นทางออก​ ตัวเรารักษาทรง​ รักษาสุขภาพ​ เติมยาเท่าที่พกมา​ ระหว่างทางต้องมีการหยุดบ้าง​ แต่เราก็ยังฝึกกำลังขา​ กะว่าออกจากอุโมงค์​ได้จะวิ่งให้เร็วกว่าใครเพื่อน​ เราทบทวนบทเรียนว่าด้วยการวิ่งเร็ว​ วิ่งทน​ วิ่งให้อึดกว่าใคร​ แต่แม่เจ้า​ พอจะมาถึงปากอุโมงค์ มันดันเป็นช่องเปิดของน้ำตก​ เราต้องกระโดดลงน้ำทันที​ ต้องว่ายน้ำออกไปเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดนอกอุโมงค์​ แต่เราดันคิดขึ้นได้ว่า​ ว่ายน้ำไม่เป็น​ ชุดและอุปกรณ์​เรื่องว่ายน้ำที่เคยวางแผนมาหลายปีพร้อมแผนการฝึกว่ายน้ำอย่างที่คุยไว้ปากอุโมงค์​ตอนเข้ามันเป็นเพียง​ Plan แล้วนิ่ง No Action Talk Only แล้วเราจะทำอย่างไร​ คนอายุมากก็บอกว่า​ กินเสบียง​ที่เตรียมมาที่ปากอุโมงค์​ขาออกก่อนดีกว่า​ บุญเก่ายังมี​ คนรุ่นหนุ่มสาวบอก​ ว่ายไม่เป็น ก็จะไป… เอ้ามาลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าทีมคนใหม่ที่จะพาคนว่ายน้ำเป็นบ้างไม่เป็นบ้างออกไป​ เรื่องที่ผู้เขียนพอจะคิดได้ก็ประมาณ​นี้

แต่สิ่งที่ชอบคือมีวิทยากรท่านหนึ่งได้พูดขึ้นว่า​ อย่าติดกับคำตอบที่ผิดแต่คิดว่ามันถูกนานเกินไป​ โลกนี้ไม่มีคำตอบที่อยู่นิ่งอยู่กับที่ตลอด​ ถ้าเราคิดว่าเรามีคำตอบที่ดีกว่าคนอื่น (โดยเฉพาะมีอีโก้ผสมเข้าไปอีก)​ เราจะไม่พยายามหาคำตอบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากการฟัง จากการใช้ข้อมูล​ที่บางครั้งมันไม่เป็นไปอย่างที่เราเคยเทใจเชื่อและทำตามไปแล้ว​ ตัวอย่างเช่น การแก้ไขให้​ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ​ เป็นต้น

ผู้เขียนนั่งดูปลาทองในบ่อหลังจากเคยเลี้ยงปลาคาร์ป​แล้วไฟดับ​ เครื่องพ่นอากาศ​ดับ​ ผลคือตายยกบ่อ​ แล้วลองคิดแบบวิถี​ Start up ว่าถ้าเราจะมาร่วมกันสร้าง​ Sandbox หรือพื้นที่ปลอดภัยจากการเห็นปัญหาในทุกทางออก​ มาเป็นการพยายามหาทางออกในทุกปัญหา​ โดยตั้งโจทย์​ว่า​ เรามาออกแบบใหม่จากปัญหา​ การมีคำตอบที่คิดว่าถูก (ตลอดอดีตที่ผ่านมา)​ จากการตั้งคำถามที่อาจจะผิด เช่น​ จะให้สถาบันการเงินปล่อยสภาพคล่องให้กับ​ SMEs​ ในยามที่คิดคำนวณหรือประมาณ​การรายรับจากการทำธุรกิจไม่ได้​ บนเงื่อนไขกติกาที่กลัวผีวิกฤติ​ปี​ 2540​ บวกต้องทำตามมาตรฐานการบัญชีสุดขอบดาวอังคาร​ด้วยเงินกู้ละมุนนุ่ม​ หรือ Soft loan ดอกเบี้ย แสนถูกได้อย่างไร… 

เราลองมาทำอย่างนี้บนพื้นที่ปลอดภัยดีไหม​ มันจะออกแนวบ้านิด ๆ นะครับ

1. ให้สมาคมตัวแทนลูกหนี้มาทดลองเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา​ มารยาทของการให้สินเชื่อทั้งเกณฑ์​ปกติและเกณฑ์​ตามเงื่อนไขเงินกู้ละมุนนุ่ม​ วิเคราะห์จริง​ อนุมัติจริง​ ขอข้อมูล​จากลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อจริง​ โดยมีคนของธนาคารกลางที่กำกับดูแลมาเป็นที่ปรึกษาในการบอกว่าอะไรทำได้​ อะไรทำไม่ได้เท่านั้น​ แต่คนตัดสินใจคือสมาคมตัวแทนลูกหนี้เท่านั้น

