คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เมื่อผู้กำกับดูแล ‘ยื่นมือ’ มายังลูกค้าและคนทำงาน” วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“เมื่อผู้กำกับดูแล ‘ยื่นมือ’ มายังลูกค้าและคนทำงาน”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561

 

ในช่วงหลายปีจากหมุดหมายของหายนะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินในปี 2540 ทุกท่านที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาจะรู้สึกได้ตลอดว่าเหมือนเคยถูกงูกัด ชีวิตเกือบไม่รอด ต้องเข้ารักษาตัวอย่างเจ็บปวด กว่าจะพักฟื้น ยืนตรงขึ้นมาได้ก็เจียนตาย ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดหลายสิ่งอย่างที่เป็นอุปสรรคในการทำงานแบบ “ร่วมมือกัน” ในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ เช่น

1.ความรู้สึกนึกคิดของผู้กำกับดูแลก็จะออกมาในลักษณะสุดโต่ง วาดภาพความเสี่ยงที่สุดขอบฟ้า แล้วเอาสถานการณ์ตรงจุดนั้นมาออกเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎกติกา จนมันทำให้คนที่ต้องทำงานอยู่ในสภาพ ทำมากอาจผิดมาก ทำน้อยก็ผิดน้อย ไม่ทำไม่เสี่ยง ไม่ทำก็ไม่ผิด การบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือไม่ทำธุรกรรม สิ่งต่างๆ ที่มันสะสมมา นานวันเข้ามันก็เป็น New normal ในการปฏิบัติ ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่ากฎกติกาในการกำกับดูแลการอำนวยสินเชื่อให้ SME มีจำนวนน่าจะไม่หนี 200 ฉบับเพราะมันมีแต่เพิ่ม ยกเลิกมีน้อยมาก

2.ฝั่งคนทำงานคือสถาบันการเงิน ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานกันไปภายใต้ความกดดัน ไม่ให้เงินกู้กับลูกค้า ก็ถูกด่า หาว่าโง่บ้าง ไม่เข้าใจธุรกิจบ้าง ไม่คิดจะช่วยเหลือบ้าง จัดกองกำลังมาเป็นกองทัพ คอยตรวจเอกสาร เช่น รู้ว่าคนที่มาขอกู้เคยมีการจ่ายเช็คเด้งกี่ครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา เป็นบุคคลล้มละลายไหม มีการใช้น้ำใช้ไฟในการประกอบธุรกิจกี่หน่วย พิกัดที่ตั้งโรงงาน สำนักงานอยู่ที่ใด ข้อมูลหลักประกันเชื่อถือได้ รายงานทางการเงิน Statement ออกมาจากระบบ ต้นทุนในการหาข้อมูลก็ต่ำ งานมันก็ออกได้เร็ว

3.ฝั่งของ SME ก็ต้องยอมรับและปรับตัว จากการศึกษาของหลายสถาบันท่านๆ ล้วนมีบัญชีหลายเล่ม เพื่อเสียภาษีก็จะแสดงรายได้ต่ำกำไรน้อย พอมาแสดงกับแบงก์รายได้เยอะกำไรดี ท่านผู้อ่านและผมก็ทราบดีว่า “ภาษีและความตาย” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ

ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญตัวแทนคนให้กู้คือผู้บริหารสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องในการให้กู้ยืมกับ SME มาพบกับสมาคม สมาพันธ์ SME สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมสามฝ่าย สามประสาน เพื่อพิจารณา ลด ละ เลิก ประกาศ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับยุคสมัย “ตอบโจทย์ โดนใจ ใช้ได้จริง”

เมื่อผู้กำกับดูแล “ยื่นมือ” มายังลูกค้าและคนทำงานทุกฝ่ายควร ลดละเลิกความไม่จริงใจต่ออีกฝ่าย หรือต่อส่วนรวม เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ถ้ามันเป็นจริง ก็ต้องยอมรับ ปรับปรุง แก้ไข

ท้ายสุดนะครับ ผมอยากจะฝากว่า ถอดหมวก ถอดยศ ถอดอคติ ถอดความไม่จริงใจ ถอดวาระซ่อนเร้น เพราะว่าคนเราทุกคนสูงเท่าเสมอกัน เมื่อยามนอนตายตาหลับ และไม่อาจเอาอะไรติดตัวไปได้เลยสักสิ่งเดียว