เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรกับการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ความเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน” : วันที่ 20 พฤษภาคม 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 20 พฤษภาคม 2562

“การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรกับการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ความเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน”

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/589535

เหตุที่ผมต้องลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ก็เพราะเหตุว่าในการประชุมรับฟังความเห็นเรื่องกฎระเบียบที่จะออกมากำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินประเภทหนึ่งในประเทศไทยให้มีความระมัดระวัง​ มีมาตรฐานมากขึ้น​ ป้องกันความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสีย​ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินเพราะเหตุว่าตัวเลขสินเชื่อที่สถาบันการเงินประเภทนี้ได้ปล่อยออกไปให้กับครัวเรือนไทย​ ภายใต้คำนิยามหนี้ครัวเรือนไทย​มีจำนวนถึง​ 2ล้านล้านบาท​ สถาบันการเงินดังกล่าวคือ​ สหกรณ์ออมทรัพย์ครับ​ ด้วยความเคารพทุกท่าน​ สิ่งที่ผมใคร่ขอนำเรียนเป็นข้อมูลต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม​ ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหรือองค์กรที่ผมสังกัดนะครับ​ ผมมีข้อมูลมาลองชวนคิด​ จะเห็นด้วย​ เห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ของท่านผู้อ่านนะครับ​ ข้อมูลมีดังนี้ครับ

1.การที่เราจะตัดสินใจให้กู้กับใครโดยเงินที่เอามาให้กู้นั้นมันไม่ใช่เงินของเรา​ แต่เป็นเงินที่ผู้คนทำมาหาได้ด้วยความลำบากและเขาหวังพึ่งความรู้ความสามารถเราให้ช่วยดูแล​ เขาได้ส่งผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจมากับเงินฝาก​ เพื่อให้เรามาหาประโยชน์ผ่านบริการให้กู้​ เราคนนั้นต้องมีความรับผิดรับชอบเยี่ยงผู้บริหารสถาบันการเงินโดยทั่วไปหรือไม่

2.เราในฐานะบุคคลหรือคณะบุคคลในรูปกรรมการเงินกู้​ จำเป็นต้องรู้ข้อมูลหรือไม่ว่าสมาชิกที่มายื่นขอกู้ไม่ว่าเราจะรู้จักดีหรือไม่รู้จักก็ตาม​ เราต้องรู้​ ควรจะรู้หรือไม่ว่าเขามีหนี้ทั้งหมดก่อนมาหาเราเท่าไหร่​ เป็นหนี้อะไรบ้าง​ เป็นหนี้บ้าน​ บัตร​ รถยนต์​ สินเชื่อบุคคลอย่างละเท่าไหร่​ เป็นหนี้ที่ไหนบ้าง​ ที่สำคัญคือมีประวัติการชำระหนี้พวกนั้นเป็นอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา​ ผ่อนได้ปกติ​ มีการค้างชำระ​ มีการเคยค้างชำระแต่ตอนนี้โอเคแล้ว​ พักหนี้ที่ไหนบ้าง​ ถูกดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่​ มีหนี้บางบัญชีถูกโอนขายไปหรือไม่​ มีการปรับโครงสร้างหนี้บัญชีไหนบ้าง​ ปรับเมื่อไหร่​ หลังปรับผ่อนเป็นอย่างไร​

3.ข้อมูลตามข้อ​ 2. คือข้อมูลเครดิตครับ​ ภาษาชาวบ้านคือ​ ข้อมูลเครดิตบูโร​ ข้อมูลบูโรนั่นเอง​ ข้อมูลนี้ปัจจุบันมีสมาชิกของเครดิตบูโรที่เป็นสถาบันการเงินจำน​วน​ 99 แห่ง ทั้งส่งเข้ามาในระบบ​ และใช้ข้อมูลไปเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ​ ความตั้งใจ​ในการชำระ​หนี้​ของคนที่มายื่นขอกู้​ และในจำนวนนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์​ 3 แห่งเป็นสมาชิกเครดิตบูโรครับ

4.ทีนี้การได้มาซึ่งข้อมูลเครดิตบูโรนั้นจะทำได้​ 2แบบครับคือ
4.1​ เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร​ ปฏิบัติตามกฎหมาย​ ต้องส่งข้อมูลลูกหนี้และบัญชีเงินกู้ที่ตนเองอนุมัติเข้าระบบทุกเดือน​ เวลาจะดูข้อมูลใคร​ คนๆ นั้นต้องให้ความยินยอมและมีธุรกรรมการขอสินเชื่อ​ จะเที่ยวไปแอบดูแอบเช็คไม่ได้​ ใครไม่ทำตามกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวก็มีโทษถึงติดคุกติดตะราง​ วิธีนี้คือทางตรง​ สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวลสารพัด​ แม้ว่าทางการจะขอให้เครดิตบูโรลดเงื่อนไขไม่คิดค่าสมาชิกเป็นเวลา​ 3 ปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิกก็ตาม

4.2​ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่จะพิจารณาคำขอกู้​ กำหนดให้คนที่มายื่นคำขอกู้ไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง​ ตามช่องทางที่มีอยู่​ รายละเอียดดูได้ที่​ www.ncb.co.th จากนั้นให้นำเอาข้อมูลรายงานเครดิตบูโรนั้นมายื่นพร้อมกับคำขอกู้​ เพื่อให้กรรมการเงินกู้มีข้อมูลตามข้อ​ 2 ใช้ในการพิจารณาตัวคนขอกู้ว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