2. สถาบันการเงิน​ หรือคนของสมาคมสถาบันการเงินตัวจริง​ เสียงจริง​ มาทำหน้าที่​ เป็นผู้กำหนดกติกา​ คนคุ้มกฎเกณฑ์​การบริหารความเสี่ยง​ เป็นคนถือกฎเกณฑ์​การให้สินเชื่อ​ ต้องทำหน้าที่บังคับให้คนในข้อ​ 1 ทำตามเงื่อนไขของกฎหมาย​ ประกาศ​ ระเบียบ​ คำสั่ง​ มาตรฐานทางบัญชี​ อย่างเคร่งครัด​ ยืดหยุ่นได้ตามเงื่อนไขของเงินกู้ละมุนนุ่มเท่านั้น​ 

3. คนของธนาคารกลางมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกหนี้​ ตัวแทนจริง​ เจรจาจริง​ เป็นพันธมิตร​ของคนขอกู้จริง​ เป็นคนร่วมจัดเตรียมเอกสารการยื่นขอกู้​ วางแผนร่วมกับลูกหนี้ตัวจริงเพื่อเข้าให้ถึงสินเชื่อ​ เรียกว่าเป็นทีมเลือดสุพรรณ​ มาด้วยกัน​ ตายด้วยกัน​ คือใช้ตัวชี้วัดแบบ​ Co-KPIs ในการทำอย่างไรให้เข้าถึงสินเชื่อ​ 

ทีนี้เราก็ไปหาลูกค้า​ SMEs ตัวจริงตามลักษณะที่เกิดจริงคือ​ กลุ่มสีเหลือง​ สีส้ม​ สีแดงที่ได้รับผลกระทบจาก​ไวรัส​โควิด-19 มาสัก​ 5 กลุ่มธุรกิจ​ แล้วก็ดำเนินการเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย​ ผลออกมาอย่างไรก็อย่างนั้นตามจริง​ อนุมัติ​หรือไม่ก็จะมีเหตุผลประกอบแบบมืออาชีพ​ ถ้าอนุมัติ​ก็ได้เงินจริง​ ไม่อนุมัติก็กินแห้วกันไป​ จากนั้นก็เข้าสู่​การถอดบทเรียนว่า​ อะไรคือสิ่งที่ตนคิดผิดไปเมื่อมาทำหน้าที่คนอื่น​ หรือยังยืนยันความคิดของตนว่าถูกแม้มาทำหน้าที่ของคนอื่น​ เพราะทุกวันนี้เราทุกคนมักจะคิด-บอกและสรุปในงานของคนอื่นในมุมของเราว่า… ทำไมไม่ทำแบบนี้ล่ะ มันต้องทำแบบนี้สิครับ​ คิดแบบนี้ได้อย่างไรต้องคิดแบบผมสิ ถ้าผมอยู่ตรงนั้นผมจะทำแบบที่ผมคิดให้คุณดูว่ามันทำได้… การได้ลองเอาใจเราไปเป็นใจเขา​ เอาตัวเราไปเป็นตัวเขา​ แบบทำจริง​ ชกจริง​ เจ็บจริง​ ได้จริง​ ไม่ได้จริง ๆ​ มันถึงจะเห็นทางออกในทุกปัญหาหรือไม่​ 

แนวคิดของ​ Start up ที่พยายามหาคำตอบด้วยเทคนิค​ การมีพื้นที่ปลอดภัยในการปฏิบัติงานจริงหรือคือ​ Sandbox ที่เปลี่ยนได้ถ้าไม่ใช่​ ไม่มีใครต้องเสียหน้ากับคำตอบที่อาจจะถูกและตนเองยืนยันมาตลอดกับการตั้งคำถามที่มันดันผิด ผิดที่ผิดทาง​ ผิดเวลา​ และพื้นที่ทางธุรกิจ​ มันไม่ได้เป็นเรื่องยาก​ ข้อมูล​ก็มีแล้ว​ รายงานเครดิตบูโร​ก็มีแล้ว​ ข้อมูล​ทางเลือกก็หาให้ได้​ เหลือแต่แปลงกลับสลับร่าง​ สวมหมวกของเพื่อนในระบบนิเวศ​น์เดียวกันเท่านั้นเอง​ อย่างน้อยเวลาจะชี้นิ้วให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตนเองคิดและนำเสนอมันจะได้มีการคิดอีกรอบ​ คิดดี ๆ อีกรอบ​ คิดให้ดี ๆ อีกรอบ​ เพราะเวลานี้ไม่มีทางแล้วที่เราจะได้คำตอบที่ต่างออกไปจากการทำแบบเดิม​ แบบเดิม​ แล้วก็แบบเดิมบนการสะกดจิตตัวเองว่ามันเป็นแบบใหม่

ขอบคุณ​มากครับที่ติดตาม