คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : การทำอย่างนี้ไม่มีธรรมาภิบาล การทำเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในแวดวงการเงินต่อไป : วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

การทำอย่างนี้ไม่มีธรรมาภิบาล การทำเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในแวดวงการเงินต่อไป

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
บทความของผมวันนี้ขอเริ่มจากข่าวสารที่เปิดเผยออกมาตามสื่อต่างๆ เนื่องจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เปิดเผยว่า ท่านได้รับรายงานว่าขณะนี้มีสถาบันการเงินบางแห่งใช้ช่องว่างของกฎหมายทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล โดยมีการตรวจพบเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กรณีเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งทางการมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการออมของรายย่อย
แต่มีบางธนาคารไปแนะนำลูกค้าที่เป็นผู้ฝากเงินรายใหญ่ คิดดอกเบี้ยเป็นรายวันให้ และเมื่อดอกเบี้ยใกล้ 2 หมื่นบาทแล้ว ก็ให้ปิดบัญชีเพื่อไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และก็ให้เปิดบัญชีเงินฝากใหม่ การทำแบบนี้ผู้เขียนคิดว่า เป็นเรื่องของผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องได้รับความน่าเชื่อถือจากสาธารณะได้อาศัยความรู้มาหาช่องว่างของกฎหมายแล้วไปคิดทำธุรกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวย โดยการปิดบัญชีเมื่อดอกเบี้ยใกล้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แล้วค่อยเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งจะเวียนในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ
ตามข่าวระบุว่า ท่านรัฐมนตรีฯ ถึงกับเอ่ยว่า “การทำเช่นนี้เป็นการหลบเลี่ยงภาษี เพราะธนาคารก็รู้เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าออกมาเพื่ออะไร ทำอย่างนี้ไม่มีธรรมาภิบาล การทำเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในแวดวงการเงินต่อไป หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องเข้ามาดูแล เข้าไปกำชับ และ ตักเตือนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป พอดีทางคลังอาจเจอเรื่องนี้ก่อน เพราะมี เจ้าหน้าที่ธนาคารบางแห่งไปแนะนำอธิบดีกรมสรรพากร ให้ย้ายเงินฝากมาที่แบงก์ และจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย ทำให้รู้ว่ามีช่องโหว่ทำให้ภาษีรั่วไหล”
มีรายงานข่าวจากสื่อสารมวลชนรายหนึ่งได้ไปสำรวจเอกสารยุทธศาสตร์ชาติจำนวนกว่า 120 หน้า อ้างอิงจาก http://www.thaigov.go.th/ebook/contents/detail/72#book/ พบว่ามีการ กำหนดถึงคุณลักษณะของคนไทยที่น่าสนใจ สิ่งที่ปรากฏในเอกสารสำคัญฉบับนี้บางส่วน บางข้อกล่าวไว้ว่า  “คนไทยมีปัญหาด้านคุณธรรม ไม่ตระหนักถึงวินัย ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีจิตสาธารณะ : คนไทยในโลกดิจิทัลยังขาดทักษะในการคัดกรอง และเลือกรับวัฒนธรรมที่ดีจากต่างประเทศ จนทำให้ละทิ้งค่านิยมที่ดีอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ลดคุณค่าของความเป็นไทย มีค่านิยมที่ยึดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม
ในหัวข้อเดียวกันยังระบุว่า “คนไทยเป็นคนรักสนุกและความสบาย เชื่อข่าวลือ ขาดความอดทน ขาดวินัย เป็นคนวัตถุนิยม ยอมรับคนที่มีฐานะมากกว่าคนดีมีคุณธรรม”
สิ่งใดที่ถูก แม้ไม่มีใครทำ มันก็ถูกวันยังค่ำ สิ่งใดที่ผิด แม้ทำกันทั่วไป มันก็คือผิด ที่ผิดหวังคือ คนที่ทำ คนที่ร่วมทำ คนที่ควรจะรู้ว่าใครทำ ทุกคนต่างรู้ ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีใช่หรือไม่ ทุกคนต่างทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำใช่หรือไม่
“การทำอย่างนี้ไม่มีธรรมาภิบาลการทำเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในแวดวงการเงินต่อไป”