เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “คงไม่น่าเบื่อถ้าจะพูดเรื่องคนเป็นหนี้เยอะกับมาตรการที่จะออกมาชนอีกสักหน” วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2562

คงไม่น่าเบื่อถ้าจะพูดเรื่องคนเป็นหนี้เยอะกับมาตรการที่จะออกมาชนอีกสักหน

คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและติดตามอย่างใกล้ชิดถ้าเราเป็นคนกลุ่มที่กำลังคิดจะก่อหนี้มาซื้อบ้าน​ ซื้อคอนโด​ ในเวลานี้หรือหากเราเป็นคนในระดับบริหาร​ ระดับวางแผนงานของสถาบันการเงินคนปล่อยกู้​ หรือหากเราจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำบ้าน​ ทำคอนโดออกมาขายให้กับคนที่เขาต้องไปกู้มาซื้อของๆเราที่ทำออกมาขาย​ หรือถ้าเราเป็นคนทำงานในธนาคารกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในการหามาตรการออกมาแก้ไขปัญหาคนเป็นหนี้เยอะ​ เป็นหนี้เร็ว​ เป็นหนี้นาน​ หนี้ไม่ลดลงตามอายุที่เพิ่ม​ แถมคนที่เป็นหนี้เสียดันเป็นคนอายุไม่มาก​ สุดท้ายคือถ้าเราเป็นคนในรัฐบาลที่กำลังคิดนโยบาย​ มาตรการออกมาแก้ไขปัญหาให้ตอบโจทย์​ที่กำลังรุกเร้าเข้ามา​ เพราะเหตุว่าคนเป็นหนี้กันเยอะ​ จะไปเอากำลังซื้อมาจากไหนกัน​ ขณะที่ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์​มันก็มีสมการของ​ GDP​ ว่า​ Y=C+I+G+(X-M) ไอ้ตัว​ C คือการบริโภค​ คนมันจะบริโภคเพิ่ม​ มันก็ต้องมาจากรายได้เพิ่ม​ ถ้าเขาดันมีหนี้​เยอะ​ มันก็ต้องผ่อนเยอะในแต่ละเดือน​ แล้วจะเอาที่ไหนไปกินใช้ถ้ายอดผ่อนต่อเดือนมันเยอะมากมายก่ายกอง​ มันมีคำพูดของคนในข่าวที่เครียด​ บ่น​ ระบายออกมาจากการที่มีหนี้เยอะมากๆว่า “…ชีวิตมีแต่โทรศัพท์โทรมาทวงหนี้ ตอนนั้นอยากจะบอกกับเจ้าหน้าที่ไปว่ารู้สึกกดดันและเครียดมากจนไม่สามารถทำงานได้ อยากจะลาออก อยากจะหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตาย แต่ด้วยภาระทางบ้านที่ต้องดูแล ทำให้ล้มเลิกความคิดนี้ไป…” มาถึงเวลานี้​ ในประเทศไทยเรานี้​ เราต้องเชื่อได้แล้วว่ามีคนคิดจะตายไปเพื่อหนีหนี้ที่ตนเองนั้นก่อเอาไว้ และมันคงจะเกิดขึ้นจริงๆ​ ที่สำคัญมันอาจจะมาจากการเป็นหนี้ในระบบ​ ไม่ใช่หนี้นอกระบบอีกต่อไป

ในรายงานข่าววิเคราะห์ที่กระจายไปทั่วได้อ้างถึง​ พฤติกรรมการก่อหนี้​ และพฤติกรรมของการทำธุรกิจให้กู้กับคนที่อยากเป็นหนี้ไว้น่าสนใจว่า​

1. ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ​ กนง. เห็นว่าต้องมีการติดตามการขยายสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น และยังเห็นว่าควรเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีกในอนาคต(ผู้เขียน​ มาตรการที่ว่านี้คือเรื่อง​ DSR ที่มีข่าวว่าจะออกมาปลายปีนี้​ เริ่มใช้ต้นปีหน้าใช่หรือไม่)​

2. ปัญหาครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้และมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นมีให้เห็นในงานวิจัยที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น ต่างก็ชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือ เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปี กลายเป็นหนี้เสีย และยังเป็นหนี้เยอะขึ้น คือมีปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงขึ้นกว่าในอดีต ผู้กู้โดยเฉลี่ย มีภาระหนี้รวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นหนี้นานขึ้นด้วย

