เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 2) : วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563

ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 2)

ต่อเนื่องจากบทความครั้งที่แล้วที่เป็นตอนที่​ 1 ผู้เขียนอยากบอกว่าเนื้อหาในตอนที่​ 2 จะเริ่มจากการลองคิดสำรวจข้อมูลและทบทวนความคิดว่าที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในหลากหลายอาชีพนั้นเราได้พลาดไปในจุดใดบ้างอะไรที่เราคิดว่าใช่แต่แท้จริงแล้วในมุมของคนที่เป็นลูกหนี้แล้วมันคือไม่ใช่เพราะบางครั้งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นหนี้​ (การเป็นหนี้ค้างชำระการหลุดไปเป็นหนี้เสียหรือเป็นลูกหนี้​ NPL​ การเป็นลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้)​ดันต้องมาเป็นคนคิดหาหนทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินและต้องไปออกกฎกติการะเบียบต่างๆให้กับทางฝั่งเจ้าหนี้ผู้เขียนจึงขอนำเอาความคิดหนึ่งที่ได้รับมาจากคนของธนาคารกลางที่มีแนวคิดนอกกรอบสวนทางกับแบบธรรมเนียมเดิมอย่างมีเหตุและผลเราลองมาคิด ถกเถียงและนำไปขยายผลหากเราทั้งหลายเชื่อว่ามันจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ประเด็นมีดังนี้ครับ

1. ปัญหาหนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากลูกหนี้ แต่เกิดจากเจ้าหนี้ขยายความว่า ในบางครั้งการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาจนสร้างภาระที่หนักมากให้ลูกหนี้ต้องปฏิบัติเมื่อเกิดการพลาดท่าในการชำระเช่นคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระอัตราที่สูงมากและให้ใช้อัตราดอกเบี้ยนั้นกับยอดหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมดซึ่งลึกๆลูกหนี้ในใจลูกหนี้ก็บอกว่าหนี้ยอดนั้นไม่ได้ผิดนัดชำระ แต่ข้อสัญญาไปกำหนดว่าเมื่อผิดนัดชำระ งวดใดงวดหนึ่งแล้วไม่จ่ายให้ถือว่าหนี้ทั้งก้อนถึงกำหนดพอลูกหนี้จ่ายคืนไม่ได้มันคือผิดนัดชำระทั้งก้อนซึ่งมันใหญ่มากทีนี้พอจะพยายามจ่ายคืนให้กลับมาเป็นปกติก็ดันต้องจ่ายที่ค้างชำระทั้งหมดนั้นก่อนมันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่อะไรต้องทำก่อน ประเด็นนี้พูดกันมากระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้และคนกลางหรือปัญหาเหตุแห่งการเป็นหนี้ของคุณครูที่ได้ให้ความเห็นหลังจากคลิปเรื่องหนี้สินของคุณครูที่กำลังมีการพูดจาหาทางแก้เร่งด่วนในเวลานี้

2. ไม่ได้ตั้งต้นจาก อัตราส่วนความสามารถในการรับชำระหนี้หรือ​ DSR (Debt Service Ratio) แต่ตั้งต้นจาก ยอดรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและการชำระหนี้สินหรือ​ residual income ขยายความว่าบางทีในบางกลุ่มรายได้อาจควรต้องกำหนดกติกาว่าในการพิจารณาสินเชื่อจะต้องให้ลูกหนี้มียอดเงินคงเหลือไว้ใช้ยังชีพไม่น้อยกว่า​ 30% ของรายได้เช่นรายได้​ 30,000 บาทต่อเดือนการจ่ายหนี้คืนทุกบัญชีแล้วจะต้องมีเงินเหลือเพื่อไปยังชีพไม่น้อยกว่า​ 30% ของรายได้ซึ่งก็เท่ากับ​ 9,000บาทคิดเป็น​ 300บาทต่อวันเป็นต้น

3. การรวบรวมหนี้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้หนี้ครู แก้สำเร็จขยายความว่าวิธีคิดคือหาเจ้ามือใหม่เป็นเจ้าหนี้ที่กวาดเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีไว้ในที่ต่างๆมารวมไว้ที่เดียวแล้วก็ให้ผ่อนกับเจ้าหนี้คนนั้นรายเดียวคำถามคือแล้วตัวลูกหนี้จะไปก่อหนี้กับใครคนอื่นอีกหรือไม่กับเจ้าหนี้ที่รวมหนี้นั้นจะเอาแหล่งเงินทุนจากไหนมาใช้รวมหนี้ยิ่งหนี้มีหลักประกันด้วยแล้วจะคุยกันยากมากๆดังนั้นวิธีการปัจจุบันคือการยุบหนี้หมายความว่าให้หาสินทรัพย์มาขายแล้วนำเงินมาชำระหนี้จากนั้นก็ทุบหนี้ให้แบนคือขยายงวดการผ่อนชำระออกไปให้ยาวนานทั้งนี้เพื่อให้ยอดจ่ายเงินงวดรายเดือนมันลดต่ำลงมาแน่นอนครับการเป็นคนมีภาระหนี้นั้นจะยาวนานมากขึ้น

4.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเป็นต้องใช้ยามเกษียนตอนแก่เท่านั้นขยายความว่าแนวคิดคืออาจไม่อยู่รอใช้เงินก้อนนี้ที่ถือเป็นเรื่องการออมภาคบังคับที่ใช้ได้ตอนเกษียณเพราะหากเราจะเอาออกมาบางส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่เพื่อเอามายุบหนี้หรือตัดชำระต้นเงินที่คนคนนั้นใัม่ไหวมันจะช่วยเขาในเวลานี้ให้มีอายุพอจนไปถึงวันนั้นเพื่อจะได้ใช้เงินที่เขาออมเอาไว้หลังเกษียณ

5.หุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์จะขายได้ก็ต่อเมื่อลาออกจากสมาชิกเท่านั้นขยายความว่าถ้าเราเป็นลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์อาจต้องขอให้มีการยืดหยุ่นข้อบังคับให้ลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถขายหุ้นที่เขาซื้อเพิ่มและนำส่งเงินชำระค่าหุ้นทุกเดือนนั้นมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เขามีกับสหกรณ์ออมทรัพย์การ​ off set นี้จะทำเพียงบางส่วนเท่านั้นสาระสำคัญคือลดยอดหนี้ลงมาให้เหมาะสมกับสุขภาพทางการเงินของลูกหนี้

ทั้ง​5เรื่องนี้ส่วนหนึ่งคือการทำแบบเดิมๆแล้วบางทีอาจไม่มีใครชอบเลยก็ได้แต่หากเราต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างเราจะไม่มีทางได้ถ้าเราไปทำเหมือนเดิม

ลองคิดพิจารณาบทความตอนที่​ 2 นี้ด้วยนะครับ