คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ Bangkok Fintech Fair 2018 วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

Bangkok Fintech Fair 2018

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2561

 

ในวันที่บทความนี้เผยแพร่ก็น่าจะเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดจัดให้มีงานส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น และส่งสัญญาณถึงสิ่งที่กำลังจะมา สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงการเงิน ที่มีเทคโนโลยีเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญในการให้บริการทางการเงิน มีผู้คนในอุตสาหกรรมการเงินระบุไว้ว่า

…ถึงผมไม่เข้าใจเทคโนโลยีมากนัก แต่มันก็จะเกิดขึ้น และมันจะเข้ามา รบกวนรูปแบบความเชื่อของลูกค้า รูปแบบธุรกิจเดิมภายใต้การบริหารของคณะกรรมการที่เราๆ นั่งดูแลกันอยู่ ถ้าธุรกิจที่เราดูแลบริหารจัดการจะรอด เห็นจะมีทางเดียวคือ “คิดให้มากกว่าการเป็นธนาคาร” ผมคิดว่าลูกค้าเขาไม่ได้ต้องการตัวธนาคาร แต่เขาต้องการเพียงบริการที่เคยทำโดยธนาคารมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงิน จ่ายค่าบริการ สินเชื่อ กองทุน ประกัน และอีกสารพัด ซึ่งบริการเหล่านี้มันควรจะง่าย สะดวก และตอบโจทย์เขามากกว่านี้ มากกว่าที่เป็นอยู่ไม่ใช่หรือ มันคงไม่ใช่แบบต๊ะติ๊งโหน่งและเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการแพงๆ อย่างที่ผ่านๆ มา ซึ่งเรื่องพวกนี้มันน่าจะต้องจบกันไปเสียที จบกันไป ได้แล้ว…
ผมทายได้ล่วงหน้าเลยว่า ผู้คนในงานจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อุปสรรคสำคัญคือกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และไม่สนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้วิจัยและพัฒนา การจัดให้มีบริการใหม่ๆ ไปนำเสนอ การจัดความสัมพันธ์ในรูปแบบนิติกรรมใหม่ๆ บนเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เอาสำเนาเอกสารสำคัญ รับรองสำเนาทุกหน้า เซ็นสด เซ็นกันต่อหน้า ต้องมาพบกันทั้งหมด ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ธนาคาร สถาบันการเงิน ลูกค้า หรือบุคคล อ้างอิงตามแต่จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ กันมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เอาเข้าจริงมันคงเหมือนการเข้าใจ การยอมรับ การยอมใช้ เครื่องกรองน้ำในละครสุด ดังบุพเพสันนิวาส ที่บรรดาออเจ้า ทั้งหลายติดตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ทำไมต้องมีกฎบัตร กฎหมายมา รองรับ ก็เพราะว่าผู้เล่นทุกคนใน Ecosystem ต้องการหลังพิงที่จะทำให้

1.ผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินรวมถึงด้านหลักทรัพย์ด้วยวิธีการดิจิทัลสามารถทำได้โดยไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายจะไม่รองรับ

2.ผู้ที่ต้องการทำ non face-to-face KYC อันเป็นจุดเริ่มของความไว้เนื้อ เชื่อใจกันก่อนให้บริการสามารถอ้างอิงได้ว่าทำอย่างไรจะถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายจะช่วยให้สถาบันการเงินเข้าถึงข้อมูลประกอบการทำกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของคนขอใช้บริการ (KYC) จากหน่วยงานของรัฐได้โดยสะดวกขึ้นด้วย

3.ทำให้การแชร์ข้อมูลที่ปกปิดความเป็นตัวตน หรือ Identity แล้ว ที่เรียกว่ากระบวนการ Anonymized Data ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

4.และยิ่งไปกว่านั้น สำหรับหน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลอันจำเป็นในการอำนวยการให้ธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องไม้เครื่องมืออัจฉริยะแบบ non face-to-face มีหน้าที่เปิดเผย Anonymized Data เหล่านั้นให้ผู้ให้บริการทางการเงินและด้านเทคโนโลยีได้นำไปใช้วิจัยและพัฒนาบริการ หรือที่เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Open Data

นอกจากนี้ เป้าหมายการส่งเสริมให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลนี้จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง สะดวก และด้วยต้นทุนที่ลดลง

กฎหมายลักษณะแบบนี้จะเป็น ความพยายามไปแก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาเหมือนๆ กันของบริการทางการเงินหลายประเภท อย่างไรก็ดีก็ต้องยอมรับนะครับว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอื่นๆ ที่ไม่สามารถแก้ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบแต่อย่างเดียว เพราะในรายละเอียดนั้นเอาเข้าจริงยังคง เป็นหน้าที่ของแต่ละผู้กำกับดูแล หรือ Regulator ต้องไปทำภายใต้อำนาจของตัวเอง เช่น
1.การเปิดพื้นที่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้
2.การลดภาระจากกติกาที่ไม่ได้จำเป็นต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
3.การสร้างความรู้ให้เกิดความ เท่าทันของผู้คนผู้ใช้บริการ

ไปฟัง ไปดู ให้เห็นเป็นประจักษ์ ที่งานนะครับ งาน Bangkok Fintech Fair 2018 งานที่ออเจ้าทั้งมวลมิควรพลาด