คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “Big Data นั้นสำคัญในโลกยุคนี้ หากแต่ Big Picture สำคัญมากกว่า” วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“Big Data นั้นสำคัญในโลกยุคนี้ หากแต่ Big Picture สำคัญมากกว่า”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 

ในโลกยุคปัจจุบัน เศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่าหันไปทางไหน หมู่คนที่ถูกจัดให้ เป็นชนชั้นผู้บริหารไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนหากเวลาพูดถึงการบริหารกิจการ หน่วยงาน นโยบายเพื่อเอาตัวให้รอดจากเป้าหมาย รอดจากการประเมิน รอดจาก KPI ต้องพูดเรื่อง Big Data ทั้งที่บางท่านก็รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วในกิจการของตนเองมันไม่ได้มีข้อมูลตามคำนิยามของ Big Data หรอกนะ มันมีแต่ข้อมูลขยะคือเก็บๆ เอาเข้ามาให้มากไว้ก่อน แต่ไม่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ เนื่องจากในระดับนโยบายและกลยุทธ์องค์กรยังตั้งคำถามไม่ได้ หรือยังตั้งคำถามผิดกับประเด็นที่เป็นจุดสำคัญ หรือ Pain Point ของธุรกิจที่ต้องการเอาชนะ

ที่เครดิตบูโรเราไม่ได้มี Big Data นะครับท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจผิด เหตุเพราะ

(1) เครดิตบูโรเก็บแต่ Structured Data  ที่ได้รับจากสถาบันการเงินสมาชิกทุกเดือน เรายังไม่ถูกอนุญาตโดยกฎหมายที่ตราออกมาในปี 2545 ซึ่งในปีนั้นความเร็วของอินเทอร์เน็ตต่ำมาก ไม่รู้จัก 3จี 4จี หรือคำว่าดิจิทัล เอาง่ายๆ โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบหน้าจอขาวดำมันยังไม่เกิดในยุคนั้นเลย อย่าไปพูดถึง Smartphone

(2) ตัวกฎหมายที่กำกับดูแลเครดิตบูโรวางหลักการไว้ว่า ต้องการให้สถาบันการเงินมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย และป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงของสถาบันการเงิน แต่ข้อมูลรายได้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในตอนวิเคราะห์สินเชื่อกลับไม่ยอมให้มีการรวมศูนย์จัดเก็บ ลองคิดดูนะครับทำไม Platform ค้าขายออนไลน์ถึงปล่อย สินเชื่อให้ SME ได้เร็ว แม่น หนี้เสียน้อย เพราะเขามีข้อมูลรายได้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย แต่สถาบันการเงินไทยมีต้นทุนสูงมากในการได้มาและพิสูจน์ความถูกต้องของแหล่งรายได้ ต้นทุนตรงนี้ทำให้เสียทั้งเงิน เวลาที่รอคอย และอื่นๆ จนเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อ อีกไม่นานเครดิตบูโรเมียนมา เครดิตบูโรกัมพูชาจะจัดการกับปัญหานี้ได้แล้ว

ขณะที่ประเทศเราติดกับดักตรงนักกฎหมายที่ไม่พยายามใช้กฎหมายในการหาทางออก เอาแต่บอกปัญหากฎหมายในทุกทางออกที่คนทำงานคิด คนคิดก็ท้อ ก็เหนื่อยเป็นนะครับ

(3) เครดิตบูโรเราไม่เก็บข้อมูลคนค้ำประกันและบัญชีสินเชื่อที่เขาคนนั้นค้ำประกัน เหตุเพราะนักกฎหมายบอกว่า ผู้ค้ำไม่ใช่ผู้ขอสินเชื่อ ทั้งที่ในเวลาออกกฎหมายขณะนั้นการทำเช่าซื้อรถให้กับคนกู้มันก็ต้องมีคนค้ำมาตั้งแต่ก่อนปี 2545 พอไม่มีข้อมูลคนค้ำ สถาบัน การเงินก็พิจารณายาก หรือผลักภาระ ให้คนค้ำวิ่งมาขอข้อมูลเอาไปยื่นประกอบ นั่งรถทัวร์มาหลักร้อยหลักพันมาตรวจเครดิตบูโรเสียเงินค่ารายงาน 100 บาท แล้วเสียค่าเดินทางไปส่งเอกสาร เสียเงิน เสียเวลา ทั้งที่ถ้ายอมให้เก็บข้อมูลผู้ค้ำ สถาบันการเงินจะเข้ามาดูข้อมูลในราคา 12 บาท/ครั้ง โดยคนกู้ คนค้ำ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากให้ความยินยอม สถาบันผู้ให้สินเชื่อพูดมาตลอด ที่สุดก็มาตกม้าตายที่นักกฎหมายว่าทำไม่ได้

Big Data ต้องมีองค์ประกอบของข้อมูลที่หลากหลาย มีทั้ง Structured Unstructured รูปภาพ เสียง Log มีปริมาณมาก เกิดขึ้นตลอดเวลาจาก Data Point แน่นอนว่ามันคือเหมืองข้อมูล ทะเลสาบข้อมูล คนของเราต้องเอาความรู้ เอาเครื่องมือไปขุด เมื่อได้ความรู้ เมื่อได้ปัญญามาแล้ว จะได้เอามาแก้ไขปัญหาในทุกทางออก

ดูกร ท่านนักกฎหมาย เรามีกฎหมายเป็นพันๆ ฉบับ เรามีประกาศเป็นแสนๆ ฉบับที่ออกมาบังคับใช้ แม้มันยังไม่ใช่ Big Data แต่มันกำลังรอท่านผู้รู้ ผู้เห็นจริงในญาณทางนิติศาสตร์ มาปัดเป่าความทุกข์เข็ญของระบบนิเวศนี้ครับ ขอท่านทั้งหลายจงมีเมตตามอง Big Picture  เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติในแทบทุกองค์กรหลุดพ้นจาก Pain Point นี้เสียที ผมไม่อยากถูกประเมินจากธนาคารโลกในอนาคตว่าเรามีพัฒนาการตามหลังเมียนมาครับ