เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “ถามมาตอบไปของผู้คนที่พยายาม… เรื่องสินเชื่อ” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563

ถามมาตอบไปของผู้คนที่พยายาม… เรื่องสินเชื่อ

คำถาม​ : เครดิตบูโรมีสินเชื่อ แยกย่อย เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ถ้าสถาบันการเงินไหน ประกอบการสินเชื่อประเภทใด เวลาสถาบันการเงินมาเช็กเครดิตบูโรเพื่อพิจารณา ก็ควรเช็กเครดิตประเภทที่ตัวเองปล่อยสินเชื่ออยู่ นั้นๆ เท่านั้น จะมาเช็กเครดิตทุกประเภทที่มีอยู่ แล้ว เหมารวมๆ ว่าไม่ผ่าน อันนี้ไม่ต้องให้กู้เลยดีกว่าไหม

คำตอบ​ : เรียนพี่ด้วยความเคารพอย่างนี้​ สถาบันการเงินทำตามกฎกติกาที่ธนาคารแห่งประเทศไ​ทยกำหนดในเรื่องการบริหารความเสี่ยง​ เรื่องนโยบายเครดิต เขาจำต้องรู้ว่าคนมายื่นขอกู้มีรายได้เท่าใด​ และมีหนี้ทั้งหมดกี่มากน้อย​ เป็นหนี้อะไรบ้าง ผ่อนไหวไหมในแต่ละเดือน​ ยกตัวอย่าง​ มีคนมายื่นขอกู้พี่ไปซื้อบ้าน​ เวลาพี่จะพิจารณา​ พี่อยากรู้​ไหมว่า​ เขามีหนี้อะไรบ้าง​ พี่คงต้องอยากรู้​หนี้ทั้งหมดใช่ไหม​ล่ะ เพราะเงินของพี่​ พี่ต้องปกป้องความเสี่ยง​ พี่คงไม่อยากรู้​แค่ว่าเขามีหนี้บ้านที่อื่นหรือไม่อย่างเดียว​ เพราะถ้าเขาไม่มีหนี้บ้าน​ แต่ดันมีหนี้รถยนต์​ รถมอเตอร์ไซค์​ มีหนี้บัตรเครดิต​ ใจคอพี่จะไม่คิดจะดูเลยหรือ​ พี่จะใจถึงพึ่งได้ให้กู้แบบข้อมูล​ไม่ครบหรือไม่​ ถ้าเงินนั้นเป็นเงินของพี่เอง​ หรือของแฟนพี่​ หรือของครอบครัวพี่
ผมไม่ก้าวล่วงความคิดพี่แต่ขอให้เป็นข้อมู​ลนะครับ

คำถาม​ : แสดงว่าเมื่อก่อนที่ยังไม่มี บริษัทข้อมูลเครดิต ใช้หลักการอะไรในการปล่อยสินเชื่อครับ เท่าที่อ่านดูเสมือนบริษัทข้อมูลเครดิต เอื้ออำนวยต่อสถาบันการเงิน

คำตอบ​ : ก่อนปี​ 2540​ ก็ใช้หลักการตามประกา​ศของธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น​ แต่อาจมีความเข้มข้นน้อยกว่า​ ระบบปฏิบัติการ​ระบบข้อมูล​ ระบบคอมพิวเตอร์อาจไม่ทันสมัย​ ทุกประเทศ​ในแถบเอเชีย​ เริ่มมีบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) หลังปี​ 2540 ครับ

ส่วนที่บอกว่าเครดิต​บู​โรเอื้อสถาบันการเงินนั้นขอเรียนว่า​แล้วแต่ความคิดของคนครับ​ คนที่ได้สินเชื่อก็อาจบอกว่าดี​ เอื้อพวกเขา​ เพราะประวัติเขาไม่ด่างพร้อย​ แบงก์​ปล่อยกู้ได้เยอะได้มาก​ ส่วนคนที่ไม่ได้สินเชื่อก็คิดอีกแบบ​ บางทีถึงขั้นเกลียดเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบมีหนี้ก็จะเฉยๆ​ ส่วนถ้าเป็นพระสงฆ์​ก็อาจบอกไม่รู้​จัก​ นานาจิต​ตัง​ครับ​ เอาตัวเราเป็นที่ตั้งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ครับ