5.การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีประโยชน์ต่อระบบการเงินครับ​ เพราะสถาบันการเงินอื่นเขาก็จะลดความเสี่ยงลงเพราะว่าคนที่ขอกู้​ เขาก็วิ่งขอกู้ไปทั่ว​ ทีนี้ถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสมาชิกก็ส่งข้อมูลลูกหนี้เข้ามาในระบบ​ พอคนนี้ไปกู้ที่อื่น​ ที่อื่นนั้นก็จะเห็นว่าอ้าว.. คนนี้มีหนี้อีกหนึ่งที่คือสหกรณ์ออมทรัพย์​ การจะให้กู้ไม่ให้กู้ก็เป็นเรื่องของเจ้านั้นว่าจะคิดอย่างไร​ แต่ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะไม่อยากแชร์ข้อมูลลูกหนี้ตัวเองก็ได้​ นานาจิตตังครับ

6.มันเป็นไปได้หรือไม่ครับ​ ผมสมมติเหตุการณ์ว่า​ กรรมการเงินกู้ไม่อยากได้ข้อมูลตามข้อ​ 2 มาดู​ เพราะรู้ดีว่าลูกหนี้กู้เงินขาประจำนั้นเป็นอย่างไร​ อาจจะมีหนี้เยอะแต่ไม่เคยค้างเพราะหักเงินเดือนไว้แล้ว​ ส่วนจะพอกินพอใช้หรือไม่​ ไม่เกี่ยว​ อาจจะมีประวัติค้างชำระ​ หรือเป็นคนเคยค้าง​ หรือมีตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่ง​ การไม่มีข้อมูลพวกนี้ก็ทำให้การอนุมัติมันก็อยู่บนพื้นฐานว่า​ ก็ในเวลาพิจารณามันมีข้อมูลแค่นี้​ เท่านี้​ ดังนั้นการตัดสินใจของเราก็รอบคอบเท่าที่ข้อมูลมีอยู่​
ถ้าเป็นตัวผม​ ผมก็กลัว​ กลัวคนฝากเงินครับ​ กลัวเขามา​ด่า​ กลัวเขาจะมาฟ้องให้เรารับผิดว่า​ ก็ถ้ามีข้อมูลเครดิตบูโรแล้ว​ เห็นลูกหนี้ที่มาขอกู้​ อาการขนาดนี้แล้ว​ ยังอนุมัติให้กู้​ เหตุเพราะหักเงินเดือนได้ก่อนแล้ว​ ถ้าเกิดเป็นหนี้เสีย​ หรือถูกฟ้องจากที่อื่นแต่ยังให้กู้อยู่​ มันก็หมิ่นเหม่​ใช่หรือไม่​ ดังนั้นการไม่มีข้อมูลชุดนี้ในข้อมูลการพิจารณาให้กู้หรือไม่​ตั้งแต่ต้น มันจะเป็นบวกกับคนพิจารณาหรือไม่​ มันจะเป็นบวกกับคนฝากเงินที่เขาไว้ใจเราหรือไม่​ อันนี้ข้อตั้งเป็นคำถามที่รอคำตอบนะครับ

ข้อมูลตามสื่อที่สะท้อนออกมาระบุว่าความกังวลของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ว่า

…. สำหรับผู้กู้จะต้องเข้าระบบตรวจสอบเครดิตบูโร ก่อนปล่อยกู้ จึงเป็นข้อกังวลด้วย โดยสหกรณ์ได้ใช้วิธีตรวจสอบดูแลกันเอง เพราะกรรมการ กับสมาชิก รู้จักกัน ใครฐานะการเงินเป็นอย่างไร เป็นหนี้ที่ไหนบ้างจึงไม่เห็นความจำเป็น ที่สมาชิกต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเครดิตบูโร…

ขอเรียนอีกครั้งนะครับ​ ถ้าเป็นสมาชิกตามข้อ​ 4.1​ ไม่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นเวลา​ 3ปี​ เสียแต่ค่าดูข้อมูล​ 12บาทต่อครั้ง​ แต่ถ้าเลือก​แบบ​ 4.2​ คนยื่นขอกู้เป็นคนเสียค่าใช้จ่าย (กฎหมายกำหนดให้เสียไม่เกิน​ 200บาท​ครับ)​ ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ

ทิ้งท้ายครับ​ คำโบราณพูดไว้เสมอว่า​ รู้หน้า​ ไม่รู้ใจ หรือจิตมนุษย์นี้ไซร้​ ยากแท้หยั่งถึง​ คำว่ารู้จักกันในนิยามเดิมแบบไทยๆ จะเอาอยู่หรือไม่กับหนี้ครัวเรือนในยุคสมัยนี้​ หรือคำสมัยใหม่​ มีข้อมูลยิ่งเยอะยิ่งลดความเสี่ยง​

ท่านผู้อ่านลองใจนิ่งๆ​ ไม่คิดเราคิดเขา​ ไม่คิดเล็กคิดน้อย​ คิดอย่างเดียวถ้าเป็นเงินครอบครัวเราแล้วเราจะเอาไปให้ใครเขากู้แล้ว​ ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเป็นมิตร​ เราควรขนขวายให้มีข้อมูลตามข้อ​ 2 ข้างต้นมาดูประกอบหรือไม่​ มันยากลำบากมากมายหรือไม่ในการหามาดู​ ฝากในอ้อมอกอ้อมใจของคนที่ถูกเรียกขานว่า​ ผู้บริหารองค์กรครับ