คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เมื่อกรรมการแจ้งผู้เล่นให้ระวัง…เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้มาก” วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“เมื่อกรรมการแจ้งผู้เล่นให้ระวัง…เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้มาก”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561

ตามข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาจากสื่อมวลชนระบุว่าธนาคารกลางในฐานะ ผู้กำกับดูแลได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบัน การเงินในกำกับทั้งหลายให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้นในเรื่องที่อาจต้องพิจารณาปรับปรุง ซึ่งตามข่าวสารนั้นระบุถึงเรื่องสำคัญหลายประการดังนี้

1.ให้ความสำคัญและยกระดับตัวของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งถ้าใช้ภาษาให้ถูกคือการจัดให้มีระบบการบริหารและป้องกันความเสี่ยง หมายความว่าการดำเนินธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ต้องรู้ในทุกขณะจิตที่ตัดสินใจนะว่า มันเสี่ยงตรงไหน มันเสี่ยงอย่างไร มันเสี่ยงเท่าไร มันเสี่ยงเพราะอะไร แล้วทำไมเรายังตัดสินใจทั้งที่มันยังเสี่ยง ได้ชั่งใจโดยฟังความรอบข้างแล้วนะก่อนการตัดสินใจ ดังนั้น มันจึงกลับมาที่ตัวบุคคลที่ควรจะมีความหลากหลายเท่าทันเทคโนโลยี รู้ว่าฝ่ายจัดการกำลังเสนออะไร กำลังเล่นอะไรอยู่ ขณะเดียวกันตัวกรรมการควรต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำ ในการตัดสินใจ การเป็นกรรมการอิสระแล้วเข้ามาทำหน้าที่นั้นดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้

2.เรื่องของเทคโนโลยีทั้งการ นำมาใช้บริหาร หรือนำมาใช้เพื่อบริการ ที่เราเรียกรวมๆ กันว่า ทำให้ความฉลาดของเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นมาปั้นเป็น as a service ให้ทั้งภายใน ภายนอก ให้การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่นับวันจะเอาแต่ใจตัวเองประเภท เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เท่านี้ หรือทำไมทำไม่ได้แบบนี้ การที่เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามาในทุกอณูของการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความกดดันทางธุรกิจ จุดความเสี่ยงที่มองไม่เห็นเพราะไม่ทราบมาก่อน หรือจุดความเสี่ยงที่เห็นแต่คิดว่าไม่มีอะไร หรือจุดที่เห็นแต่คิดว่าเกิดแล้วแลกกับผลทางธุรกิจแล้วรับได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วในท้ายที่สุดคือหายนะ

เรื่องแบบนี้จึงต้องกลับมาที่สาระและเนื้อหาในความ (1) รู้เรื่อง (2) รู้จริง (3) รู้ใจ ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนฐาน Trust and Confidence กับลูกค้า มันจึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการแบบไม่ต่อรอง โดยผู้คนที่ต้องไม่ยอมต่อรอง ประมาณนั้น

3.การให้กู้กับลูกค้ารายใหญ่ที่มากเกินไป กระจุกตัวเกินไป และดอกเบี้ยที่คิดก็แข่งกันลดเกินไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการต่อว่าต่อขานมาตลอดว่าระดมเงินจากรายย่อยมาปล่อยกู้รายใหญ่ ดอกเบี้ยคิดถูกไป แต่ไปชดเชยด้วยการโขกเอากับเอสเอ็มอีรายกลาง รายเล็ก ซึ่งฝั่งคนทำงานก็ออกมาชี้แจงตลอดว่า ไม่ใช่อย่างนั้น บางเรื่องมันเป็นการให้กู้ระยะสั้นจากสภาพคล่องบนอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Money Market Rate) จะเอามาเทียบกับตลาดสินเชื่อ (Loan Market) ไม่น่าจะได้นะ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นวิวาทะกันต่อไป

ผมมาฉุกใจคิดตรงการให้ข้อมูลของฝั่งผู้บริหารระดับสูงที่ว่า อาจเป็นได้ว่าธนาคารกลางเข้าตรวจสอบแล้วพบเรื่องที่ควรตระหนักในบางแห่ง จึงส่งสัญญาณถึงทุกแห่งให้ระวัง ยกระดับ และรีบดำเนินการเสียแต่เนิ่นๆ ไอ้จุดนี้แหละที่มันจะเป็นคำถามต่อในลักษณะสังคมไทยคือ สถาบันนั้นคือใคร แล้วก็ลากไปว่าเป็นจุดอ่อนของระบบหรือไม่ ต้องเข้าใจว่า “การตัดไฟแต่ต้นลม” ต้องเอาให้จบ ม้วนเดียวจบ แบบซามูไรฟันดาบ ไม่อย่างนั้น “ข่าวว่ามีงูในคลอง จะพัฒนาไปเป็นมังกรในแม่น้ำ พอผ่านไปอีกสามวัน มังกรบินได้ พ่นไฟ และเผาหมู่บ้านที่โน่น ที่นี่” ผู้เขียนจึงได้แต่ขอบคุณในสิ่งที่เผยแพร่มา ณ โอกาสนี้ด้วยความเคารพยิ่งครับ

“ป้องกันความเสี่ยง หมายความว่าการดำเนินธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ต้องรู้ในทุกขณะจิตที่ตัดสินใจนะว่า มันเสี่ยงตรงไหน  มันเสี่ยงอย่างไร มันเสี่ยงเท่าไร มันเสี่ยงเพราะอะไร แล้วทำไมเรายังตัดสินใจทั้งที่มันยังเสี่ยง ฟังความรอบข้างก่อนการตัดสินใจ”