มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (อีกครั้ง) เติมเต็มความช่วยเหลือ
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2563 จนมาถึงรอบปัจจุบันก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยให้เหตุผลหลักๆ ดังนี้
(1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง การระบาดระลอกใหม่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร รถบริการรับส่งคน ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้หายไปหรือลดลง
(2) มีสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยชัดเจนว่าลูกหนี้มีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น โดยการประเมินของสถาบันการเงินพบว่า ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก จำเป็นจะต้องช่วยเหลือในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินอย่างทันท่วงที
ธปท. จึงได้ร่วมมือ (ผู้เขียนขอเน้นว่า เป็นระดับความร่วมมือไม่ใช่สั่งการให้ทำ ไม่ทำไม่ได้) กับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมและชมรมต่างๆ รวม 8 แห่ง (ผู้เขียน : ครอบคลุมสถาบันการเงินหลายประเภท แต่สมาชิกของสมาคมดังกล่าวจะร่วมมือมากน้อยก็เป็นเรื่องของสมาชิกสมาคมนั้นๆ เพราะต่างก็มีผลประโยชน์ที่ต้องดูแลกันไปตามที่ผู้ถือหุ้นจะยอมรับกันได้ขนาดไหน) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น
ประเด็นหลักของมาตรการระยะ 3 คือมุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม แต่ผู้เขียนขอย้ำว่าไม่ใช่ลดหนี้ (ที่เราเรียกกันว่า hair cut เจ้าหนี้ยกหนี้ให้บางส่วน อย่างที่มีข่าวขว้างก้อนหินถามทางมาก่อนที่จะประกาศมาตรการนี้นะครับ) มันคือแนวคิดพักเงินต้น-พักดอกเบี้ยหรือจ่ายดอกเบี้ยไปก่อนยังไม่เข้าต้น ยืดหนี้ลากให้ยาวสุดเพื่อให้ยอดผ่อน ยอดจ่ายมันน้อยลงให้มากเท่าที่จะมีรายได้ในช่วงเวลานี้เอามาจ่ายได้ มันทำให้ยอดผ่อนหนี้น้อยลง ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นบ้างเพราะตอนนี้มันไม่ได้จ่ายเข้าเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยเงินต้นไม่ลด แต่ถ้าไม่ทำในช่วงนี้ก็จะฝ่าวิกฤติไปไม่ได้
การเดินหน้าคุยกับเจ้าหนี้แต่ละรายเพื่อหาทางออก ก้าวข้ามความกลัวกับความอายคือสิ่งแรกที่ต้องทำ สำรวจรายได้-รายจ่ายว่าเราไหวสุดอยู่ตรงไหน แล้วก็หาความรู้ในเรื่องสินเชื่อโดยเฉพาะใครที่มีสินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ หากผ่อนไม่ไหวจริงๆ คืนรถได้ แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าภาระหนี้อาจยังไม่หมด เพราะถ้าเจ้าหนี้เอารถที่คืนไปขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้คงค้างที่มีอยู่ หนี้ส่วนขาดหรือติ่งหนี้ก็จะเกิดขึ้น ใครที่เป็นลูกหนี้ก็ต้องรับภาระส่วนต่างนี้ที่เรียกว่าติ่งหนี้หรือหนี้ส่วนขาดนี้ด้วยแม้ว่ารถจะไม่มีต่อไปแล้ว ส่วนลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ไหวแนะนำให้ผ่อนชำระตามปกติ ลากๆ กันไปจนกว่าจะพ้นการระบาดของไวรัสกินปอดตัวนี้นะครับ
เราๆ ท่านๆ ต้องเข้าใจก่อนว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในเวลานี้มันจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในบางอาชีพที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต้องหยุดให้บริการ ให้บริการได้จำกัดเช่น ร้านอาหารนั่งทานอาหารในร้านได้น้อยลง ฟิตเนสต้องปิดกิจการชั่วคราว ตลาดต้องปิดๆ เปิดๆ เจ้าของกิจการต้องขาดรายได้ กระทบถึงพนักงานอาจจะตกอยู่ในสถานะที่ขาดรายได้หรืออาจถึงขั้นตกงานกะทันหัน ที่เราเรียกว่า Income Shock ขณะที่ภาระของชีวิตที่ยังดำรงต่อไปทุกๆ วันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอยู่ไม่ได้หมดไป หนี้นั้นยังเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะจ่ายกันได้อย่างไร หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หนี้รถ หนี้บ้านเอยยังคงมีดอกเบี้ยเบิกบานกันต่อไป เรื่องวนเวียนซ้ำซากนี้แบบปิดๆ เปิดๆ กลายเป็นตัวปัญหาที่ทำให้ตัวลูกหนี้และสถาบันการเงินต้องมาหาทางออกร่วมกันให้ได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงๆ หรือลากยาวก็ตาม ต่อให้รัฐบาลช่วยเยียวยา ลดผลกระทบ ขอร้องสถาบันการเงิน มันก็ช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชนในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะมันคือการซื้อเวลาเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นและประคองไปด้วยกันอย่างทุลักทุเล
ที่ผู้เขียนติดใจคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ ผู้เขียนคิดว่าหนทางลดภาระตามแนวนโยบายนี้คือ ถ้าคืนรถยนต์ไปแล้วให้เจ้าหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้เอาไปประมูลขาย ได้เงินมาเคลียร์ หนี้แต่ได้ไม่หมด เกิดหนี้ส่วนขาดหรือติ่งหนี้ ถ้าติ่งหนี้นั้นไม่เกิน 50,000 บาท เจ้าหนี้จะพอยกหนี้ให้ได้หรือไม่ครับ มันจะได้ทำให้ลูกหนี้เดินต่อไปได้ ขอเถอะครับ มันยากลำบากสำหรับคนเป็นเจ้าลูกหนี้เวลานี้มาก รถก็คืนไปแล้ว พักทรัพย์ พักหนี้ ยังคิดค่าเช่ากลับ ค่ารักษาดูแลต่ำ ค่าเช่ายังเอามาหักค่าซื้อคืนได้ ติ่งหนี้ขอให้ยกให้สักนิดก็ยังดี
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดย ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน โดยศึกษาข้อมูลได้ทาง www.bot.or.th
ย้ำอีกครั้งนะครับว่า การช่วยเหลือคือการให้ความช่วยเหลือ มันไม่ใช่การกุศล มันไม่ใช่การยกหนี้ให้ลูกหนี้ ลูกหนี้ยังต้องมีภาระผ่อนชำระเจ้าหนี้ตามเดิม เพียงแต่จะมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นจากเดิม เพื่อลดภาระค่างวดลูกหนี้ที่ประสบปัญหา อันเนื่องมาจากรายได้ที่ลดลง เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเหลือหลังการชำระหนี้พอใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ตัวลูกหนี้อย่าหนีหน้า อย่าหนีหนี้เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา แต่เวลานี้ไหวตรงไหนก็คุยให้จบกันตรงนั้น ก็เพราะมันมีอยู่แค่นี้..