เราทำหน้าที่ปกป้องคนฝากเงินครับ​ คนฝากเงินเอาเงินไปให้แบงก์​นำไปปล่อยสินเชื่อ​ แบงก์​ควรมีข้อมูล​ที่มากพอในการตัดสินใจ​ เพราะถ้าไม่มากพอเหมือนก่อนปี​ 2540​ ก็จะเกิดปัญหา​ได้​ ยืนยันครับว่าเราอยู่ข้างคนที่ฝากเงิน​

คนให้กู้กับคนขอกู้​ เป็นธุรกรรมที่ตกลงกันเอง​ เราไม่เกี่ยวครับ​ ตัวอย่างชัดๆ คือ​ เราเป็นสมุดพก​ คนไปสมัครงาน​ กับคนเป็นนายจ้าง​ เขาดูสมุดพก​จะจ้างไม่จ้าง​ คนทำสมุดพกตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำ​ ไม่เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจครับ เรียนพี่ด้วยข้อมูล​อย่างนี้​ บางจุดอาจเห็นต่างก็แล้วแต่มุมมองครับ​ ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามกันเสมอไปครับพี่

คำถาม​ : ถ้าเป็นการปกป้องคนที่ฝากเงินก็ดีครับ แต่สุดท้าย เมื่อมีคนที่มีประวัติเสียทางเครดิตบูโร เป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็ออกกฎหมาย ลบประวัติออก เป็นเสมือน เครดิตบูโรนี่แหละคือปัญหาทาง สังคมและเศรษฐกิจ ผมจึงบอกว่าน่าจะสมควรแก้ไข เงื่อนไขบางอย่างในการโชว์ประวัติทางเครดิตบูโร

คำตอบ​ : เรื่องการออกกฎหมายมาลบประวัตินั้นอาจจะมีในอนาคตครับ​ ขึ้นอยู่กับ​การชั่งน้ำหนักของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ​ ทางเครดิต​บู​โรไม่มีประเด็น​ สั่งมาก็ทำได้เสมอ ที่ผ่านกรณีน้ำท่วมใหญ่​ วิกฤติ​ subprime หรือแม้แต่​ COVID-19​ สิ่งที่ทั่วโลก​ทำมากที่สุดในการรักษาประวัติคือ​ กำหนดว่าถ้าลูก​หนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ แล้ว​ ยังคงให้รายงานว่าเป็นลูกหนี้ปกติเช่นกรณีในประเทศ​ไทยครับ

การเป็นหนี้​ เป็นได้​ ไม่ใช่บาป​ การเป็นหนี้คือการบริหาร​ เป็นหนี้ต้องใช้หนี้​ สัญญา​ต้องเป็นสัญญา​ มีปัญหาต้องแก้ไข​ ไม่ใช่แก้ตัว​ หนี้ใครก่อ​ คนนั้นต้องรับผิดชอบครับ​ กฎหมายเครดิตบูโรมีการแก้ไขมาเป็นระยะ​ การแก้ไขทุกครั้งจะมีคนได้และเสีย​ เพราะมันคือสมุดพกเก็บข้อมูล​พฤติกรรม​การก่อหนี้และการชำระหนี้​ พฤติกรรมมีทั้งพึงประสงค์​และไม่พึงประสงค์​ครับ​ เหมือนใบเกรด​ เวลาได้เกรด​ C ถ้าจะไปสมัครงานเราคงนึกกลัว​ คิดได้คงอยากกลับไปแก้เกรด​ แต่ถ้าเราเป็น​ start up เราคงไม่สน​ ถ้าเราสำเร็จ​ เราอาจบอกว่าเป็นเพราะเรียนได้ C ฉันจึงมีวันนี้​ เพราะเก่งเอง

ท้ายที่สุด​ ถ้าไม่ไปเอาเงินคนอื่นมากิน​ มาใช้​ มาลงทุน​ อยู่​แบบคนรุ่นพ่อแม่เรา​ ใช้เงินสด​ ใช้บัตรเดบิต​ ไม่เล่นเก็งกำไรหุ้น​ ตลาดอนาคต​ มันก็ยังอยู่ได้​ เลี้ยงพวกเรามาได้…

ไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ​ครับ
ขอบคุณ​ครับที่เปิดใจแลกเปลี่ยน
ไม่มีคำถามต่อมา.. จบการสนทนา​