เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “บสย. ตัวช่วย SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อ” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2562

บสย. ตัวช่วย​ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อ

เมื่อคราวใดก็ตามที่มีการพูดคุย​ สัมมนาหรือประชุมวิชาการในเรื่องที่มีหัวข้อคล้ายๆกันว่า​ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น​ จะต้องทำกันอย่างไร​ จะต้องทำกันกี่มากน้อย​ เราถึงจะทำให้​คนค้าขายตัวเล็กตัวน้อยหรือ​ SMEs เข้าถึงเงินกู้​ เข้าถึงสินเชื่อ​ เหตุเพราะดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก​ แก้ยากเย็น​แสนเข็ญ​ พูดกันมาตั้งแต่หลังวิกฤติ​การณ์​ทางการเงินปี​ 2540​

ประเด็นปัญหาฝั่ง​ SMEs คนขอกู้ก็จะพบว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้น​ ตั้งอยู่​ ไม่เสื่อมลงและยังไม่แก้ไขคือ
1.ตัวเลขการรับการจ่าย​ การลงทุน​ หนี้สินส่วนตัว​ ส่วนของกิจการ​ มันคลุมเครือ​ มีหลายบัญชี​ ไม่มีระบบการจัดเก็บ​ รายงาน​ และไม่สามารถเปิดเผยชัดๆว่ามีอะไร​บ้าง​ มีอยู่เท่าไหร่​ มันอยู่ที่ไหน​ มันจึงบอกไม่ได้ว่าสภาพของ​ SME​s นี้ที่กำลังมายื่นขอกู้​
มีกำไร​ มีเงินสดหรือ​
มีกำไร​ แต่ไม่มีเงินสดหรือ
ไม่มีกำไร​ แต่มีเงินสดหรือ
ไม่มีกำไร​ ไม่มีเงินสด
เมื่อไม่ชัด​ มันก็ประเมินความเสี่ยงไม่ได้​ เมื่อประเมินไม่ได้​ มันก็ไม่มีใครกล้าให้กู้​ เพราะเงินให้กู้มันมาจากเงินมีเจ้าของคือผู้ฝากเงิน

2.ไม่มีอะไรก็ตาม​ที่พอจะมาเป็นหลักประกัน​ได้เลย​ หรือมีหลักประกันก็ตีราคายาก​ ตีราคาออกมาแล้วได้มูลค่าหลักประกันที่ต่ำ​ เอามาเทียบกับเงินกู้ที่อยากได้แล้วมันไม่มากพอ​ มันมีสิ่งที่เรียกว่า​ ส่วนขาดหลักประกัน​ หรือมูลค่าหลักประกันที่ต้องการเพิ่มให้มากพอกับจำนวนเงินที่จะให้กู้ได้

หากแต่ว่ามันมีเครื่องมือในสถานะที่เป็นองค์กร​ลักษณะหนึ่งที่มาช่วยในการแก้ไขปัญหาในหลายประเทศ​ ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาการเข้าไม่ถึงได้ระดับหนึ่ง​ บางประเทศนั้น​ เครื่องมือตัวนี้ได้แก้ไขปัญหาลดลงไปได้มากพอสมควร​ เครื่องมือที่ว่านี้คือ​ การค้ำประกันสินเชื่อ​ เราๆท่านๆลองคิดนะครับ​ ถ้าเรายื่นขอกู้​ 100 บาท​ มีแผนที่ดี​ คนให้กู้เข้าใจ​ ตัวเลขบัญน้ำ​ บัญชี​พอไปได้​ มีความถูกต้อง​ ครบถ้วนตามลักษณะธุรกิจ​ แต่มีหลักประกันไม่ว่าจะเป็นที่ดิน​ สิ่งปลูกสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์​ ยานพาหนะ​ ตราสินค้าต่างๆ​ ตีราคาออกมาแล้วได้เพียง​ 70บาท​ ดังนั้นสิ่งที่เป็นส่วนขาดของหลักประกันคือ​ 30บาท​ ตรงจุดนี้สำคัญครับ​ ถ้ามีองค์กร​ใดบอกว่า​ 30บาทนี้ฉันค้ำประกันนะ​ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับหนี้เงินกู้​ 100บาทที่จะทำให้ชำระคืนไม่ได้​ และเจ้าหนี้ยื่นเรื่องให้ศาลฟ้องบังคับให้ชำระหนี้​ ขณะเดียวกันศาลได้ประทับรับฟ้อง(แต่ยังไม่ได้ตัดสิน)​แล้ว​ ฉันยินดีที่จะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดในส่วนนั้นเอง​ แต่ต้องไม่เกิน​ 30บาทนั้นให้กับเจ้าหนี้ไปก่อนเลย​ แล้วฉันกับเธอก็ค่อยมาเคลียร์​กันต่อไป