3. ความรุนแรงของปัญหาหนี้สินมีผลจากพฤติกรรมของครัวเรือนซึ่งส่วนหนึ่งขาดทักษะความรู้ทางการเงิน (ผู้เขียนคิดว่ามันมีหลายมิติ​ รู้แต่ละเลย​ รู้แต่มองว่าน่าจะจัดการได้​ รู้แต่ไม่คิดจะทำ​ รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็ยังจะทำ​ รู้ว่าผิดก็ยังจะทำ​และถ้าตัดสินใจได้อีกครั้งก็จะทำแบบเดิม​ รู้แล้วจะทำไมหละก็ทีคนถาม​ คนสอนก็ยังอยากจะทำแบบที่ตนเองทำไม่ใช่หรือ​ สุดท้ายคือพวกที่จะไปบอกอะไรให้ฟังก็จะตอบกลับมาว่ารู้แล้วไม่ต้องมาสั่งมาสอน) ​และ มีค่านิยมมองความสุขแค่ในปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงอนาคต กอปรกับกระแสบริโภคนิยม ความสะดวก รวดเร็วขึ้นในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่นำเสนอ(ผู้เขียน​ รูดไปก่อนผ่อนทีหลัง​ เที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง​ ฉลองไปก่อนผ่อนทีหลัง แม้แต่แต่งกันไปก่อนค่อยผ่อนทีหลัง​ ศัลยกรรมไปก่อนผ่อนทีหลัง​ ความสวยความหล่อผ่อนกันได้  เป็นต้น)​ พร้อมกับแคมเปญโปรโมชั่นและทางเลือกผ่อนชำระ อาทิ ข้อเสนอดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือแบ่งจ่ายหลายงวด (ผู้เขียน​ วาทกรรมการตลาด​ เก็บเงินสดไว้​ ผ่อนเป็นงวด​ ไม่มีดอกเบี้ย​ คุณพี่​ คุณลูกค้าไม่ได้เสียอะไรเลย​ ที่แรงสุดคือ​ จะโง่มากถ้าไม่เอาโปรครั้งนี้​ เพราะไม่มีดอกเบี้ยสักบาท)​ ซึ่งช่วยให้ภาระผ่อนต่อเดือนดูต่ำลง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยและก่อหนี้ได้ง่ายขึ้น​ เรียกกันภาษาชาวบ้านคือ​ ฝากับโลงมาเจอกัน​ แถมมีฆ้อนกับตะปูศูนย์เปอร์เซ็นต์​ตอกลงไป​ ก็เป็นอันจบ​ รอทำพิธฌาปณกิจทางการเงินส่วนบุคคล

4.มีการตีปลาหน้าไซว่า หากทางการประกาศเกณฑ์ปล่อยกู้โดยกำหนดเพดานภาระการชำระหนี้รวมต่อรายได้รายเดือน (DSR) มาใช้ในยามเศรษฐกิจกำลังแกว่งๆ และคนก่อหนี้ยากขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ รายย่อยของสถาบันผู้ให้กู้ค่อนข้างมาก (ชี้นำนิดๆว่าว่ามีโอกาสจะคุมระดับ DSR ไม่ให้เกิน 60% เนื่องจากหลายประเทศก็จะใช้เกณฑ์นี้… แต่ไม่บอกว่าประเทศไหนบ้าง)​

5.นักข่าวสายเศรษฐกิจไปถามผู้บริหารธนาคารกลาง​ ก็มีการเผยแพร่ออกมาว่า
การจัดทำมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อผ่านการกำหนด DSR ทำได้ยาก เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีคำนวณ DSR ที่แตกต่างกัน​ โดยเฉพาะคำนิยามของการนับว่าอะไรคือรายได้ที่จะนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อการพิจารณาสินเชื่อ​ ในขณะเดียวกันเวลานี้ทุกภาคส่วนก็กำลังคุยกันถึง “แนวนโยบายการให้สินเชื่อ รายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน”

…. ที่มีข่าวว่าจะคุม DSR ไม่ให้เกิน 70% กรณีรายได้ไม่เกินสามหมื่นนั้น​ ยังไม่มีการพูดถึงเปอร์เซ็นต์กันเลย และเกณฑ์ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่ใช่ hard rule แน่นอน น่าจะเป็นการออกแนวนโยบายเพื่อให้ธนาคารปฏิบัติตาม ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนที่พฤติกรรมเสนอ ขายสินเชื่อของพนักงานที่สาขาธนาคาร จากเดิมที่ทำเช็กลิสต์ แล้วปล่อยสินเชื่อได้ ก็จะต้องทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้นว่า แต่ละคนมีภาระหนี้เท่าไหร่ และเหลือใช้เท่าไหร่ เป็นต้น…

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา​
อดีตเป็นเหตุ​ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ​ อนาคตจะเป็นผล
ความไม่มีหนี้​ เป็นลาภอันประเสริฐ
แต่เมื่อท่านก่อหนี้​ ท่านก็ต้องใช้หนี้
สัญญาต้องเป็นสัญญา​
เป็นหนี้​ ต้องใช้หนี้​
เครดิตดี​ ไม่มีขาย​ อยากได้ต้องทำเอง