เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “คลินิกแก้หนี้​ ทางด่วนแก้หนี้​ ของดีต้องนำมาเล่า” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2563

คลินิกแก้หนี้​ ทางด่วนแก้หนี้​ ของดีต้องนำมาเล่า

อยากจะเริ่มต้นกับท่านผู้อ่านในวันนี้นะครับว่า​ จากการที่ผู้เขียนได้ลงไปคุย​ ลงไปหาข้อมูล​ ลงไปสังเกต​ ในเรื่องราวคนที่เป็นหนี้ คนที่มีบัญชีเงินกู้​ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน​ บัตรเครดิต​ รถยนต์​ สินเชื่อส่วนบุคคล​ ซึ่งท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่ามันรวมเป็นจำนวน​ 9 ล้านล้านบาทในระบบฐานข้อมูล​ของบริษัท ข้อมูลเครดิต​แห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร​) ซึ่งถูกส่งเข้ามาทุกเดือนจากสมาชิกสถาบันการเงินกว่า​ 103 แห่ง​ 

แน่นอนว่าในหนี้สินดังกล่าวนี้จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นหนี้เสีย​ คือจ่ายค่างวดไม่ได้ติดต่อกันเกินสามงวดหรือเกิน​ 90 วันครับ​ คนที่เป็นเจ้าของบัญชีเหล่านี้แหละคือคนที่ถูกเรียกว่า​ หนี้เสีย​ เป็นลูกหนี้​ NPL แน่นอนว่าในประวัติการค้างชำระในอดีตจะคงยังปรากฏหากมีการนำเงินไปปิดบัญชี​ เพราะกติกาสมุดพกการชำระหนี้บอกว่า​ ประวัติการค้างชำระเข้ามาในระบบเดือนใดก็ตาม​ อีก 3 ปีประวัตินั้น​ ข้อมูล​นั้นจะออกไปจากระบบครับ​ 

ทางเลือกทางรอดของคนที่เป็นหนี้เสียโดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิต​ สินเชื่อส่วนบุคคลหรือ Personal Loan จึงควรเข้าคลินิกแก้หนี้เพื่อ

1.รวมหนี้ที่จ่ายไม่ได้เป็นยอดเดียว

2.ปรับสมดุลใหม่ในการจ่ายตามความสามารถของรายได้​ คือปรับตารางการจ่ายหนี้ใหม่

3.ดอกเบี้ยจะลดลงมาจาก​ 28% บ้าง​ 18% บ้าง​ จะเหลือเลขตัวเดียว (เบาตัวไปเยอะ)​

4.ไม่เสียเวลาในการไปคุยทีละเจ้าหนี้ให้วุ่นวายใจ

พอเหตุการณ์​ของ​ COVID-19​ เกิดขึ้นมันก็จะกระทบกับคนที่เข้าโครงการ​ คนที่กำลังตัดสินใจเข้าโครงการ​ ผมได้คุยกับคนของธนาคารกลาง​ เขาก็คิดยาสองสูตรมาเพิ่มให้กล่าวคือ

1.สูตรหนึ่ง​ จะแขวนหนี้ดีไหมตั้งแต่เมษายนถึงกันยายน​ คิดเป็น​ 6 เดือน​ ดอกเบี้ยก็เดินต่อไปนะหากแต่รับจ่ายของตัวลูกหนี้ก็พ้นภัยเรื่องเงินขาดมือในช่วงนี้

2.ถ้าตัวลูกหนี้ยังผ่อนไหว​ ไม่อยากแขวนหนี้ก็รับโบนัสเรื่องลดดอกเบี้ยลงไปอีก​ 2% เช่นถ้าผ่อนอยู่ที่​ 7% ก็ลดลงไปที่​ 5%เป็นต้น​ คนทำดีต้องมีรางวัล​ อันนี้คือยาสูตรสอง​ ขอให้ดูภาพประกอบที่ 1 นะครับ

 ทีนี้มาดูเรื่องหนี้บ้านกับหนี้รถยนต์​ ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องสองบัญชีนี้อยู่ ก็ให้เดินไปคุยกับเจ้าหนี้ว่าฉันขอเข้าปรับโครงสร้างหนี้​ ดูตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ทางธนาคารแห่ง​ประเทศไทย​กำหนดออกมา​ดังภาพประกอบที่​ 2 เป็นแนวทางในการเจรจาตกลงนะครับ​ ไปตามเส้นทางนั้นเลยครับ​ ได้ไม่ได้ก็ต้องคุย​ นั่งคิดไปเองว่าไม่ได้แล้วก็ไม่คุย​ มันไม่มีประโยชน์​ครับ​ ภาระที่แบกไว้จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา​ ทีนี้ต่อมาถ้าคุยแล้วไม่รู้เรื่อง​ เห็นว่าจะมีการยื้อ​ เตะถ่วงเวลา​ หรือไม่คิดจะช่วยจริง​ (แต่ตัวลูกหนี้ก็ต้องสุดๆ นะครับจะไปกั๊ก​ ไปเล่นเกมส์​ เล่นเหลี่ยมไม่ได้นะครับ​ ต้องสุภาพ​ เปิดเผย​ และไม่เอาเปรียบกัน)​ ก็ส่งเรื่องของเราที่เจอปัญหาไปทางด่วนแก้หนี้เลยครับ​ โทรไปคุย​ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เบอร์โทรศัพท์ 1213​ เพื่อให้คนกลางที่เสียงดัง​ เข้ามาเป็นพยาน​ คอยดูคอยช่วยให้เรื่องลงตัว​ อย่าเป็นแบบการฟ้องนะครับ​ มันเป็นแบบไปสั่นกระดิ่งร้องทุกข์​สมัยพ่อขุนรามคำแหง​ หรือไปร้องทุกข์​ที่ศาลไคฟงในเรื่องเปาบุ้นจิ้น​ แม้คนกลางจะดูเป็นชาววังไปบ้างก็อย่าไปถือสาท่าน​ เพราะบางท่านก็ลูกชาวบ้านแต่ที่ทำงานเป็นตึกในบริเวณวังครับ​ เขาคงมีใจช่วยกันบ้าง​แหละครับ คงไม่เป็นแบบคนลืมรอยเท้าตัวเอง​หรอกครับ ทางนี้แหละที่จะทำให้การคุยกันระหว่างเจ้าหนี้​ ลูกหนี้​ ในสายตาคนกลางมันจบได้ในแบบวิถีไทยเรา​ ไอ้เรื่องความเชื่อว่า​ ลูกหนี้เจ้าหนี้มีอำนาจในการต่อรองเท่ากันมันมีแต่ในนิยายขายฝัน​ 

 สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดครับ​ 2 ภาพประกอบวันนี้เป็นไฟต์บังคับว่าคนที่เป็นลูกหนี้ที่เสียไปแล้วต้องอ่าน​ ทำความเข้าใจ​ และก้าวข้ามความกลัว​ ความอาย​ เข้าไปแก้ไขหนี้ครับ​ เราก่อมันมากับมือ​ เราถูกมันเผามือลวกมือ​ เราก็ต้องเอามือเรานี้ไปแก้ปมที่เราผูกไว้​ 

คนเป็นหนี้เสีย​ แก้ได้​ ใช้คลินิกแก้หนี้

เมื่อมีปัญหาการเจรจา เรียกหาทางด่วนแก้หนี้​ 

เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