กลไกแบบนี้ในประเทศไทยก็มีครับ​คือ​ การค้ำประกันสินเชื่อให้กับ​ SMEs ให้บริการโดยสถาบันที่ชื่อย่อว่า​ บสย.​ ชื่อเต็มคือ​ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม​

บทบาทของบสย. นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นๆ​ ทุกๆวัน​ บสย. จะมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจครับ​ คือทุนดำเนินการจะมาจากภาครัฐ​ แบ่งออกเป็นสองส่วน​ ส่วนแรกเอาไว้รองรับความเสียหาย(ถ้ามี)​ จากการค้ำประกันสินเชื่อ​ กล่าวคือสินเชื่อ​ SMEs ที่สถาบันการเงินปล่อยไปนั้นเป็นหนี้เสีย​ เกิดการค้างชำระ​ จ่ายไม่ได้​ สถาบันคนให้กู้ก็บังคับเอากับหลักประกันและก็เรียกให้บสย. จ่ายเงินที่ต้นเองค้ำประกันตามเงื่อนไข​ ขณะที่ทุนส่วนที่สองคือทุนที่เอาไปก่อประโยชน์จากการนำทุนไปลงทุน​ ดอกผลจากผลตอบแทนนั้นก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร​ คือเอามาเป็นรายจ่ายด้านต่างๆขององค์กร​ เพื่อให้องค์กรเดินไปได้​ สำหรับส่วนที่ไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับ​ SMEs นั้นก็ต้องมีรายได้ที่เรียกว่าค่าค้ำประกันสินเชื่อ​ แต่ด้วยที่ว่า​ SMEs นั้นมีภาระมากแล้วในเวลานี้​ หลวงท่านจึงบอกว่าในช่วง​ 1ปีแรก​ 2ปีแรก​ หรือ​ 3ปีแรกนั้น​ หลวงจะออกค่าใช้จ่ายตัวนี้ให้แทน​ SMEs ไม่ต้องจ่าย​ ไม่ต้องเกี่ยวข้อง​ กลไกแบบนี้แหล่ะครับที่ประเทศเราต้องส่งเสริม​ สนับสนุน​ สร้างความเข้มแข็ง​ให้กับ​ บสย. ให้มากขึ้น​ เพราะถ้าบสย. แข็งแรง​ ตัวใหญ่​ มีกำลัง​มาก ก็จะมีพลังในการช่วยเหลือให้​ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น​ ในหลายประเทศ เช่น​ เกาหลี​ ญี่ปุ่น​ เราจึงเห็นสถาบันประกันเงินสินเชื่อแบบบย. นี้มีขนาดใหญ่มาก

บสย. เวลานี้​ ภายใต้การนำของคนหนุ่ม​ รุ่นใหม่​ เข้าใจโลก​ ปรับตัวเร็ว​ มีคำตอบในโจทย์​ของ​ SMEs ดังที่ผมได้กล่าวมา​ ผมมีความเชื่อมั่นว่าสุภาพบุรุษท่านนี้จะเป็นผู้นำที่นำพา​ SMEs ตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังต่อสู้กับสภาพแวดล้อม​ เศรษฐกิจ​ สังคม​ ที่กำลังปรับตัวตามโครงสร้างใหม่ให้เกิดความสำเร็จ​ มั่นคง​ ยั่งยืน